แบตเตอรี่ลิเทียมเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สามารถชี้ชะตารถ EV ว่าจะเกิดหรือดับได้เลย เพราะแบตฯ ลิเทียมคือแหล่งจ่ายพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นยานพาหนะแห่งอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน หลายคนคุ้นเคยกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังทั้ง
Tesla, Lucid Motor, Rivian, Audi, BMW, Mercedes-Benz, BYD, Great Wall, Nio, Xpeng พวกเขามีความเชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตเครื่องยนต์ที่ทรงสมรรถนะและตัวถังที่สวยงามโฉบเฉี่ยว ถ้าเป็นเมื่อก่อนพวกเขาคงรับจบทั้งออกแบบและผลิตทั้งเครื่องยนต์ ตัวถัง ห้องโดยสาร และ “ถังเก็บน้ำมัน”
แต่เมื่อโลกยุคใหม่คืบคลานเข้ามาด้วยความเร็วสูง การใช้พลังงานไฟฟ้าถูกนำเข้ามาทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม และโดยเฉพาะในรถยนต์ที่ไฟฟ้า 100% พบว่ากว่า 90% ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม เหตุผลเพราะว่าแบตเตอรี่ลิเทียมเป็นแบตเตอรี่ชนิดหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีพลังงานสูงและน้ำหนักเบา รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลและเร่งความเร็วได้เร็วกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดอื่น
ส่วนอีกประมาณ 10% ของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันแบบ 100% ใช้แบตเตอรี่ชนิดอื่นเช่น แบตเตอรี่ตะกั่วกรด แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม แบตเตอรี่นิกเกิล-โลหะไฮไดรด์ และแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน เพราะแบตเตอรี่พวกนี้มีราคาถูกกว่าแบตเตอรี่ลิเทียม ให้พลังงานต่ำกว่าและน้ำหนักมากกว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้จึงมีระยะทางวิ่งที่สั้นกว่าและเร่งความเร็วได้ช้ากว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม
ประเด็นที่จะมาชวนคุยกันในบทความนี้พูดถึงความสำคัญของแบตเตอรี่ลิเทียมกันอีกครั้งหลังจากที่เคยเขียนถึงไปแล้วในบทความ แบตฯ ลิเทียมไอออน Key factor ผู้กุมชะตาอนาคตรถ EV ที่ได้พูดถึงเรื่องความสำคัญและส่วนประกอบของแบตฯ ลิเทียมว่า ในแบตเตอรี่แบบลิเทียม 1 ก้อนนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วแต่ละส่วนประกอบนั้นใครถือครองความได้เปรียบเพราะเป็นเจ้าของทรัพยากรการผลิต บทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึงประเทศผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมเบอร์ 1 ของโลกอย่างจีน แล้วในสมการ ผู้ผลิตรถยนต์+ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม = รถยนต์ EV ถึงเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มี “จีน”
ใครเป็นใครในวงการแบตเตอรี่ลิเทียม
5 ประเทศที่ผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ลิเทียมมากที่สุดในปี 2023
จีน มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 70%
เกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10%
ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 5%
สหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 3%
เยอรมนี มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 2%
นอกเหนือไปจาก 5 ประเทศนี้ ประเทศที่มีการผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ลิเทียมอีก 10% ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี โปแลนด์ และตุรกี ประเทศเหล่านี้มีปริมาณแร่ลิเทียมสำรองอยู่จำนวนมาก และกำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมในประเทศของตัวเอง ทั้งยังได้รับการคาดหมายว่าประเทศเหล่านี้จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า
การผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ลิเทียมทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า สาเหตุหลักมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียมเป็นแบตเตอรี่ชนิดหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยมลพิษ
การเติบโตของการผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ลิเทียมจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีทรัพยากรแร่ลิเทียม แม้แต่ประเทศไทยที่มีแร่ลิเทียมสำรองอยู่จำนวนมาก และรัฐบาลไทยได้ประกาศแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมในประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม 100,000 ตันต่อปีภายในปี 2030
โลกของการผลิตแบตเตอรี่ที่มี ‘จีน’ เป็นผู้นำ
รู้หรือไม่ ว่าบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมที่ใหญ่สุดในโลกในมิติของกำลังการผลิตคือ บริษัทที่มีชื่อว่า Contemporary Amperex Technology Co., Ltd. หรือที่คนในวงการรู้จักกันในชื่อ CATL ตั้งอยู่ในเมือง หนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน
CATL ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 100 GWh ต่อปี CATL เป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมรายแรก ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเซลล์โมดูลาร์ ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูง CATL เป็นผู้จัดหาแบตเตอรี่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่หลายราย เช่น Tesla, Volkswagen, BMW และ Toyota
นอกจากนี้ สัดส่วนในการครองส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ดังต่อไปนี้
จีน CATL, BYD, Guoxuan, Lishen, EVE Energy
เกาหลีใต้ LG Energy Solution, Samsung SDI
ญี่ปุ่น Panasonic
สหรัฐอเมริกา Tesla,Northvolt
หลายคนอาจจะเข้าใจว่า บริษัทสัญชาติจีนถือครองความยิ่งใหญ่ในตลาดแบตฯ ลิเทียมของโลกและมีสาขาโรงงานแค่ในจีนเท่านั้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมจะกระทำโดยบริษัทของประเทศนั้น ๆ และเกิดขึ้นนอกประเทศจีน แต่บริษัทจีนก็มีอำนาจเหนือห่วงโซ่อุปทานอยู่ดี
แล้วจีนเข้าไปมีส่วนกับอุปทานการผลิตแร่ได้อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อน ในแบตเตอรี่ลิเทียม 1 ก้อนนั้น แร่ที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ‘ลิเทียม’ และ ‘นิกเกิล’
เริ่มจาก ‘ลิเทียม (Li)’ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบหลักในแบตเตอรี่แบบลิเทียม เพราะลิเทียมเป็นโลหะเบาที่มีน้ำหนักอะตอมต่ำมาก ซึ่งทำให้แบตเตอรี่ลิเทียมมีน้ำหนักเบาและพกพาสะดวก นอกจากนี้ยังเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งทำให้แบตเตอรี่ลิเทียมมีพลังงานสูงมาก
ทีนี้แหล่งแร่ลิเทียมที่สำคัญ 5 อันดับแรกของโลกและบริษัทที่ทำเหมืองแร่ ปรากฏตามข้อมูลดังต่อไปนี้
จะเห็นว่า การจัดหาอุปทานแร่สำคัญ 2 ชนิดมีความสำคัญมากสำหรับผู้ผลิตแบตฯ ลิเทียมทั่วโลก เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณแร่ ‘ลิเทียม’ ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในปี 2022 มาจากออสเตรเลียและชิลีถึง 30% และมาจากจีน 15% ส่วน ‘นิกเกิล’ มาจากอินโดนีเซียสูงถึง 48% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ที่ 10% และออสเตรเลียที่ 5%
เราจะเห็นว่าในห่วงโซ่อุปทานลิเทียมมีบริษัทสัญชาติ ‘จีน’ อยู่ในนั้นด้วยเสมอ ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท Ganfeng Lithium ร่วมทุนกับบริษัท Livent (อาร์เจนตินา) เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในสหรัฐฯ
บริษัท Tianqi Lithium ร่วมทุนกับบริษัท Albemarle (โบลิเวีย) เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในออสเตรเลีย
Chengdu Tianqi Lithium Industry ร่วมทุนกับ Yacimientos Potasios Bolivianos (YPFB) เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในโบลิเวีย
ถัดมา แร่ที่สำคัญอีกชนิดนั่นก็คือ ‘นิกเกิล (Ni)’ เนื่องจากนิกเกิลมีความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้าได้สูงทำให้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีพลังงานสูง นอกจากนี้ นิกเกิลยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และทำให้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
ในส่วนของ 5 ประเทศที่มีปริมาณสำรองแร่นิกเกิลมากที่สุด ได้แก่
ไม่ต่างกันกับลิเทียม แต่นิกเกิลเองก็มีบริษัทสัญชาติ ‘จีน’ เข้าไปร่วมทุนด้วยอีกเช่นเคย ได้แก่
PT Aneka Tambang (ANTAM) (อินโดนีเซีย) ร่วมทุนกับ China Molybdenum Co., Ltd.
