SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยก้าวสู่ภาวะซบเซาเงินเฟ้อสูง (stagflation) คาดจีดีพีปี 65 โต 2.7% เงินเฟ้อ 4.9 %

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า EIC

ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 เป็น 2.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.2% จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9%
ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ทันค่าครองชีพ ขณะที่การเร่งตัวของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ตามการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อสถานการณ์การระบาดโควิดและการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมของภาครัฐ จะกระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่
สำหรับภาคธุรกิจจะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลง โดยมีแนวโน้มทยอยปรับราคาสินค้าทั่วไปเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภคมากขึ้นเป็นลำดับ และชะลอการลงทุนจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น
ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรปที่ชะลอลงกว่าคาดและปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (supply disruption) ที่รุนแรงขึ้น ในภาพรวม มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ที่ 6.1% ในปีนี้ แต่เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ
สำหรับภาคการท่องเที่ยว มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐที่ผ่อนคลายขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับการทยอยเปิดการเดินทางของหลายประเทศในแถบเอเชีย จะช่วยชดเชยการชะลอลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่ถูกกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนผลกระทบจากต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน ส่งผลให้ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 5.9 ล้านคน
ด้านตลาดแรงงาน การฟื้นตัวของภาคบริการตามทิศทางการเปิดเมืองจะส่งผลให้การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร และแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้นจากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก และปัญหาระยะยาวจากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง
ด้านผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและปัญหาแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ธุรกิจโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างและโรงแรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ประสบปัญหาการหาแรงงานและมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของธุรกิจ SME ให้เปราะบางมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าว จะทำให้ค่าจ้างจากการทำงานจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่รายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงานโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปรับลดลงกว่า 10%
ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังคงเผชิญปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาครัฐจึงยังควรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า การขาดดุลงบประมาณและสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดย EIC มองว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดานเช่นในช่วงที่ผ่านมา มีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติ คือ
(1) เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลักคือครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณมากกว่า โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง 20% แรกได้รับประโยชน์ในเชิงเม็ดเงินจากมาตรการนี้มากถึง 9.6 เท่าเทียบกับกลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุด
(2) การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณที่สูง ไม่ยั่งยืน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้ และ
(3) ในระยะยาว การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่สะท้อนต้นทุนต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากเกินไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนมาตรการโดยเน้น
(1) การบริหารราคาพลังงานในลักษณะ Managed Float คือ การทยอยปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืนทิศทางของราคาในตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว และ
(2) เสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุดแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนอย่างตรงจุด ควบคู่กับ
(3) การสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและยกระดับเสถียรภาพของระบบพลังงานในระยะยาว
ในภาคการเงิน EIC ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกรอบนโยบายการเงินที่ 1%-3% ในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจาก
(1) กนง. จะยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางมากกว่าเป้าหมายอื่น
(2) เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่และมีแนวโน้มปรับลดลงในปีหน้า และ
(3) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ในปัจจุบันจะเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจ SME จนอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้นมากจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน สำหรับค่าเงินบาทจะผันผวนในทิศทางอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลกระทบของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยมาอยู่ในระดับ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับตัวดีขึ้นตามภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
ในภาพรวม อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยระดับ GDP รายปี จะยังไม่กลับไปเท่าระดับของปี 2562 จนกระทั่งช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญ ความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่
(1) ราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าคาดจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาคู่กับเงินเฟ้อสูง (stagflation) ที่รุนแรงและเนิ่นนานขึ้น
(2) การชะงักงันของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่ง ทั้งจากนโยบาย Zero Covid ของจีนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าคาด กระทบต่อการส่งออกของไทย
(3) การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวและผันผวนมากขึ้น
(4) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศล่าช้าจากผลกระทบของสงครามและการระบาดโควิดรอบใหม่ และ
(5) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง
นิยามของ stagflation แบบดั้งเดิมคือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำบวกกับเงินเฟ้อที่สูง ถามว่าไทยเข้าสู่ภาวะ stagflation หรือยัง ต้องดูต้นเหตุของเงินเฟ้อ ซึ่งปกติจะมาจากปัจจัยลบด้านอุปทาน หมายถึง พลังงานหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการขาดแคลน จนราคาปรับสูงขึ้นมาก สถานการณ์ stagflation ในปัจจุบันต่างจากอดีตที่มาจากเศรษฐกิจดีมากมีความต้องการซื้อสูง ราคาน้ำมันจึงสูงหากเป็นแบบนั้นผลกระทบเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเพราะกำลังซื้อดี แต่สถานการณ์ปัจจุบันมาจากราคาน้ำมันสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยไม่ดีนัก ยังไม่สามารถกลับไปจุดเดิมก่อนเกิดโควิด 19 ซึ่งเข้าข่าย stagflation ในเบื้องต้นแล้ว แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่ต่ำหรือติดลบ แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดคือ 2.7 % และอัตราเงินเฟ้อที่ 4.9 % สูงกว่าในอดีต
“ผลของ stagflation จะทำให้กำลังซื้อลดลง รายได้ซบเซาทำให้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่มรายได้กลางถึงล่าง ระยะสั้นจะเห็นกำลังซื้อลดลง ดังนั้นภาครัฐอาจจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้”
อย่างไรก็ดีความเสี่ยงระยะต่อไปในสถานการณ์ stagflation อาจจะนำไปสู่ wage price spiral หรือ การเร่งตัวของค่าแรงในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง จนเกิดการส่งผ่านต้นทุนยังราคาสินค้า หากปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรทำให้เงินเฟ้อในอนาคตจะสูงมากๆ หรือจะทำให้เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องไปอีกหลายๆปีจะกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ธนาคารกลางหลายๆประเทศเริ่มกังวลในเรื่อง wage price spiral เช่น เฟด จึงได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอปัญหานี้ สำหรับประเทศไทยความเสี่ยง stagflation มีจริง ซึ่งความเสี่ยงด้าน stagflation จะมีผลต่อประเทศไทยค่อนข้างมากส่วนความเสี่ยงด้าน wage price spiral ยังมีข้อจำกัดอยู่
Source: การเงินธนาคารออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"