เงินบาทไทย สกุลเงินที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด ในมุมมองของ “รูชีร์ ชาร์มา”

นาย รูชีร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) นักลงทุนมากประสบการณ์ ประธานร็อคกีเฟลเลอร์ แคปพิทอล แมเนจเมนท์ (Rockefeller Capital Management) บริษัทการเงินระดับโลก ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกมานานเกือบ 30 ปี

ได้กล่าวถึง เงินบาทของไทย ด้วยความชื่นชมผ่านบทความ The untold story of the world’s most resilient currency ตีพิมพ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส (Financial Times) สื่อใหญ่ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2566 ระบุว่า ในมุมมองของเขา เงินบาทของไทยคือสกุลเงินที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในโลก
ชาร์มาย้อนถึงที่มาของการเขียนบทความเกี่ยวกับ “เงินบาท”ในครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จะครบรอบ 25 ปี ที่เขาเคยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินที่ชาวโลกรู้จักดีในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง” (ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2540) ที่จุดศูนย์กลางความเสียหายหนัก หรือ ground zero นั้น อยู่ในไทย และได้ขยายลุกลามไปยังหลายประเทศในเอเชีย
จากเสียหายหนักสุด กลายเป็นแข็งแกร่งที่สุด
แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เงินบาทก็ค่อยๆกลับมามีสเถียรภาพได้อย่างยาวนาน จนกล่าวได้ว่า ในบรรดาสกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน เงินบาทรักษาค่าได้ดีกว่าใครเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือหากจะเทียบกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เงินบาทก็มีสเถียรภาพมากกว่าสกุลเงินใดๆ ยกเว้นเพียงสวิสฟรังก์
ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตต้มยำกุ้ง เงินบาทของไทยลดค่าลงอย่างรุนแรงกว่า 50% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หดตัวลงเกือบๆ 20% ในพริบตา ตลาดหุ้นดิ่งเหวกว่า 60% สถาบันการเงินหลายแห่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หนี้สาธารณะพุ่งสูงจนรัฐบาลไทยต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ตั้งแต่ต้นปี 1998 (พ.ศ. 2541) มานั้นซึ่งเป็นช่วงที่ชาร์มาเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย แทบไม่มีนักลงทุนต่างชาติคนไหนกล้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย นับเป็นหนึ่งในวิกฤตการเงินที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายเงินบาทก็สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รักษามูลค่าไว้ได้อย่างเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง กว่าเงินสกุลอื่นๆในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ และดูดีกว่าเงินสกุลของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ชาติ ยกเว้นเพียงสวิสฟรังก์เท่านั้น จึงนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา
ยกตัวอย่าง เวลานี้ ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ได้อ่อนลงมากนักเมื่อเทียบกับอัตราก่อนเกิดวิกฤตการเงิน ที่ค่าเงินบาทเวลานั้นอยู่ที่ราว 26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่เกือบๆ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนลงมามากเมื่อเทียบกับอัตรา 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินเอเชีย
“จากประเทศที่เคยเป็นศูนย์กลางของวิกฤตค่าเงิน (ไทย) กลับพลิกมาเป็นหนึ่งในเสาหลักของอาเซียนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหลายๆ ประเทศ” ชาร์มากล่าวชื่นชม โดยระบุ หนึ่งในข้อดีของวิกฤติค่าเงินในครั้งนั้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโต เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกลงมาก จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยว และภาคบริการรองรับที่ดี ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของไทย แม้ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้วก็ตาม
การฟื้นตัวที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไทยทำได้
ในปี 2543 (ค.ศ.2000) ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตค่าเงินที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่า การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินที่รัดกุมเข้มงวดมาตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤตค่าเงินของไทย ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง มีงบประมาณขาดดุลเฉลี่ยเพียง 1% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจระดับเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ไทยยังมีเงินสำรองเพิ่มขึ้นได้ถึง 7% ต่อปี แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ แบงก์ชาติยังดำเนินการอย่างรัดกุม และคงดอกเบี้ยไว้ที่อัตราสูง ทำให้ไทยยังสามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อได้ที่ประมาณ 2% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ชาร์มากล่าวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ในบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีเพียงจีน ไต้หวัน และซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ที่มีระดับอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าไทย
ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยเคยเกือบสูญเสียความเชื่อมั่นในค่าเงินบาทจากนโยบายตรึงค่าเงินตายตัวไว้กับดอลลาร์สหรัฐ และการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อปกป้องเงินบาทจากการโจมตีค่าเงินของนายทุนชาติตะวันตก บีบให้ไทยต้องปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว จนเกิดหนี้สินจากเงินตราต่างประเทศมหาศาล
แต่ในที่สุด ไทยยังคงรักษาเสถียรภาพของเงินบาทไว้ได้อย่างมั่นคงด้วยข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านมรสุมทางการเมืองอย่างหนักตลอดระยะเวลา 25 ปี
อย่างไรก็ตาม ชาร์มากล่าวว่า จุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่ ซึ่งได้แก่หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และการเคลื่อนตัวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยที่รวดเร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ แต่ถึงกระนั้น ข้อดีก็คือ ไทยยังคงมีรายได้ต่อหัวมากขึ้นกว่าสองเท่า จาก 3,000 ดอลลาร์/คน/ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตค่าเงิน เป็นเกือบๆ 8,000 ดอลลาร์/คน/ปี ในขณะนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ดังที่กล่าวข้างต้น คือ ชาร์มามองว่า ถึงแม้ความยุ่งเหยิงทางการเมืองของไทยจะมีมายาวนานเป็นระยะๆ แต่ไทยก็ยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินมาได้โดยตลอด
“ด้วยความที่เงินบาทสามารถเอาชนะนานาอุปสรรคที่แม้แต่ค่าเงินสวิสฟรังก์ที่แข็งแกร่งก็ยังไม่เคยเจออะไรขนาดนั้น ผมจึงมองว่า เป็นการเหมาะสมแล้วที่จะกล่าวว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ดีที่สุดในโลก และเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษาที่ดี
Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"