จับชีพจรเศรษฐกิจโลก หลังวิกฤติแบงก์ล้ม

สถานการณ์สู้รบยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการใช้มาตรการดอกเบี้ยแพงแบบต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งให้เศรษฐกิจโลกก้าวสู่ปี 2023 อย่างอิดโรย สำนักพยากรณ์ทุกแห่งแทบจะไม่มีรายไหนกล้าชี้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะสดใสกว่าปี 2022

ซึ่งมีอัตราการขยายตัวราว 3.2% การทำนายเศรษฐกิจโลก 2023 ล่วงหน้า ที่ดูเข้มแข็งสุด น่าจะประมาณ 3.0%
แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเงินการธนาคารของสหรัฐฯและสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันและสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก เพราะธนาคารขนาดกลางสหรัฐฯต้องปิดฉากลงพร้อมกันถึง 2 แห่ง ได้แก่ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank และในเวลาไล่เลี่ยกัน Credit Suisse ธนาคารชั้นนำอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็จำเป็นต้องโดนควบรวมกิจการโดยแบงก์ยักษ์คู่แข่ง UBS อย่างจนตรอก เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินการธนาคารและเศรษฐกิจโลก
ถึงแม้ทางการของสหรัฐฯและสวิตเซอร์แลนด์ สามารถควบคุมวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผลกระทบไม่ลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ และประคับประคองความเชื่อมั่นของประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนบางกลุ่มเริ่มไม่มั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะขยายตัวตามที่คาดไว้ และเริ่มหวั่นวิตกว่าเศรษฐกิจอาจเผชิญสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นภาวะถดถอย (Recession) อีกด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากการช่วยเหลือในภาคธนาคารของสหรัฐฯ อาจเป็นแค่การประวิงเวลา ไม่ได้สะสางปัญหาอย่างจริงจัง และธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐฯก็มีจำนวนหลายพันแห่ง ซึ่งมีโอกาสที่จะซุกซ่อนปัญหาในลักษณะคล้ายคลึงกับ SVB และ Signature Bank
ยิ่งไปกว่านั้น การตรวจสอบแก้ไขปัญหาของแบงก์ระดับภูมิภาคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ จะมีนักการเมืองในพื้นที่คอยสนับสนุน และมีพลังสำคัญในรัฐสภาด้วย ดังนั้น หน่วยงานกลางสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ผู้คุมกฎระบบการเงินการธนาคาร และ ธนาคารกลาง (Federal Reserve : Fed) จะปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับธนาคารระดับท้องถิ่น จึงยุ่งยากและต้องใช้เวลาการดำเนินการอย่างรอบคอบ
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนและนักวิเคราะห์บางกลุ่ม จึงเกรงว่าวิกฤติแบงก์สหรัฐฯอาจยังไม่ยุติแท้จริง แต่สงบเพียงชั่วคราว มีโอกาสปะทุอีก และส่งผลเสียหายแก่เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่กลัวว่าจะยังเป็นชนวนกระตุ้นวิกฤติแบงก์ก็คือ การใช้มาตรการการเงินเข้มงวดต่อเนื่อง โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารระดับภูมิภาคอย่าง SVB และ Signature ประสบปัญหารุนแรง ก็มาจากการที่ Fed เพิ่มอัตราดอกเบี้ย มีส่วนทำให้ราคาหลักทรัพย์ลดลง ซึ่งรวมถึง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ดังนั้น เมื่อ SVB และ Signature ต้องการระดมเงินทุน เพื่อจ่ายแก่ผู้ฝากเงินที่ต้องการถอนเงินคืน จึงจำเป็นต้องขายหลักทรัพย์เหล่านั้นในราคาที่ต่ำกว่าช่วงที่ธนาคารลงทุนซื้อเมื่อหลายปีก่อน จึงทำให้ธนาคารทั้งสองประสบภาวะขาดทุน และขาดสภาพคล่องร้ายแรง
รายงาน Global Financial Stability Report ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ระบุว่า การที่แบงก์ SVB และ Signature ต้องปิดกิจการเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดของ Fed ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ได้ส่งผลให้ระดับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อยู่ในระดับเกือบ 0% เพิ่มเป็นลำดับมาอยู่ที่อัตราเกือบ 5%
