สินเชื่อบ้านครึ่งปีหลังยังแข่งดุ แบงก์ตะลุมบอนชิงเค้กตลาด “รีไฟแนนซ์บ้าน” แห่คลอดแคมเปญดัมพ์ดอกเบี้ยดึงลูกค้าเข้าพอร์ต “ออมสิน” นำทีมระเบิดศึก “กู้ปีนี้ผ่อนปีหน้า” ปลอดเงินต้นดอกเบี้ย 6-9 เดือน กรุงศรีฯถล่มดอกเบี้ยปีแรก 0.5% ซีไอเอ็มบี
ไทย ยื่นข้อเสนอ 2 ปีแรกดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.84% ต่อปี
แบงก์แข่งรีไฟแนนซ์
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จากคาดการณ์ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินว่า ทั้งปีมูลค่าการโอนและจดจำนองจะหดตัว -13.4% คิดเป็นมูลค่า 8.04 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ 9.38 แสนล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกมีมูลค่าการโอนไปแล้วกว่า 3.78 แสนล้านบาท หดตัว -10.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2565 มูลค่าโอนจะกลับมาขยายตัวที่ 5.8% คิดเป็นมูลค่า 8.51 แสนล้านบาท สอดคล้องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีการเติบโต แต่มาจากสินเชื่อ “รีไฟแนนซ์” ที่ช่วยพยุงการเติบโตไว้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และขอวงเงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤต ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรก สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 9.7% หรืออยู่ที่ 1.51 แสนล้านบาท แต่คาดว่าทั้งปียอดสินเชื่อจะหดตัว -4.3% ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 5.86 แสนล้านบาท เทียบปีก่อนอยู่ที่ 6.12 แสนล้านบาท
ในส่วนของธนาคารกรุงศรีอยุธยาตั้งเป้าเติบโตสอดคล้องกับภาพรวมตลาด โดยพยายามช่วยเหลือลูกค้าเก่า มากกว่ามาตรการขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนลูกค้าใหม่มีความระมัดระวัง และเน้นเซ็กเมนต์กลางและบน โดยร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เจาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง prime และ exclusive ของธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษและส่วนลดจากดีเวลอปเปอร์เพิ่มเติมอีก 5 แสนบาท โดยปัจจุบันในตลาดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 3 ปีแรก เฉลี่ยอยู่บวกลบ 2.5%
สำหรับแบงก์กรุงศรีฯมีแคมเปญรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี นาน 1 ปี ฟรีค่าจดจำนอง ฟรีค่าประเมินหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 95% ของราคาประเมิน ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ย.-31 ธ.ค. 64
ลดเสี่ยงจับลูกค้าเก่า
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบน่าจะโต 6-7% จากเดิมที่เคยเติบโตเฉลี่ย 12-15% ต่อปี โดยการแข่งขันจะอยู่ในกลุ่มระดับกลางและบนที่มีกำลังซื้อซึ่งเป็น real demand ที่มีค่อนข้างจำกัด ทำให้การแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังคงมีให้เห็นอยู่ ปัจจุบัน 3 ปีแรกเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 2.3%
ในส่วนของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ 3 หมื่นบาทขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.49% มองว่าเป็นอัตราที่ยังสามารถแข่งขันกับตลาดได้
สำหรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนประมาณ 40% มาจากสินเชื่อบ้านใหม่ และอีกราว 60% จะมาจากสินเชื่อรีไฟแนนซ์ เนื่องจากตลาดบ้านใหม่มีการแข่งขันรุนแรง และลดดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับแนวโน้มหนี้เสีย จะพบว่ามีสูงกว่าสินเชื่อรีไฟแนนซ์ เนื่องจากธนาคารรู้ประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าแล้วโดยในช่วง 7 เดือนแรกธนาคารปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 6,800 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“ในตลาดยังคงเห็นแบงก์เน้นเจาะตลาดกลุ่มบนที่มีกำลังซื้อ แต่ขนาดที่จำกัดทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ซึ่งเรายังคงเน้นปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และยังมีความต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด”
โดยในช่วงนี้มีแคมเปญรีไฟแนนซ์อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2 ปีแรก 1.84% หรืออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.39% พร้อมฟรีค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ฟรีอากรแสตมป์ และฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 3 ปี
สินเชื่อบ้านเริ่มชะลอตัว
นางชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีอัตราการเติบโต 2.9% มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.29 ล้านล้านบาท แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าตลาดจะชะลอตัวลงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงและยืดเยื้อ โดยกลุ่มลูกค้าที่ยังขยายตัวได้ดีจะเป็นกลุ่มบ้านแนวราบ ราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท และราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เน้นไปที่แคมเปญการตลาดที่เกี่ยวกับรีไฟแนนซ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ธนาคารรู้ประวัติการผ่อนชำระ ขณะเดียวกันในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว ลูกค้าบางส่วนยังต้องการวงเงินกู้เพิ่ม เพื่อนำเงินสดไปแบ่งเบาภาระอื่น ๆ หรือไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น
