แบงก์ชาติ ชี้แจงการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ยืนยันแตกต่างจากปี 2540 ไม่ฟิกซ์ค่าเงิน ระบุค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน-ไม่ผันผวนรุนแรงจนกระทบธุรกิจ-ไม่ฝืนทิศทางตลาดเงินโลก
การันตีเสถียรภาพระบบการเงินไทยแข็งแกร่งกว่าอดีตมาก
วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานเรื่อง “เช็กสัญญาณเศรษฐกิจการเงินไทยซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?” ว่า ปัจจุบัน ธปท.ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) ไม่ได้กำหนดค่าเงินไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่ง
โดยดูแลค่าเงินให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่ผันผวนรุนแรงจนกระทบภาคธุรกิจ และไม่ฝืนทิศทางของตลาดการเงินโลก ซึ่งเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ใช้ระบบผูกค่าเงินบาทไว้กับตระกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate)
ทั้งนี้ หากดูค่าเงินบาท (บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 33.383 บาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 35.537 บาท เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มย้ำกุ้ง เงินบาทอ่อนค่าจาก 25 ไปอยู่ที่ 56 บาทในสิ้นปี 2540
และล่าสุดเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค จากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการเร่งขึ้นของดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแตกต่างจากปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยภายในประเทศ
หนี้ต่างประเทศต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง
ด้านเสถียรภาพต่างประเทศ พบว่าปัจจุบันฐานะด้านต่างประเทศแข็งแกร่ง ช่วยรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลก หนี้ต่างประเทศต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ซึ่งเพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
ทั้งนี้ หากดูเงินสำรองระหว่างประเทศ ไม่รวมฐานะล่วงหน้าสุทธิ (Forward) ปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2540 อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 2.6 เท่า เทียบปี 2540 อยู่ที่ 0.7 เท่า ส่วนหนี้ต่างประเทศ (% ของจีดีพี) ณ ไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 39% และปี 2540 อยู่ที่ 65%
ด้านสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลหลังจากภาคการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย และมีนโยบายเปิดประเทศ ขณะที่ภาคธุรกิจระมัดระวังการกู้เงินและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น
หากพิจารณาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) นับตั้งแต่ปี 2563 ขยายตัว -6.2% ปี 2564 ขยายตัว 1.5% โดยในปี 2565 คาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ 3.3% และในปี 2566 ขยายตัวที่ 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2538 ขยายตัว 8.1% ปี 2539 ขยายตัว 5.7% และในปี 2540 ขยายตัว -2.8% และในปี 2541 อยู่ที่ -7.6%
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด (% ของ GDP) ปี 2564 อยู่ที่ -2.1%
และคาดการณ์ปี 2565 อยู่ที่ -1.5% และปี 2566 คาดการณ์อยู่ที่ 0.9% เมื่อเทียบปี 2538 อยู่ที่ -8% และปี 2539 อยู่ที่ -8% และปี 2540 อยู่ที่-2% ทั้งนี้ หากดูอัตราส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทจดทะเบียน (D/E ratio) ณ ไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 0.7 เท่า และในปี 2540 อยู่ที่ 5 เท่า
ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน พบว่า ธปท.ได้พัฒนาแนวทางและยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องนับจากวิกฤตปี 2540 ทำให้สถาบันการเงินมีฐานะแข็งแกร่ง และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด-19
หากพิจารณาจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ NPL ratio ของสถาบันการเงิน ณ ไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 2.9% เมื่อเทียบกับปี 2540 อยู่ที่เกือบ 50% และหากดูเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ (BIS ratio) ณ ไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 19.8% และในปี 2540 อยู่ที่ประมาณ 9%
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you