หลังเลือกตั้งทำไมหุ้นไทยถึงติดลบ? แทนที่จะปรับตัวบวกขึ้น และความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไรต่อ พูดคุยกับ "ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนกลับไปในอดีตก่อนและหลังเลือกตั้งตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวขึ้นได้ดี แต่สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ตลาดหุ้นไทยกลับมีการปรับลดลงและยังคงเห็นแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติออกมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักคงหนีไม่พ้นเรื่องของความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่ต่างประเทศเองก็จับตามองไม่น้อย
"ประชาชาติเวลท์ เล่าเรื่องการลงทุน" EP.นี้ มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่จะช่วยมาสะท้อนมุมมองต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตการเมืองไทย พร้อมแนวทางที่จะช่วยให้ทุกคนฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
# ตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง ปี 2566 ทำไมติดลบต่อเนื่อง ?
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เป็นความเซอร์ไพร์ส เพราะต้องยอมรับว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายก็อาจจะมองไว้อยู่แล้วว่าจะมีการเปลี่ยนขั้ว แต่ว่าไม่อาจจะคิดว่าพรรคก้าวไกลจะกลายมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่าพรรคเพื่อไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง พอพรรคก้าวไกลขึ้นมา นโยบายหลาย ๆ อย่าง ต้องยอมรับว่า สร้างความไม่แน่นอน ในแง่ของนโยบาย อย่างหุ้นที่โดนจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่องของไฟฟ้า เรื่องของพลังงาน เรื่องของแก๊ส
นโยบายที่ปรับเปลี่ยนจะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ ผมก็เลยมองว่าอันนี้เป็นการปรับ ความคาดหวัง ที่ก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่คาดอย่างนี้
"ผมว่าความไม่แน่นอน ทำให้คนไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติในแง่ของการคาดการณ์ได้ ก็เลยทำให้เกิดความผันผวน" ดร.พิพัฒน์กล่าว
# เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งจะเดินไปทางไหน ?
สมมติถ้าเราดูภาพรวม ๆ ผลการเลือกตั้งเป็น strong mandate (การได้รับฉันทามติ) ทำให้อาจจะเห็นทิศทางของนโยบายที่ชัดขึ้น แต่ว่าในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะต้องดูนโยบาย ว่าสองพรรคใหญ่ ถ้าเอามาชนกันแล้ว จะมีนโยบายอย่างไรบ้าง แล้วผมคิดว่าความหวังที่สำคัญ ก็คือ เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาพใหญ่
ประเด็นที่ 1 เรากำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างนั้นในระยะสั้นคงจะมีแรงส่งขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ว่าพอการท่องเที่ยวมาครบแล้ว ความท้าทายถัดไป คือ เราเห็นแนวโน้มที่โตช้าลงมาเรื่อย ๆ ตามเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรอะไรต่าง ๆ ฉะนั้นความหวังต่อรัฐบาลใหม่ ก็คือนโยบายที่จะเข้ามา จะใส่ประเด็นเชิงโครงสร้างนี้อย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นจุดที่หลาย ๆ คนคงเฝ้ารอดู
