แนะป้องการเมืองใช้เรียกคะแนนเสียง กรุงเทพธุรกิจ ผู้บริหารแบงก์รัฐ ชี้นโยบายการควบรวมกิจการไม่ใช่แนวทาง ที่แก้ไขปัญหาภาพรวมของแบงก์รัฐโดยเบ็ดเสร็จและยังทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ระบุ ทางแก้ไม่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองใช้กลไก
สินเชื่อเพื่อเรียกคะแนนเสียง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดลูกหนี้เปราะบางจำนวนมาก และทำให้เกิดความทับซ้อนในการดำเนินงาน ของแบงก์รัฐ
กรณีกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีข้อสรุปร่วมกันต่อ การศึกษาแนวทางการควบรวมกิจการแบงก์รัฐ หรือจัดตั้งเป็นโฮลดิ้งในอนาคต โดยธปท.ได้ให้เหตุผลหลายประการสำหรับการดำเนินงานแบงก์รัฐที่ยังหย่อนประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความเปราะบางของลูกหนี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสีย กระทบต่อภาพรวมการดำเนินงาน และทำให้รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนเงินทุนจำนวนมากทั้งในอดีตและอาจจะต้องใช้เงินเพิ่มทุนอีกมากในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน ปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่มีทับซ้อนกันมาก ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างแบงก์รัฐด้วยกันเอง และยังยากต่อการกำกับดูแล ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแบงก์รัฐในภาพรวมด้อยลง ดังนั้น กระทรวงการคลังควรกำหนดนโยบายที่จะจำกัดภารกิจหรือบทบาทของแบงก์รัฐให้ชัดเจน
หนึ่งในแบงก์รัฐที่ ธปท. มองว่า มีการทับซ้อนการดำเนินงานกับแบงก์รัฐแห่งอื่นมากที่สุดคือธนาคารออมสิน โดยมีการปล่อยสินเชื่อเกินขอบเขตพันธกิจ ยกตัวอย่างมีการ ปล่อยสินเชื่อบ้านที่ทับซ้อนกับธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ที่มีพันธกิจหลักในการปล่อยสินเชื่อบ้าน โดยธนาคารออมสินมีพอร์ตสินเชื่อบ้านวงเงินรวมถึง 3.78 แสนล้านบาท วงเงินกู้เฉลี่ยต่อราย 1.6 ล้านบาท ใกล้เคียงกับธอส.ที่มีวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ยต่อรายที่ 1.5 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินยังปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายเล็กที่ทับซ้อนกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีแบงก์ โดยมีสัดส่วนผู้กู้บุคคลธรรมดาในสัดส่วน 100% และ 85% ตามลำดับ ยอดสินเชื่อคงค้างบุคคลธรรมดาของ ธนาคารออมสินเฉลี่ยที่ 1.7 ล้านบาท มากกว่าเอสเอ็มอีแบงก์ที่ปล่อยกู้เฉลี่ย 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจรายใหญ่และทับซ้อนกับ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทยด้วย โดยมียอดสินเชื่อถึง 20% ขอฃพอร์ตสินเชื่อรวม
ออมสินชี้ควบกับแบงก์อื่นยาก
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารนับเป็น Universal bank ซึ่งให้บริการทางการเงินที่หลากหลายภายใต้พันธกิจ ธนาคารเพื่อสังคม ดังนั้นรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึง การปล่อยสินเชื่อจึงจำเป็นต้องมีความหลากหลาย
นอกจากนี้ ธนาคารยังถือเป็นหนึ่งในแบงก์รัฐที่เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการส่งผ่านนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ประสบปัญหาต่างๆในแต่ละช่วงของเศรษฐกิจ อาทิ ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด ธนาคารก็ต้องเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้ทุกภาคกลุ่มที่มีปัญหา โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ มักจะมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งทุน
"การดำเนินธุรกิจของธนาคารในปัจจุบันและที่ผ่านมา ถือว่า สอดคล้องหรือทำตาม นโยบายรัฐมาโดยตลอด บางช่วงนโยบาย ก็บอกให้เราช่วยปล่อยสินเชื่อบ้าน บางช่วงให้เราช่วยหนุนเอสเอ็มอี เราก็ทำหมด ดังนั้น จะบอกว่า เราทำเกินขอบเขตพันธกิจ ก็คง ไม่ได้"
นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่เราต้องเข้าไปดูแลลูกค้ากลุ่มเสี่ยง ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าแบงก์อื่นๆ ทำให้เรามีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่าแบงก์อื่น ดังนั้น การที่เราเข้าไปทำธุรกิจหรือปล่อยสินเชื่อ เชิงพาณิชย์ จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในส่วนที่ทำเพื่อสังคมได้
เขากล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่ยากจะให้ธนาคารออมสินไปควบรวมกิจการกับแบงก์ใด เนื่องจาก ธนาคารมีพ.ร.บ.การจัดตั้งที่ชัดเจน และมีทุนในการจัดตั้งเพียง 1 พันล้านบาทเท่านั้น หากจะต้องควบรวมจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลา
เผยแผนควบรวมถูกพับเมื่อ10ปีก่อน
แหล่งข่าวจากแบงก์รัฐ กล่าวว่า กรณีแผนการควบรวมแบงก์รัฐนั้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ได้เคยขอให้ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ไปศึกษาถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของแบงก์รัฐทั้งหมด โดยหนึ่งในแนวทางที่จะปรับปรุงการดำเนินงานของแบงก์รัฐได้ คือ การควบรวม กิจการของแบงก์รัฐบางแห่ง
ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์ได้เสนอว่า ควรมีการ ยุบรวมธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจและ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)เข้ากับธนาคารออมสิน เหตุผลคือเอสเอ็มอีแบงก์ในขณะนั้นเป็นแบงก์ที่มีปัญหาในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ ออมสินมีความแข็งแกร่ง และ ยังสามารถปล่อย สินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ ดังนั้นจึงเห็นควร ที่จะให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยดูแล
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติ แน่นอนว่า มีกระแสคัดค้านจากทั้งสองฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดการควบรวม ทั้งฝั่งธนาคารออมสินที่มีผลการดำเนินงาน ที่ดีและมีพนักงานจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีแบงก์ที่ถูกจัดตั้งจากการยุบเลิกกิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้กำกับดูแลในขณะนั้นก็ไม่ต้องการให้มีการควบรวม กิจการเช่นกัน ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวก็ถูกพับไป ขณะที่ปัญหาหนี้เสียที่สะสมจำนวนมาก ได้ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการอยู่หลายปี ปัจจุบันได้ออกจากแผนแล้ว
แนะแก้หนี้เปราะบางแทนควบรวม
สำหรับแผนการควบรวมกิจการแบงก์รัฐหรือการจัดตั้งเป็นโฮลดิ้งในครั้งนี้นั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะแต่ละแห่งก็มีภารกิจและบทบาทที่ชัดเจน แม้จะมีการปล่อยสินเชื่อที่มีการทับซ้อน กันบ้าง ก็เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ หากกระทรวงการคลังมีนโยบายที่ชัดเจนลงไป แต่ปัญหาความเปราะบางของลูกหนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ควรเป็นเรื่องที่ควรเร่งแก้ไขกว่าการควบรวมกิจการ
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากในการเข้าถึงแหล่งทุนของคน ระดับฐานราก ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการ ส่งผ่านนโยบายของพรรคการเมืองไปสู่คนกลุ่มดังกล่าว เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากคน กลุ่มใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกเช่นกันต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"ปัญหาความเปราะบางของลูกหนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ควรเป็นเรื่องที่ควรเร่งแก้ไขกว่าการควบรวมกิจการ"
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you