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานยังประเมินว่า ราว 9% ของธนาคารสหรัฐฯที่มีมูลค่าสินทรัพย์ระหว่าง 10,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ อาจมีเงินกองทุนเป็นมูลค่าต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น หากมีการนำพันธบัตรรัฐบาลหรือหลักทรัพย์อื่นที่ลงทุนไว้ออกมาขายและบันทึกผลขาดทุน ย่อมส่งผลเสียหายต่อเงินกองทุนของธนาคารเหล่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม IMF ไม่ได้ตำหนิ Fed เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือว่าเป็นมาตรการสำคัญที่จะสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งสหรัฐฯเผชิญหนักหน่วงในรอบปีที่แล้ว โดยมีอัตราเงินเฟ้อแตะระดับราว 9% เมื่อกลางปี 2022 สูงสุดในรอบ 40 ปี อีกทั้ง IMF ยังเห็นด้วยที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% หลังวิกฤติแบงก์ล้ม เพราะเป็นการสะท้อนให้นักลงทุนเห็นว่าอัตราดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือของ Fed ที่จะปราบเงินเฟ้อ
ส่วนปัญหาภาคธนาคารก็มีเครื่องมือการเงินและมาตรการอื่นๆ ช่วยแก้ไขต่อไป อีกทั้งสาเหตุของปัญหา SVB และ Signature ก็ไม่ได้มาจากด้านอัตราดอกเบี้ยสูงเพียงประการเดียว แต่ยังเป็นความบกพร่องด้านการบริหารจัดการของธนาคารอีกด้วย
เงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอ…คลายกังวลดอกเบี้ยแพง?
สถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯคลี่คลายเป็นลำดับ รายงานล่าสุดเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 5% นับเป็นอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี เทียบกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่อัตรา 6% ทั้งนี้ รายงานเงินเฟ้อได้ช่วยผ่อนคลายความหดหู่เกี่ยวกับค่าครองชีพของผู้บริโภคสหรัฐฯ และยังทำให้นักลงทุนมองว่า Fed น่าจะหยุดการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ในเร็วๆ นี้ หากแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น หาก Fed ยุติการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ก็น่าจะช่วยให้ความหวาดกลัวในประเด็นวิกฤติแบงก์สหรัฐฯลดน้อยถอยลง แต่น่าเสียดาย Fed ยังคงสงวนท่าทีว่าจะระงับมาตรการการเงินเข้มงวดในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมีนาคมในรายละเอียด จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาอาหารและเชื้อเพลิง ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ และมีสาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนภาคบริการ
แตกต่างจากช่วงแรกๆ ที่มีสาเหตุมาจากห่วงโซ่อุปทานหลังโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานและอาหารสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ได้บรรเทาลงแล้ว แต่ปัญหาด้านต้นทุนภาคบริการ เช่น ค่าเช่า ค่าบริการรับจ้างและอื่นๆ ค่าประกัน ค่าดูแลเด็ก ฯลฯ ได้ปรับสูงขึ้นมาตลอด
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในระดับเฉลี่ย 5% ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ Fed วางไว้ที่ระดับ 2% ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงคาดว่า Fed น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกราว 0.25% ในช่วงต้นพฤษภาคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยทางการอยู่เหนือระดับเฉลี่ย 5%
เป็นที่น่าสังเกตว่า การตัดสินใจของ Fed ในระยะนี้ มีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง Fed จะพิจารณาปัจจัยด้านตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงานเป็นหลัก แต่ระยะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯประจำภูมิภาคต่างๆ ได้ระบุว่า Fed ควรคำนึงถึงสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นลำดับ
เมื่ออัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับสูง ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจชะลอการกู้ยืมเพื่อการใช้จ่ายและการลงทุนลง อีกทั้งวิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้น ก็มีส่วนทำให้สถาบันการเงินหันมาเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อต่างๆ เพื่อระมัดระวังความเสียหายจากเงินกู้เหล่านั้น ที่อาจบั่นทอนเงินกองทุนของธนาคาร