Nickel Asia Corporation (ฟิลิปปินส์) ร่วมทุนกับ China Nonferrous Metal Mining Group Corporation
BHP Billiton (ออสเตรเลีย) ร่วมทุนกับ Tsingshan Holding Group
Glencore (ฟิลิปปินส์) ร่วมทุนกับ Jinchuan Group
Vale (บราซิล) ร่วมทุนกับ Ningbo Fubang Group
จะเห็นว่าประเทศที่มีการผลิตและส่งออกแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซีย ก็มีบริษัทจีนเข้าไปร่วมทำธุรกิจด้วย ดังนั้น ไม่จำเป็นเลยว่าที่จีนเป็นประเทศที่กุมและกำหนดชะตาของแบตเตอรี่ลิเทียมของโลกนั้นเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริง
ทำไมประเทศที่มีทรัพยากรที่ใช้ผลิตแบตฯ ลิเทียมถึงต้องมีจีนอยู่ในสมการด้วย
บริษัทที่ได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมซึ่งอยู่ในส่วนของต้นน้ำ (บริษัททำเหมืองแร่) นั่นคือกระบวนการในการขุดเจาะและสกัดเอาเฉพาะแร่ที่จำเป็นต่อการผลิตแบตฯ ลิเทียมเท่านั้น หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมบริษัทในประเทศที่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตแบตฯ ลิเทียมจึงต้องไปร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติจีน นี่คือคำตอบ
1. เพราะจีนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ความต้องการแร่สำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมของจีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. เพราะบริษัทสัญชาติจีนมีเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่สูงในการทำเหมืองและแปรรูปลิเทียมและนิกเกิล นอกจากนี้ จีนยังทุ่มเงินลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำเหมืองและแปรรูปแร่
3. บริษัทสัญชาติจีนมีเครือข่ายที่กว้างขวางในการจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียม
4. บริษัทสัญชาติจีนมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
เอาเฉพาะข้อที่ 2 และข้อที่ 4 ก็เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอให้ร่วมทุนแล้ว เพราะต้นทุนในการทำเหมืองแร่แต่ละเหมืองนั้นสูงมาก ทั้งยังต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการขุดเจาะและสกัดสินแร่ที่สำคัญ ดังนั้น การร่วมทุนระหว่างบริษัทสัญชาติจีนกับบริษัทผู้ผลิตแร่สำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม จะช่วยให้ประเทศผู้ผลิตแร่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่สูงของจีน
อเมริกา ‘คิด’ และ ‘ทำ’ อย่างไรกับเรื่องนี้
อเมริกากำลังเริ่มดำเนินการเจรจาทางการค้ากับ ‘บางประเทศ’ เพื่อเข้าถึงแร่ที่สำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมและชิ้นส่วนที่สำคัญต่อการผลิตรถ EV พร้อมทั้งเสนอเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลให้กับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ผ่านทาง ‘กฎหมายการลดอัตราเงินเฟ้อ’ หรือ Inflation Reduction Act
โดยในรายละเอียดเงื่อนไขในกฎหมายดังกล่าวบางส่วนระบุว่า เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเงินอุดหนุนมูลค่า 7,500 ดอลลาร์ต่อคันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะถูกผลิตขึ้นมาใหม่ ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับ ‘สัดส่วนที่มาของแหล่งแร่ที่ใช้ผลิตแบตฯ และถ้าจะใช้แบตเตอรี่ทั้งก้อนเพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องผลิตในอเมริกาหรือประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีน” และต้องเป็นประเทศที่อเมริกามีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วยเท่านั้น พูดกันตรง ๆ ก็คือว่า อเมริกาไม่เอาจีน ส่วนถ้าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใดอยากใช้แบตฯที่มีบริษัทจีนมีส่วนร่วมก็ย่อมได้ แต่คงอดได้รับเงินอุดหนุนการผลิต
จีนไม่เพียงแต่มีอิทธิในด้านการผลิต แต่มีอิทธิพลครอบงำห่วงโซ่อุปทาน
อินโดนีเซีย ในฐานะประเทศที่มีแร่นิกเกิลสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่ประมาณ 21 ล้านตัน แต่กลับผลิตนิกเกิลได้เพียงปีละ 1.6 ล้านตัน สวนทางกับปริมาณความต้องการที่ 2.7 ล้านตันต่อปี เพื่อนำไปใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2035 ซึ่งกระบวนการที่ยากที่สุดที่ทำให้อินโดฯ ยังผลิตนิกเกิลได้น้อยอุปสรรคอยู่ที่ ‘การแปรรูป’ และประเทศที่มีทรัพยากรทั้งความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเงินทุน ก็หนีไม่พ้น ‘จีน’
ข้อมูลจีนถลุงและแปรรูปนิกเกิลประมาณ 3 ใน 4 ของนิกเกิลที่ใช้ทั้งหมดในโลกใบนี้ นอกจากนี้ จีนยังแปรรูปลิเทียมคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของปริมาณลิเทียมทั้งหมดในโลก
ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเฉพาะปริมาณลิเทียม และ นิกเกิลที่ถลุงและแปรรูปในจีนเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีการแปรรูปแร่ทั้ง 2 ชนิดอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกแปรรูปนอกประเทศจีนผ่านทางบริษัทในประเทศนั้น ๆ ที่ร่วมทุนบริษัทสัญชาติจีน