“สำหรับกสิกรไทยในช่วง 6 เดือนแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อแล้ว 5.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทั้งปีน่าจะปล่อยได้ใกล้เคียงเป้าหมาย แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดจะชะลอตัวลงจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่คุณภาพลูกค้ายังอยู่ในเกณฑ์ดี และหนี้เอ็นพีแอลยังคงอยู่ระดับต่ำใกล้เคียงปี 2563”
รีไฟแนนซ์+ขอวงเงินเพิ่ม
แหล่งข่าวสถาบันการเงินเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มตลาดรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง และเริ่มเห็นสัญญาณการรีไฟแนนซ์และขอวงเงินเพิ่มเติมมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีสภาพคล่องตึงตัว การรีไฟแนนซ์และขอวงเงินกู้เพิ่มเป็นอีกวิธีการเสริมสภาพคล่อง โดยอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย “รถแลกเงิน” ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 7-14% หรือสินเชื่อส่วนบุคคล 18-25% และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ระดับ 16% ส่งผลให้การรีไฟแนนซ์และขอวงเงินกู้เพิ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น และเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“เพราะคนสภาพคล่องตึงต้องการเงินหมุนเวียน และแบงก์เองก็ต้องปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกลุ่มนี้ความเสี่ยงน้อย ดีกว่าปล่อยสินเชื่อบุคคล เพราะมีหลักประกัน แม้ว่าการขอวงเงินกู้เพิ่มจะเสี่ยงกว่ารีไฟแนนซ์อย่างเดียว เพราะเหมือนลูกค้าต้องเริ่มต้นผ่อนใหม่อีกครั้ง ทำให้การปล่อยวงเงินจะดูตามมูลค่าหลักประกัน (LTV) จากเดิมให้ 100% อาจลดเหลือ 90-95% และดอกเบี้ยอาจจะแยกก้อนเป็นดอกเบี้ยสินเชื่ออเนกประสงค์แทน ขึ้นอยู่กับนโยบายแบงก์”
อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ต้องยอมรับว่าการรีไฟแนนซ์และขอวงเงินกู้เพิ่มจะมีดอกเบี้ยที่สูงกว่าการรีไฟแนนซ์อย่างเดียว เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการผ่อนชำระที่ยาวขึ้น โดยจะเห็นว่าบางธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์แยกกับอัตราดอกเบี้ยวงเงินกู้เพิ่ม ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันในตลาดรีไฟแนนซ์ 3 ปีแรก เฉลี่ยจะต่ำกว่า 3% แต่หากกรณีมีวงเงินกู้เพิ่มจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 5-6%
ออมสินรับนโยบายลดภาระ
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรง หลายคนตกอยู่ในสภาวะขาดรายได้ ในขณะที่ภาระที่แบกรับอยู่ยังไม่หมดไป เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการผ่อนบ้านและหนี้สินต่าง ๆ
ธนาคารออมสินจึงออกแคมเปญสินเชื่อบ้าน “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” ด้วยเงื่อนไขพิเศษให้เริ่มผ่อนปีหน้าและผ่อนต่อเดือนที่ต่ำมาก ทำให้มีเงินสดไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น หรือนำไปปิดบัญชีเงินกู้เพื่อปลดล็อกหนี้ต่าง ๆ และจะเป็นการช่วยมาตรการรวมหนี้ของแบงก์ชาติด้วย
โดยแคมเปญ “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” สำหรับลูกค้ารีไฟแนนซ์ มีให้เลือกทั้งแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 9 เดือน โดยในเดือนที่ 10-12 ผ่อนล้านละ 2,000 บาท และแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน โดยในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาท ซึ่งทั้ง 2 แบบ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เท่ากับ 2.50% ต่อปี
นอกจากนี้ ลูกค้าที่รีไฟแนนซ์จะได้สิทธิในการกู้เพิ่มเติมเพื่ออุปโภคบริโภคในโอกาสนี้ด้วย ให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาท มีทั้งเงินกู้ระยะยาว (LT) ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 3.90% ต่อปี และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.75%
ทั้งนี้ ลูกค้าที่กู้สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยกเว้นโปรแกรมรีไฟแนนซ์ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 9 เดือน ต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ตุลาคม 2564
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มีนโยบายต้องการให้ธนาคารออมสินออกสินเชื่อที่ช่วยให้คนมีสภาพคล่อง หรือมีเงินสดไว้ใช้ในช่วงนี้ด้วย ทางธนาคารออมสินจึงออกแคมเปญกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้ามา โดยช่วงที่เป็น 0% 6-9 เดือน ลูกค้าก็จะมีเงินสดไว้ใช้ได้
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you