"เอเวอร์แกรนด์" ใหญ่เกินกว่าจะล้ม สะเทือนเสถียรภาพการเมืองจีน

Evergrande คือ ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน กับภาวะวิกฤติหนี้ที่ทำเอาตลาดทั่วโลกผวา ส่อล้มละลาย และนี่อาจเป็นบททดสอบที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินจีน Evergrande กับมูลค่าหนี้มหาศาล 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ติดหนี้มากที่สุดในโลก

ปัจจุบัน Evergrande เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1,300 โครงการ มากกว่า 280 เมืองในจีน
ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่ทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องคงหนีไม่พ้น ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่มีนามว่า Evergrande หรือ เอเวอร์แกรนด์ กับภาวะวิกฤติหนี้ก้อนมหึมา 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.99 ล้านล้านบาท (*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 18 ก.ย. 64 เวลา 21.01 น. : 33.29 บาท) ที่โงนเงนเสี่ยงต่อการล้มละลาย!!
และนั่นทำให้ "เอเวอร์แกรนด์" กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ "ติดหนี้" มากที่สุดในโลก โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลากสำนักได้มี "คำเตือน" ส่งถึงบรรดานักลงทุนทั้งหลายให้ระวังไว้ ด้วยความกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ "เอเวอร์แกรนด์" ไม่สามารถจ่ายหนี้ก้อนมหึมานั้นได้
โดยก่อนหน้านี้ ทาง "เอเวอร์แกรนด์" ยอมรับว่า ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ หลังเผชิญภาวะตกต่ำมาเป็นเวลาหลายเดือน และนั่นทำให้สถานการณ์ของ "กระแสเงินสด" ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น
"คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" อาจจะคิดว่าเกิดในจีน ก็น่าจะกระทบกับแค่ในจีน แต่ในมุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นว่า เหตุการณ์อันไม่คาดฝันที่แสนเลวร้ายของยักษ์ใหญ่จีนครั้งนี้ คงไม่เพียงแค่สร้างความเจ็บปวดให้กับเศรษฐกิจเป็นแน่ และอาจขยายเป็นวงกว้างและลุกลามเป็นโดมิโนไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย
ว่าแต่... Evergrande ทำอะไรบ้าง?
ทำไมถึงได้เป็นติดหนี้ก้อนโตขนาดนี้...
อย่างที่ทราบกันตั้งแต่ต้น "เอเวอร์แกรนด์" คือ บริษัทที่มีธุรกิจหลักด้านอสังหาริมทรัพย์ และเดิมทีก็มียอดขายมากเป็นอันดับ 2 ของผู้พัฒนาอสังหาฯ รวมๆ แล้วเป็นเจ้าของมากกว่า 1,300 โครงการ มากกว่า 280 เมืองในจีน และยังมีสาขาเพื่อคอยให้การบริการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เกือบ 2,800 โครงการ มากกว่า 310 เมืองในจีนอีกด้วย
ส่วนธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากอสังหาฯ ทาง "เอเวอร์แกรนด์" แตกไลน์ธุรกิจถึง 7 อย่างด้วยกันในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า, การให้บริการการดูแลสุขภาพ, สินค้าอุปโภคบริโภค, โปรดักชันผลิตสื่อวิดีโอและสื่อโทรทัศน์ และสวนสนุก เป็นต้น
โดยทั้งหมดนั้น "เอเวอร์แกรนด์" โวบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทไว้ว่า มีพนักงานภายใต้การดูแลกว่า 2 แสนคน และสร้างงานแต่ละปีมากกว่า 3.8 ล้านตำแหน่ง
และความน่าสนใจของ "เอเวอร์แกรนด์" คือ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ทั่วเอเชีย ทั้งที่เป็นหุ้นและพันธบัตร
ทีนี้เมื่อจู่ๆ ยักษ์ใหญ่อสังหาฯ อย่าง "เอเวอร์แกรนด์" เกิดสะดุด! และมีท่าทีจะล้มมิล้มแหล่อยู่ในตอนนี้ ก็ทำนักลงทุนหวาดผวาไปตามๆ กัน เกิดการจับตากระแสข่าวอย่างใกล้ชิดไปทั่วโลก
"การพังทลายของเอเวอร์แกรนด์อาจเป็นทดสอบที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินจีน!"