# นโยบายรัฐบาลชุดใหม่ จะส่งผลต่อภาคการคลังอย่างไร ?
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ถ้าก้าวไกลเป็น ก้าวไกลก็พูดชัดเจน ว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องของรัฐสวัสดิการ มีการพูดถึงฝั่งการใช้จ่าย ไม่ว่าเป็นสวัสดิการเด็ก สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการคนแก่ ซึ่งทั้งหมดใช้เงินกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ว่าก้าวไกลพูดถึงด้วยว่าจะเอาเงินจากที่ไหนมาจ่าย
ซึ่งประเด็นตรงนี้ ผมว่า จริง ๆ ตอนเลือกตั้ง เราไม่ค่อยได้คุยกัน เพราะถามว่า กว่า 6 แสนล้านบาท ก้าวไกลจะเอาตรงไหนมาจ่าย ซึ่งถ้าไปดูรายการที่เขาพูดถึง ก็อาจจะมีทั้งเรื่องของการลดการใช้จ่าย เช่น ลดขนาดกองทัพ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการรายได้ด้วย คือ ภาษีต้องขึ้น พูดถึงภาษี 3 ตัวใหญ่ ๆ คือการเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปฏิรูปการเก็บภาษีที่ดินและที่สำคัญ ที่คนอาจจะไม่ค่อยคุยกัน คือ การขึ้นภาษีกำไรของนิติบุคคล คืออาจจะลดภาษีสำหรับ SMEs แต่ขึ้นภาษีสำหรับนิติบุคคลรายใหญ่
ซึ่งสำหรับตลาดหุ้น การขึ้นภาษีก็แปลว่ากำไรหลังภาษีจะลดลง เพราะฉะนั้น ถ้าก้าวไกลมา มีใช้จ่ายอย่างที่บอกทั้งหมดจริง ๆ ก็ต้องมีฝั่งรายได้ที่ต้องเพิ่มขึ้น ก็คือ การขึ้นภาษีที่ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นภาษีก็ต้องตั้งคำถามว่า ใครจะโดนบ้าง ถ้ามองในแง่ของบริษัทจดทะเบียนก็อาจจะได้รับผลกระทบโดยรวมจากภาษีที่อาจจะสูงขึ้น
แต่ถ้าคำถามก็คือ กระทบจริงไหม ต้องขึ้นอยู่กับว่า แล้วพอเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายพวกนี้ จะเจรจาตกลงกันได้จริงไหม ทั้งในฝั่งของการใช้จ่าย คือ ฝั่งของสวัสดิการกับฝั่งของรายได้ คือพวกนโยบายภาษี
# นักลงทุนต่างชาติ มองการเลือกตั้งไทยอย่างไร ?
นักลงทุนต่างชาติกังวล 2-3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง คือเขากังวลความไม่แน่นอน คือ จริง ๆ เขาอาจจะไม่ได้บอก ว่าใครควรจะชนะ หรือเขาจะเชียร์ใคร แต่นักลงทุนต่างประเทศไม่ชอบความไม่แน่นอน อย่างสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่า มีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร
ประเด็นความไม่แน่นอนทำให้คนตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ แล้วก็ต้องยอมรับว่า เวลาเขาลงทุน เขาก็อยากจจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนโยบาย เกิดอะไรขึ้นกับกำไรของบริษัท ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่า เวลาเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เปลี่ยนนโยบายของพรรคหลัก มันส่งผลกับการลงทุนได้พอสมควร
จะสังเกตว่าพอเป็นภาวะแบบนี้ มีทั้งความไม่แน่นอน และการคาดการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศอาจจะค่อนข้างกังวล และ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อนการเลือกตั้ง นักลงทุนต่างประเทศ Net sell (ขายสุทธิ) หุ้นไทยมาตลอดเลย ก็คือเขากังวลความไม่แน่นอนพวกนี้
# การเมืองกับความเสี่ยงในต่างประเทศ อะไรน่าห่วงกว่ากัน ?
เรื่อง Dept ceiling (เพดานหนี้สหรัฐ) เป็นประเด็นทางเทคนิคมากกว่า มันไม่ได้มีผลทางเศรษฐกิจแบบยาวนานและรุนแรง คือ มันเป็นแค่ความเสี่ยงที่ถ้าหากเกิดขึ้นมาจะทำให้เกิดความวุ่นวายในตลาดการเงิน ทำให้เกิดการ recession (การถดถอย) แต่เชื่อว่า โอกาสเกิดมีค่อนข้างน้อย และถึงจะเกิดก็น่าจะมีการแก้ไขปัญหา กลับมาได้ค่อนข้างเร็ว ฉะนั้นเป็นประเด็น technical ซึ่งอาจจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยก็ได้ เช่น หาดีลกันได้ก่อนสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ทุกอย่างก็จะจบ
ประเด็นที่สอง คือเรื่องของภาคธนาคาร ที่อาจจะเห็นเรื่องของการมีแบงก์รันที่เกิดขึ้นในสหรัฐ และมีประเด็นแบงก์ในยุโรป เชื่อว่ามีโอกาสที่จะยังมีความวุ่นวาย ในประเด็นนี้เกิดขึ้น แต่ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า คงไม่พาไปสู่วิกฤต เพราะว่าวันนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับธนาคารขนาดกลางและธนาคารขนาดเล็ก ในขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ค่อนข้างเยอะ
ประเด็นที่สาม ที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือภาวะที่หลาย ๆ คนพูดถึง คือเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มันมีอยู่ค่อนข้างเยอะก่อนหน้านี้ วันนี้ก็เริ่มคลี่คลายออกไป ซึ่งอันนี้เชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Mild Recession ก็คือการชะลอตัว แต่ไม่น่าจะรุนแรงมาก อันนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้