และจากการสำรวจความคิดเห็นของภาคการธนาคารสหรัฐฯหลังวิกฤติแบงก์ พบว่า ธนาคารได้เพิ่มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเกือบทุกแขนง และกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะชะลอตัวลงจนอาจถึงขั้นถดถอยได้ เนื่องจากธุรกิจขนาดย่อมจำนวนมาก เริ่มมีผลประกอบการทรุดลง เพราะสาเหตุจากอัตราดอกเบี้ยแพง และขาดแคลนสินเชื่อ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถือว่าเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของสหรัฐฯ
การใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งในสหรัฐฯและประเทศต่างๆ เพื่อกดเงินเฟ้อต่ำลง ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งในสหรัฐฯและประเทศเหล่านั้น ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตธนาคารในสหรัฐฯและยุโรป ก็ยิ่งซ้ำเติมเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้น
เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ แต่ไม่ถดถอย
ธนาคารชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯและยุโรป เช่น JPMorgan, Goldman Sachs, Citigroup, Deutsche Bank และ UBS ฯลฯ ต่างมีความเห็นไปในทิศทางคล้ายคลึงกัน ที่ว่าวิกฤตแบงก์ในสหรัฐฯและยุโรป ได้ส่งผลกระทบเบื้องต้นต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง แต่ไม่ร้ายแรงนัก และมีผลการศึกษาเกี่ยวกับความไม่มั่นใจของผู้คนต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจมาแล้ว เช่น ในช่วงวิกฤติการเงินโลก 2007-2008 ปรากฏว่าสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจโลกหดหายจากอัตราที่ควรจะเป็นประมาณ 0.5% ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกก่อนเกิดวิกฤตแบงก์ล้ม คาดไว้ว่าจะเติบโตราว 3.0% ในปีนี้ ก็จะเหลืออัตราเติบโตราว 2.5% เมื่อรวมผลกระทบความไม่มั่นใจของผู้คนหลังวิกฤติธนาคารสหรัฐฯและยุโรป
แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเกี่ยวกับอุบัติเหตุการเงินการธนาคารล่าสุด พบว่า ประชาชนและภาคธุรกิจในสหรัฐฯและยุโรป มีความตื่นตระหนกไม่ยาวนาน เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากผู้คนเห็นว่าทางการสหรัฐฯและยุโรป สามารถควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็ว และ พยายามออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน จึงช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นว่าทางการคงปกป้องฐานะการเงินและธุรกิจต่างๆ เต็มที่ เช่น มาตรการช่วยเหลือของสหรัฐฯมีระยะเวลาครอบคลุมไปจนถึงเดือนมีนาคม 2024
ด้วยเหตุนี้ วิกฤติแบงก์ในสหรัฐฯและยุโรป ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้คนและธุรกิจ จึงไม่ยาวนาน และ คาดว่าส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่มากนัก
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผลการสำรวจหลังวิกฤติแบงก์ครั้งนี้ พบว่า ตลาดเครดิตเงียบเหงา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ เช่น ช่วงวิกฤติการเงินโลก 2007-2008 ปรากฏว่าการกู้ยืมหรือการระดมทุนเพื่อกิจการต่างๆ เหือดหายไปหมด ผลที่ตามมา ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตอนนั้นเชื่องช้าอย่างมาก
แต่สำหรับกรณีเหตุการณ์แบงก์ล้มที่ผ่านมา ตลาดเครดิตกระเตื้องขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะไม่มีการออกหุ้นกู้ของภาคธุรกิจ เพื่อระดมทุนก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงปกติในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 จะมีการออกหุ้นกู้เฉลี่ยวันละ 5,000 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อทางการสหรัฐฯเข้าควบคุมวิกฤตได้เรียบร้อย ก็เริ่มมีการออกหุ้นกู้อีกครั้ง อาทิ บริษัทผู้ผลิตวิสกี้ Jack Daniel เป็นต้น
ในแง่การกู้ยืมเงินในสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯและยุโรป มีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เพราะแบงก์ต่างๆ พยายามรักษามาตรฐานการกู้ยืมให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอลง แต่ในขณะเดียวกัน ความต้องการสินเชื่อก็ลดลงด้วย เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยสูง นักวิเคราะห์จากแบงก์ชั้นนำชี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกลดลงอีกราว 0.4%