หนึ่งในมุมมองของ มาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชีย ประจำ Capital Economics ที่วิเคราะห์หลังจากเห็นภาพการตอบสนองของธนาคารต่างๆ ที่มีต่อภาวะกระแสเงินสดเสื่อมถอยของ "เอเวอร์แกรนด์" รวมถึงท่าทีของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) ในฮ่องกง ที่ปฏิเสธการยื่นขอสินเชื่อกู้ยืมใหม่ให้กับลูกค้าของ 2 โครงการที่พักอาศัย ภายใต้การดำเนินงานของ "เอเวอร์แกรนด์" ที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ
อีกทั้งถ้าสังเกตตลอดหลายสัปดาห์ก็จะเห็นได้ว่า บริษัทจัดอันดับฐานะการเงินและความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ออกมาประกาศปรับลดระดับของ "เอเวอร์แกรนด์" หลายครั้ง ด้วยการอ้างอิงปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
ซึ่งในจุดๆ นี้ บางคนคาดการณ์ว่า "เอเวอร์แกรนด์" เริ่มเผชิญกับปัญหาอันหนักหน่วงที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว (2563) เหตุก็เพราะ "รัฐบาลจีน" จัดกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมต้นทุนการกู้ยืมของบรรดาผู้พัฒนาอสังหาฯ ทั้งหลาย โดยมาตรการต่างๆ เหล่านั้นครอบคลุมหนี้ที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสด รวมถึงระดับสินทรัพย์และทุนด้วย
แน่นอนว่า ผลที่เกิดขึ้นคือ หุ้นของ Evergrande (เอเวอร์แกรนด์) ในตลาดฮ่องกง จนถึงตอนนี้...ราคาลงหนักเกือบ 80% ขณะเดียวกัน ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การซื้อขายพันธบัตรก็หยุดชั่วคราวหลายครั้งโดยตลาดหลักทรัพย์จีน
ทำไมถึงบอกว่า "วิกฤติหนี้เอเวอร์แกรนด์" เป็นบททดสอบที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินจีน?
การวิเคราะห์โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ที่ให้กับผู้เขียน ระบุไล่เรียงดังนี้
1) ก้อนหนี้ขนาดมหึมาของ "เอเวอร์แกรนด์" ที่มีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
2) จนถึงปัจจุบัน หุ้นเอเวอร์แกรนด์ตกลงไปแล้วกว่า 85% โดยในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ส่วนที่เป็นพันธบัตรถูกห้ามเทรด ราคาตกมา 30% แล้ว
3) คนที่ซื้อบ้านภายใต้โครงการของ "เอเวอร์แกรนด์" และที่กำลังออกมาเรียกร้องอยู่ ณ ตอนนี้ อีก 1.5 ล้านคน หลายๆ คนตกอกตกใจว่า ถ้าหากวันดีคืนดี "เอเวอร์แกรนด์" ล้มไปจริงๆ จะเอาเงินกลับมาก็อาจไม่ทัน
และ 4) ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (23 ก.ย. 64) ก็จะมีการพิสูจน์ (บททดสอบ) ย่อยๆ แล้ว เพราะดอกเบี้ยบางส่วนของหนี้จะถึงกำหนด แต่ที่ร้ายกว่านั้น คือ การทดสอบสำคัญว่า "เอเวอร์แกรนด์" จะจ่ายตัวเงินต้นด้วยได้ไหม ประมาณการณ์ส่วนหนึ่งว่า 7 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพราะฉะนั้น ในกรณีของ "เอเวอร์แกรนด์" นี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง โดยส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการที่ "รัฐบาลจีน" ออกมาตรการเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2563) ต้องการจะลดหนี้สาธารณะกับหนี้เอกชนเพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพ จึงได้ให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศต้องไปลดหนี้ลง
เมื่อได้รับ "โจทย์" จาก "รัฐบาลจีน" มาแบบนั้น แล้ว "เอเวอร์แกรนด์" ทำอย่างไร?
"เอเวอร์แกรนด์" ก็ใช้วิธีการก่อหนี้ด้วยการเปิดขายให้ได้เงินมา แล้วก็รีบสร้าง จากนั้นก็ไปกู้ นั่นเลยเป็นผลทำให้ "ติดหนี้" สูงมหาศาล พอ "รัฐบาลจีน" ออกมาตรการกระชับให้เกิดการลดหนี้ ทางบริษัทก็รีบขาย โดยขายเพื่อให้ได้สภาพคล่องทางการเงิน แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน... หุ้นก็ตก คนก็ตกใจ ลดไป 25% กลับกลายเป็นขายไม่ออก ขาดสภาพคล่อง ก็ตกอยู่ในภาวะหนี้ท่วมหัว กลายเป็นเรื่องใหญ่...กระทบกันเป็นลูกโซ่ ทั้งทางด้านอสังหาฯ ทั้งธนาคาร
Evergrande ใหญ่เกินกว่าจะล้ม!!
หรือจะเข้าข่าย Too Big to Fail!!