# ทิศทางนโยบายการเงินระยะต่อไป จะเป็นอย่างไร ?
เชื่อว่าดอกเบี้ยใกล้พีกแล้ว คือมองไปข้างหน้า อย่างในสหรัฐ ผมเชื่อว่าน่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยยาว แต่ว่าอาจจะไม่ลงเร็ว ๆ นี้ ถึงแม้จะพูดถึงเศรษฐกิจชะลอตัวอะไรต่าง ๆ แต่เงินเฟ้อในสหรัฐก็ยังอยู่ที่ 4% 5% เขาอยากได้ 2% ก็ต้องขึ้นไปก่อน แล้วก็ต้องค้างไว้แถวนี้ จนกระทั่งเห็นภาพชัดขึ้น ว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงมาอย่างชัดเจน ก็เชื่อว่าดอกเบี้ยก็คงอยู่แถวนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยปรับตัวลงในช่วงปลายปี
"ส่วนของไทยเอง ผมเชื่อว่าประชุม (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ครั้งหน้าปลายเดือน พ.ค.นี้ น่าจะขึ้นไปที่ 2% แล้วก็ครั้งต่อไปประชุมในเดือนสิงหาคม ยังเชื่อว่าน่าจะขึ้นอีกครั้ง" ดร.พิพัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูพัฒนาการของเศรษฐกิจ แล้วก็เงินเฟ้อเหมือนกัน ถ้าเกิดเงินเฟ้อลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่คาด หรือมีความเสี่ยงมาจากข้างนอกอย่างที่คุยกัน ก็มีสิทธิที่แบงก์ชาติอาจจะคงไว้ที่ 2 % ก็คือ ขึ้นอีก 1 ครั้งอย่างน้อย ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่ค่อยแน่ใจ แต่เชื่อว่าไม่ขึ้นเกิน 2.25%
# ตลาดหุ้นปีนี้จะไซด์เวย์ไปเรื่อย ๆ แบบนี้ ?
ถ้าเกิดไม่มีข่าวดี แต่ถ้าเกิดทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยหมด คือถ้ารัฐบาลตั้งได้ นักท่องเที่ยวมาตามนัด เศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอตัวมาก ครึ่งปีหลังก็น่าจะเป็นภาพที่ดีขึ้น
# แนะนำนักลงทุน ลงทุนอย่างไรดี ในภาวะแบบนี้
โดย ดร.พิพัฒน์ แนะนำว่า ถ้าเป็นสินทรัพย์เสี่ยงอย่างพวกหุ้น ก็ต้อง defensive นิดหนึ่ง เพราะว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว ถ้าเชื่อว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว การลงทุนพวกอะไรที่ให้ income อย่างพวกตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใครสามารถรับความเสี่ยงไปลงทุนในดอลลาร์สหรัฐได้ วันนี้บอนด์ระยะสั้นก็ให้ผลตอบแทน 4% 5% ซึ่งก็น่าสนใจ
แล้วถ้าเกิดมีเศรษฐกิจชะลอตัว ตรงนี้ก็จะได้ประโยชน์ ถ้าเป็นหุ้น ต้องหุ้นที่ลักษณะ defensive นิดนึง ก็คือถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวมา ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่าไปเน้นพวกหุ้น growth (เติบโตสูง) ซึ่งระหว่างนี้อาจจะได้รับผลกระทบ ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงมา
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you