ดังนั้น เมื่อรวมผลเสียหายที่เกิดจากวิกฤติแบงก์ล้มครั้งนี้ทั้งหมด ในแง่ความไม่มั่นใจของคนและการชะลอตัวของเครดิต จะพบว่า ได้ฉุดให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงกว่าเดิมไม่ถึง 1% หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตได้ประมาณ 2.0-2.5% ในปี 2023 ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤตแบงก์ล้มครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างที่หวาดกลัว
จีนพยุงเศรษฐกิจโลก 2023
ธนาคารโลกและ IMF เห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่เริ่มกระเตื้องขึ้น หลังจากเปิดประเทศ ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แม้ว่าการฟื้นตัวของจีนยังไม่สม่ำเสมอก็ตาม ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมาย โดยเติบโตราว 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ยังมีผลทำให้กูรูเศรษฐกิจหลายสำนักปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนตลอดปีนี้ น่าจะขยายตัวราว 5-6% เทียบกับอัตราเติบโตที่ทางการจีนกำหนดไว้ในปี 2023 อยู่ที่ระดับ 5%
ยิ่งไปกว่านั้น บรรดานักลงทุนต่างประเทศ ได้มีการประเมินสถานการณ์การลงทุนหลังจากวิกฤติแบงก์ล้ม ปรากฏว่า จีนได้กลายเป็นเป้าหมายแหล่งลงทุนประกันความเสี่ยงอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งๆ ที่ช่วงปีที่ผ่านมา นักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่าการที่จีนดื้อดึงใช้มาตรการ Zero-Covid ส่งผลให้จีนหมดเสน่ห์ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งความตึงเครียดกับสหรัฐฯและชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายการลงทุนออกจากจีน เพราะหวั่นวิตกเกี่ยวกับการที่จีนอาจโดนกีดกันทางการค้าสารพัดรูปแบบจากชาติตะวันตก ซึ่งจะส่งผลบั่นทอนแก่เศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศจีน ที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจก็มีให้เห็นชัดเจน เช่น ความอึมครึมของภาคอสังหาริมทรัพย์ การแทรกแซงภาคธุรกิจของรัฐบาล รวมถึงความอ่อนแอของภาคการธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารระดับท้องถิ่น เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศ เห็นว่า ปัจจัยลบเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนตระหนักอยู่แล้ว และพร้อมรับมือทันที เนื่องจากทางการจีนคงไม่ยอมที่จะให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ต้องหยุดชะงัก เพราะความไม่มั่นใจของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ การที่ทางการจีนพร้อมที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้นักลงทุนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนอีกครั้ง เมื่อเทียบกับแหล่งลงทุนอื่นๆ
สำหรับปัจจัยบวกที่ปรากฏชัดเจน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อจีนยกเลิกมาตรการ Zero-Covid ส่งผลให้การบริโภคของชาวจีนคึกคัก หลังจากถูกปิดกั้นมานาน รวมถึง การเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ได้ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกแขนง ในขณะเดียวกัน การล็อกดาวน์ประเทศยาวนาน ได้ช่วยกดดันภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ เพราะการการใช้จ่ายในช่วงนั้นลดน้อยลง และถึงแม้จีนได้เปิดประเทศแล้ว แต่ระดับอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำประมาณ 1% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กลับคืนมาโดยเร็ว เนื่องจากจีนตระหนักดีว่าความก้าวหน้ามั่นคงทางเศรษฐกิจ จะเป็นแรงดึงดูดให้ชาติพันธมิตรที่เคยหายหน้าหายตา ได้กลับมากระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงมั่นใจว่าทางการจีนได้มีเป้าหมายสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งให้แก่ประเทศอย่างจริงจัง จึงน่าจะทำให้จีนได้กลับมาเป็นทางเลือกแหล่งลงทุนในสายตาต่างชาติอีกครั้ง ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ของโลก
Source: การเงินธนาคารออนไลน์


Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"