หลายๆ คนมองว่า "เอเวอร์แกรนด์" เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่มีความสำคัญมากทีเดียวสำหรับจีน และเห็น "สัญญาณ" ชัดเจนพอควรว่าจะเป็นอย่างไร...หากมีอะไรเกิดขึ้นกับยักษ์ใหญ่รายนี้
ดังนั้น นักวิเคราะห์ต่างๆ จึง "ฟันธง" กันฉับๆ ว่า "รัฐบาลจีน" ไม่น่าจะเมินเฉย จะต้องมีการสนับสนุนมาตรการต่างๆ อย่างแน่นอน อาจจะมาโดยรัฐบาลกลางหรือธนาคารกลางก็เป็นไปได้ ด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่ออุ้ม "เอเวอร์แกรนด์" ให้รอดพ้นจากสารพันปัญหาหนี้ที่ก่อไว้
คำวิเคราะห์ของ รศ.ดร.สมชาย ก็เห็นพ้องเช่นเดียวกันว่า "รัฐบาลจีน" ต้องแอบอุ้ม "เอเวอร์แกรนด์" แน่ๆ แต่อาจไม่ใช่วิธีที่เข้าไปจ่ายหนี้ให้แบบโต้งๆ ขนาดนั้น
"อสังหาฯ มีสัดส่วนเท่ากับ 29% ของจีดีพี (GDP) เพราะฉะนั้น เวลาถูกกระทบ ย่อมกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของจีนด้วย"
ในขณะนี้ เห็นได้ว่า ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" กำลังแผ่ขยายความยิ่งใหญ่ เพื่อหวังว่า ในอนาคตจะสามารถเป็นส่วนสนับสนุนในการต่ออายุตำแหน่งเลขาธิการพรรคในปีหน้า (2565) ได้ จากสมมติฐานจึงคิดว่า หากไม่มีการช่วยเหลือ "เอเวอร์แกรนด์" ก็คงมีเหตุการณ์บานปลายมากพอสมควร เพราะอสังหาฯ มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีจีน ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะล้มทั้งระบบ แต่กระทบและโยงไปสู่ตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์ต่างๆ และที่สำคัญ คือ ผลกระทบที่สร้างความไม่พอใจให้กับคนเป็นล้านๆ
"ผมยังคิดว่า จุดหนึ่ง... รัฐบาลจีนคงจะต้องเข้ามาช่วย เพราะถ้าปล่อยไปแบบนี้เป็นผลกระทบ และเมื่อวานนี้ (18 ก.ย. 64) รัฐบาลก็เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าจะใช้เงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ได้ไปช่วยเอเวอร์แกรนด์ แต่ไปช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบธนาคาร"
จากที่ว่ามานั้น รศ.ดร.สมชาย มองว่า รัฐบาลจีนเองก็เริ่มที่จะเข้ามาแทรกแซงบางอย่างแล้ว เพราะหากสถานการณ์บานปลายจะมีผลกระทบในลักษณะที่รุนแรงในระดับหนึ่ง ทางรัฐบาลจีนจะต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนเกินควร และเสถียรภาพทางการเมืองเองก็เกี่ยวข้องกับตรงนี้ด้วย
"ใช่!! เข้าข่าย Too Big to Fail และกรณี Too Big to Fail ในมุมคอมมิวนิสต์จะมากกว่า Too Big to Fail ของอเมริกาด้วยซ้ำ เพราะ Too Big to Fail นี่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของรัฐบาล"
กรณี Too Big to Fail ในส่วน "เอเวอร์แกรนด์" ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ "รัฐบาลจีน" นี้ เมื่อเกิดมาแล้ว รัฐบาลสามารถสั่งการได้ อีกอย่างทางรัฐบาลเองก็ร่ำรวย มีเงินสำรอง แม้จะลดจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเหลือ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังมหาศาลอยู่ดี มากเกินพอสำหรับ "หนี้" ก้อนมหึมาที่มีแค่ประมาณ 3 แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ
แน่นอนว่า ก้อนหนี้ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของ "เอเวอร์แกรนด์" ทาง "รัฐบาลจีน" เองก็ไม่จำเป็นต้องช่วยทั้งหมด เพราะเขามีทรัพย์สินอื่นๆ อีก แต่พอถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลก็จะต้องเข้ามาช่วยในทางใดทางหนึ่ง เพื่อป้องปรามไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนเกินไป
"สี จิ้นผิง" อุ้ม ไม่อุ้ม Evergrande
"ผมคิดว่า เขาไม่น่าจะปล่อยให้ล้ม เพราะถ้าปล่อยจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการเมืองในระดับหนึ่ง"
เหมือนกับอะไรกำลังดีๆ อยู่ จู่ๆ มาเกิดเหตุการณ์ "หนี้เอเวอร์แกรนด์" แบบไม่คาดคิด หากเมินเฉยก็อาจเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้กระทบต่อคะแนนนิยม เพราะมีคนเดือดร้อนจำนวนมาก นี่เป็น "ความจำเป็น" ในการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ในที่สุด... "รัฐบาลจีน" ก็น่าจะเข้ามาแทรกแซง!
และความเป็นไปได้อย่างมากอีกหนึ่งอย่าง คือ "การปรับโครงสร้าง"
นักวิเคราะห์มองตรงกันว่า "ปลายทาง" ที่มีความเป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้ คือ "การปรับโครงสร้างหนี้" เพื่อเข้าเทคโอเวอร์บรรดาโครงการของ "เอเวอร์แกรนด์" ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยวิธีการอย่างการแลกเปลี่ยนหุ้นของธนาคารที่ดิน
ความเชื่อมั่นหนึ่งโดยธนาคารเพื่อการลงทุน Natixis ให้ไว้อย่างน่าสนใจประโยคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับที่ รศ.ดร.สมชาย วิเคราะห์ไว้
"รัฐบาลจีนจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในลักษณะลูกโซ่จากกรณี Evergrande ที่อาจกระทบไปสู่การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 2565 ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์".
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
Source: ไทยรัฐออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"