PT Halmahera Persada Lygend , PT QMB New Energy Materials in Morowali และ PT Indonesia Morowali Industrial Park in Morowali, Central Sulawesi เป็นโรงงานสามแห่งในอินโดนีเซียใช้วิธีการในการสกัดการชะล้างด้วยกรดแรงดันสูง ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นสูงที่สกัดนิกเกิลออกจากแร่โดยไม่ทำให้หลอมเหลว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นเทคโนโลยีของจีน เพราะทั้ง 3 โรงงานนี้อยู่ภายใต้บริษัทที่ร่วมทุนกับจีน
ขนาดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่ในอเมริกาอย่าง Ford (ของ GM) ยังต้องหันมาจับมือกับบริษัทสัญชาติจีน เพื่อรักษาระดับอุปทานของนิกเกิล โดยร่วมทุนกับบริษัทที่ทำเหมืองสัญชาติจีนชื่อว่า Huayou Cobalt เพื่อลงทุนในโรงงานแปรรูปนิกเกิลของอินโดนีเซีย
อีกทั้ง Ford กำลังเผชิญแรงเสียดทานทางการเมืองในประเทศบ้านเกิดจากการร่วมทุนกับ CATL ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมรายใหญ่ของโลกบริษัทสัญชาติจีน เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมแห่งใหม่ในอเมริกา โดยโรงงานแห่งนี้จะผลิตทั้งแบตเตอรี่จากนิกเกิลและลิเทียม
การเพิ่มขึ้นของบทบาทของบริษัทผลิตแบตเตอรี่และเหมืองสัญชาติจีนในช่วงหลังมานี้ ไม่ได้เป็นเพียงผลจากความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมที่จีนเก่งเรื่องนี้อยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังยังสะท้อนถึงความสามารถในการยืดหยุ่นและพร้อมรับความเสี่ยง
เมื่อเทียบกับบริษัทสัญชาติตะวันตกที่มีอยู่ไม่มากที่เชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองแร่และการแปรรูปนิกเกิล และส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เวลาหมดไปกับการทำการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบมากกว่า
นอกจากนี้ บริษัทจีนยังครองส่วนแบ่งส่วนมากในการผลิตชิ้นส่วนประกอบแบตเตอรี่ด้วย ในบรรดาส่วนประกอบสำหรับเซลล์แบตเตอรี่ จีนมีสัดส่วนการผลิตอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และมากกว่า 70% ในบางประเภท ส่วนที่เหลือของอุตสาหกรรมก็กระจุกตัวอยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ถ้านับรวมกันระหว่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น 3 ประเทศนี้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 92% แม้ว่าอเมริกาจะสามารถจัดหาแร่แปรรูปได้อย่างเพียงพอ แต่การจะก้าวขึ้นไปสู่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมเบอร์ 1 ของโลก จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในการผลิตแบตเตอรี่ของเกาหลีและญี่ปุ่นมาช่วยสนับสนุนให้ความทะเยอทะยานนี้เป็นจริง
LG Energy Solution ของเกาหลีใต้ เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อันดับ 2 รองจาก CATL ก็กำลังขยายธุรกิจเข้าไปในอเมริกา โดยอยู่ระหว่างการร่วมทุนกับ Hyundai, Honda และ General Motors (GM)
LG ตั้งเป้าที่จะผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุขนาด 278 กิกะวัตต์ชั่วโมงในอเมริกาภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่จุได้เพียง 13 กิกะวัตต์ชั่วโมง แต่ทางด้านของ Kim Myung Hwan ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทก็ออกมาเบรกความคาดหวังและความฝันของคนที่รอแบตฯ แบบใหม่ที่ความจุเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 21 เท่า ว่าต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ และความผันผวนของราคาวัสดุที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการผลิตแบตเตอรี่ความจุขนาดนั้น
ผู้ผลิตในเอเชียบางรายกังวลว่าต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ในต่างประเทศอาจสูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ในช่วงระยะเวลาหลายปีต่อจากนี้
ฮิเดโอะ โออุจิ ผู้อำนวยการ W-Scope บริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตตัวแยกที่ใช้ในเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมบอกว่า “มันสำคัญมากที่เราจะต้องคิดถึงวิธีที่ทำให้ธุรกิจของเราสามารถทำกำไรได้อีกใน 10, 15 หรือ 20 ปีข้างหน้า” ประมาณการว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 อเมริกาเพียงแห่งเดียวจะต้องใช้วัสดุแยกแบตเตอรี่มากพอ ๆ กับที่ผลิตทั่วโลกในปี 2021
การขยายห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับความต้องการในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจำนวนมหาศาลถือเป็นหนึ่งในความท้าทายทางอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนประกอบแบตฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา อีกทั้งปัญหาคอขวดในด้านทรัพยากรการผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบันจะยิ่งทำให้เรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก หากไม่มีประเทศที่มาตรการส่วนใหญ่ครอบงำอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อาจเป็นไปไม่ได้
: Marketeer Team
Source: marketeeronline
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you