"เมด อิน ไทยแลนด์" จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าไทยคึก เอกชนเตรียมแห่ชิงเค้กมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี หลังได้แต้มต่อบริษัทต่างชาติ สภาอุตฯ จี้ผู้ประกอบการทั่วไทยเร่งยื่นขอรับรองเข้าร่วมโครงการ กลุ่มอุตฯเหล็กชี้ช่วยเพิ่มต่อหน้าผลิต จ้างงาน เคลื่อนเศรษฐกิจหมุนได้อีกหลายรอบ
จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าโลกเกิดความปั่นป่วนและขยายตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) จึงได้นำเสนอภาครัฐให้ช่วยผลักดันการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยขอให้ออกข้อกำหนดให้ส่วนราชการสนับสนุนและใช้สินค้าในประเทศเป็นหลัก ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ได้มีกฎหมายออกมารองรับชัดเจนแล้ว โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในกฎกระทรวงเรื่องกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับพัสดุที่ได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐก็สามารถทำได้ทันที ซึ่งตนจะได้เข้าไปดูรายละเอียดว่าจะต้องออกแนวทางกำกับในส่วนใดเพิ่มเติมหรือไม่
ด้านนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประกาศกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2564 แต่ยังรอแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมจากกรมบัญชีกลางที่คาดจะออกมาไม่เกินเดือนมีนาคม ระหว่างนี้ทางส.อ.ท.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ ส่งข้อมูลเพื่อยื่นขอรับรองรายการสินค้า เพื่อออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand : MiT) และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองเพื่อนำไปใช้แสดงคุณสมบัติสินค้า MiT กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้สินค้าที่จะได้ใบรับรอง MiT จะใช้หลักการเดียวกับอาเซียนคือ มีแหล่งกำเนิดสินค้า (Local Content) ที่เกิดในประเทศ 40% หรือมากกว่า ขณะสาระสำคัญส่วนหนึ่งของประกาศกฎกระทรวงฯกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ ส.อ.ท. ส่วนสำหรับงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็ก หรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด โดยสินค้าไทยที่เข้าร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐได้ให้แต้มต่อเหนือกว่าพัสดุที่ผลิตหรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยหากเสนอราคาสูงกว่าไม่เกิน 3% ให้จัดซื้อจากผู้ผลิตสัญชาติไทย
"โครงการ Made in Thailand จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าของไทย เพราะตลาดใหญ่มาก ในแต่ละปีรัฐบาลมีงบจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลักล้านล้านบาท โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่
จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในปีงบประมาณ 2562 ใช้งบกว่า 1.90 ล้านล้านบาท จำนวน 4.98 ล้านโครงการ ปี 2563 ใช้งบ 1.54 ล้านล้านบาท จำนวน 4.59 ล้านโครงการ ส.อ.ท.คาดปีนี้การใช้งบฯ จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีทั้งงานจัดซื้อ เช่น วัสดุสำนักงาน วัสดุครุภัณฑ์ทางการศึกษา วัสดุครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง วัสดุครุภัณฑ์ก่อสร้าง วัสดุครุภัณฑ์การเกษตร และอื่นๆ, งานจ้างก่อสร้าง เช่น จ้างก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคาร จ้างก่อสร้างหรือซ่อมด้านชลประทาน เป็นต้น และงานจ้างบริการ เช่น จ้างเหมางานรักษาความปลอดภัย จ้างเหมาบริการงานทำความสะอาด จ้างเหมางานผลิตและพิมพ์เอกสาร เป็นต้น
นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.กล่าวว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.กว่า 100 ราย ส่วนใหญ่ได้ยื่นขอรับรองสินค้า MiT หลายรายได้ผ่านการรับรองแล้ว ขั้นตอนไม่ยุ่งยากหากข้อมูลครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็สามารถได้รับการรับรองใน 1 สัปดาห์ มองว่าโครงการนี้จะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมภายใน ในการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ภาครัฐได้มากขึ้น ช่วยให้เกิดการจ้างงาน เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนได้อีกหลายรอบ
Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you