อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ “ศรีลังกา” กู้จนประเทศกำลังจะล้มละลายในไม่ช้า

ศรีลังกา เป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย ศรีลังกามีประชากรทั้งหมด 21.92 ล้านคน มีขนาดของเศรษฐกิจ (GDP) ราว 307,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประชากรส่วนใหญ่ของศรีลังกาทำอาชีพเกษตรกรรม และประเทศศรีลังกามีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรม ด้วยการส่งออกชาซีลอน กาแฟ น้ำตาล ซินนามอน และยางพาราไปยังต่างประเทศ
ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ศรีลังกาต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในรอบ 74 ปี จากรายงานของ World Bank ระบุว่า ประชากรราว 5 แสนคนตกอยู่ในสถานะต่ำกว่าคำว่า “ยากจน” ซึ่งมาจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 นั่นก็ว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าราคาอาหารนั้นพุ่งเป็นประวัติการณ์ถึง 21.9 เปอร์เซ็นต์
ถ้าจินตนาการไม่ออกว่าตอนนี้สถานการณ์ในศรีลังกานั้นเลวร้ายแค่ไหน ให้ลองนึกภาพ คุณเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วในเชลฟ์ไม่มีสินค้าอาหารใด ๆ เลย เพราะมันหมด อีกทั้งตามร้านอาหารก็ไม่มีอาหารขาย
สถานะทางการเงินของประเทศศรีลังกานั้นเลวร้ายถึงขั้นขีดสุด มีการคาดการณ์กันว่า ศรีลังกานั้นอาจเป็นประเทศที่มีสถานะ “ล้มละลาย” ได้ภายในปี 2022 สาเหตุมาจาก เงินเฟ้ออย่างรุนแรง
สถานการณ์เลวร้ายขั้นขีดสุด
มีรายงานว่าดัชนีผู้บริโภคของศรีลังกาขึ้นไปแตะระดับ 14 เปอร์เซ็นต์ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของศรีลังกา บอกว่า ระดับอัตราเงินเฟ้อของเดือนธันวาคมนั้นสูงที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งศูนย์พยากรณ์ดัชนีผู้บริโภคขึ้นมาในปี 2015
โดยสิ่งที่ผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขนาดนี้ก็เป็นเพราะราคาอาหารนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 21.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงขึ้น 7.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2020
นอกจากนี้ ในประเด็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างนาย Gotabaya Rajapaksa เข้าดำรงตำแหน่งในปี 2019 โดยลดลงจาก 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลงมาเหลือ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะสามารถใช้เป็นทุนสำหรับการนำเข้าสินค้าจำเป็นได้น้อยกว่า 2 เดือน
สถานการณ์ตอนนี้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ก็เริ่มมีการจำกัดปริมาณการซื้อ นมผง น้ำตาล และถั่ว รวมไปถึงวัตถุดิบที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า และไม่ให้เกิดซัปพลายช็อก (ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ) โดยหน่วยงานของรัฐได้ออกมาแจ้งเตือนระดับสูงสุดถึงภาวะการขาดแคลน
ในส่วนของอัตราการว่างงานก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากศรีลังกาเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และด้วยสถานการณ์โควิดทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาท่องเที่ยว นั่นทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวต้องตกงานทันทีนับแสนคน
ภาคการท่องเที่ยวของศรีลังกานั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP นำรายได้เข้าประเทศปี ๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2021 ที่ผ่านมา ทั้งปี ศรีลังกาทำรายได้ไปแค่ 261 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
สื่อชื่อดังของอังกฤษอย่าง The Guardian ประชาชนราว 1 ใน 4 ของศรีลังลา ต่างพากันไปต่อแถวทำพาสปอร์ต โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาสูงและวัยรุ่นหัวก้าวหน้า ที่ต่างอยากหนีออกจากประเทศที่กำลังประสบภาวะใกล้ล้มละลายเต็มที
บรรดาคนสูงอายุในศรีลังกาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ในตอนนี้ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงก่อนปี 1970 ที่การส่งออกแทบจะเป็น 0 แถมผลิตภาพในประเทศในตอนนั้นก็ต่ำมาก จนทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เกิดภาพฉายซ้ำ ที่มีคนต่อแถวยาวเพื่อซื้อขนมปัง ข้าว และนม
อะไรที่นำพาศรีลังกามาได้ถึงจุดนี้?
สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ศรีลังกาจวนเจียนจะเป็นประเทศล้มละลายก็คือ “การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไป ภาคการท่องเที่ยวของศรีลังกานั้นสำคัญมากจริง ๆ เพราะพอโควิดมาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องปิดตัวลง นำไปสู่การสูญเสียรายได้มหาศาลของประเทศ
แต่ก็มีปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากนั้น…
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากหลายสำนักเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่ทำให้ศรีลังกามีสถานะทางการเงินเข้าขั้นเลวร้ายมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการลดอัตราการจัดเก็บภาษี ทำให้รายได้ของรัฐลดลง ซึ่งสะสมมาหลายปีจนเป็นดินพอกหางหมู
นโยบายและการวางแผนที่ไม่ดี
ปัจจัยดังกล่าวได้สร้างหายนะให้กับเศรษฐกิจของศรีลังกาอย่างหนักหน่วง ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจอย่างกะทันหันของนาย Gotabaya Rajapaksa ประธานาธิบดีของศรีลังกาที่ห้ามเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
รวมไปถึงนโยบายบังคับเกษตรกรในทางอ้อมให้ไปปลูกพืชผักแบบออร์แกนิก โดยไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนให้เกษตรกรในประเทศรู้ตัวมาก่อน ฉุดให้ภาคการเกษตรถึงกับเสียหายหนัก
เนื่องจากเกษตรกรหลายคนที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงถึงขั้นเลิกปลูกพืชผักส่งเข้าสู่ระบบซัปพลายเชนไปเลยเพราะขาดความรู้และความเข้าใจที่จะปลูกพืชแบบออร์แกนิก ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก
เกษตรกรคนหนึ่งบอกว่า ค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก รัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะมาช่วยเหลือในการอุดหนุน ค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เกษตรกรหลายคนไม่เต็มใจที่จะลงทุนทำไร่ทำนา เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วจะคุ้มหรือไม่
เป็นหนี้เยอะ
หนึ่งในบรรดาปัญหาที่เป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจมากที่สุดสำหรับศรีลังกาปัญหาหนึ่งเลยก็คือ “การมีหนี้ต่างประเทศเยอะจนเกินไป” โดยเฉพาะการเป็นหนี้กับประเทศจีน
ศรีลังกานั้นเป็นหนี้จีนอยู่ราว 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 165,000 ล้านบาท) แถมปีที่แล้วรัฐบาลเล่นไปกู้มาเพิ่มอีก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นยาแรง (แต่อันตราย) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประเทศเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ก่อน แล้วค่อยไปว่ากันทีหลัง (ตอนนี้รัฐบาลศรีลังกาใช้การผ่อนจ่ายหนี้รัฐบาลจีนอยู่)
ไม่ใฃ่แค่กับ จีน เท่านั้น แต่ศรีลังกายังเป็นหนี้ประเทศอื่น ๆ รวมไปถึงการกู้ยืมแบบ G2P หรือ Government to Private Sector กับภาคเอกชนอีกด้วย
“พวกเรา (ศรีลังกา) เป็นหนี้ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ในจำนวนที่สูงมาก รวม ๆ แล้วจนถึงปัจจุบัน (ปี 2022) เราเป็นหนี้รวม 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงกึ่งรับสภาพของนายกรัฐมนตรี Mahinda Rajapaksa น้องชายของนาย Gotabaya Rajapaksa ประธานาธิบดีของศรีลังกา
ทางด้านนาย Harsha de Silva ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า เงินสำรองสกุลต่างประเทศอาจติดลบได้ถึง 437 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และมูลหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมดอาจสูง 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม ปีนี้
“และแน่นอนว่าถ้าถึงจุดนั้นประเทศจะเข้าสู่สถานะล้มลายอย่างเต็มตัว”
นาย De Silva บอกว่า เขาไม่ได้ขู่หรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่นี่คือความจริงที่ว่า ศรีลังกาจะต้องหยุดการนำเข้าสินค้าทุกชนิด (เป็นการหยุดการใช้จ่าย) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทุกอย่าง จะต้องปิดตัวลง เพราะศรีลังกาไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้
ฝ่ายรัฐบาลเองในฐานะผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง กำลังพยายามอย่างหนักในการเจรจากับเจ้าหนี้ เช่น จีน หรือแม้กระทั่งหนี้ในส่วนของค่าน้ำมันที่นำเข้ามาจากประเทศอิหร่าน
ศรีลังกาก็พยายามที่จะขอจ่ายหนี้ด้วย “ชา” โดยการส่งชามูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับอิหร่านในทุก ๆ เดือน เพื่อป้องกันการอ่อนค่าของเงินรูปีศรีลังกา ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะสถานะการเงินในประเทศนั้นย่ำแย่จริง ๆ
หนทางบรรเทาวิกฤต
รัฐบาลศรีลังกาแถลงว่า พวกเขามีแผนที่จะแก้ไขปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามานี้ โดยเบื้องต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของศรีลังกา ประกาศแพ็กเกจบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนวงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ประกอบไปด้วยเงินช่วยเหลือพิเศษจำนวน 5,000 รูปีศรีลังกา (24 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ให้กับลูกจ้างของรัฐ ข้าราชการบำนาญ รวมไปถึงทหารผ่านศึก
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภาวะผลผลิตตกต่ำในสัดส่วน 25-30 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ความช่วยเหลือในส่วนของต่างประเทศ รัฐบาลอินเดียได้ขยายเวลาชำระหนี้มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงการแลกเปลี่ยนของ SAARC (South Asian Association for Regional Cooperation)
Swap Agreement ยืดเวลาการชำระหนี้มูลค่า 515.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของ Asian Clearing Union หรือ ACU ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยดูแลและจัดการการชำระหนี้ระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อิหร่าน มัลดีฟส์ เมียนมา เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา ออกไปอีก 2 เดือน
รัฐบาลศรีลังกายังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในการก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ แต่นั่นก็เท่ากับต้องแลกกับการเข้าสู่การยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของ IMF แบบไม่มีทางเลือก
ซึ่งก็คล้ายกับประเทศไทยเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งก็เคยขอกู้เงินกับ IMF มาแล้ว โดยในตอนนั้นไทยต้องเปิดเสรีในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเปิดเสรีทางด้านการค้าและการลงทุน เปิดเสรีทางด้านการประกอบอาชีพของชาวต่างชาติ ยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนยอมรับนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นอกชน ทั้งหมดนี้ถูกตราเป็นนโยบายโดยผ่านออกเป็นกฎหมาย 40 ฉบับ
แนวทางการแก้ปัญหานี้จะต้องเร่งนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นภายในปี 2022 นี้ มิเช่นนั้น สถานะประเทศล้มละลายคงจะเป็นจริงตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"