ส่องแบงก์ไทยปี 66 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเงินไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย (แบงก์ไทย) จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองและภาษี) เติบโตจากปีก่อน 12.4% มาที่ราว 4.5 แสนล้านบาท สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อ

ซึ่งหากผนวกกับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากปีก่อน ที่มีการตั้งสำรองฯ เชิงรุกแล้ว คาดว่าระบบแบงก์ไทยจะมีกำไรสุทธิประมาณ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 34%
หากมองต่อไปในปี 2566 แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงหนุนจากการท่องเที่ยว แต่ก็ยังถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในมิติของประเภทธุรกิจ หรือขนาดของธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะให้ภาพการฟื้นตัวที่ระมัดระวังเช่นกัน ขณะที่จุดจับตาหลักจะมีหลายเรื่อง ซึ่งกระทบต่อภูมิทัศน์ของการทำธุรกิจ และการแข่งขัน (Financial Landscape) ดังนี้
1. ภูมิทัศน์ที่ธุรกิจหลักจะเติบโตในกรอบจำกัด
- สินเชื่อขยายตัวในกรอบระมัดระวัง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในปี 2566 จะเติบโตในกรอบจำกัดราว 4.2-5.2% (ค่ากลาง 4.7%) เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโต 5.0% ตามผลของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และผลของมาตรการให้ความช่วยเหลือที่หมดลง ขณะที่สินเชื่อที่นำการเติบโตจะมาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่มีความสามารถในการรับมือกับต้นทุนการดำเนินงานที่ยังเพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจ ทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สุขภาพ การส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม และค้าปลีก น่าจะให้อานิสงส์เชิงบวกกับผู้ประกอบการรายใหญ่และกลางมากกว่า ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 20 ล้านบาท ยังไม่ฟื้นตัวดีจากโควิดรอบก่อน สำหรับสินเชื่อรายย่อยปีหน้า น่าจะคงอัตราการเติบโตเท่ากับปี 2565 ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง
- สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อาจไม่ลดลง โดยคาดการณ์ว่า NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ (ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยและธนาคารต่างชาติ) ณ สิ้นปี 2566 น่าจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% เทียบกับ 2.65-2.75% ที่คาดไว้ ณ สิ้นปี 2565 ทั้งนี้ นอกจากธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว แรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่มีสินเชื่อที่เริ่มมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage 2) สูงกว่าสินเชื่อรายย่อยตัวอื่นๆ รวมถึงสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล
"ในปี 2566 จะไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้กับลูกหนี้เป็นการทั่วไปเพิ่มเติมแล้ว การลด NPL จึงต้องฝากความหวังไว้ที่การปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นหลัก ภายใต้นโยบาย ธปท.ที่ต้องการเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืน นั่นคือ ช่วยลดภาระผ่อนชำระและยืดระยะเวลาผ่อนชำระ ให้เหมาะสมกับศักยภาพลูกหนี้แต่ละราย" บทวิเคราะห์ระบุ
- การขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวจำกัด จะมีผลบวกที่น้อยลงต่อส่วนต่างดอกเบี้ย (%NIM) เมื่อเข้าสู่ปี 2566 เนื่องจากต้องทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากประจำที่ปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 ขณะเดียวกัน คาดว่าภายใต้เงื่อนไขที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวในกรอบจำกัด ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมน่าจะจำกัดตามไปด้วยเพื่อช่วยเหลือลูกค้า แม้ต้นทุนเงินฝากจะปรับขึ้นตามการปรับอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ก็ตาม
- ภาระการตั้งสำรองฯ ที่อาจยังไม่สามารถลดลงมากได้นั้น จะยังกดดันกำไรสุทธิ เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมที่ยังไม่นิ่ง ขณะที่หากเทียบข้อมูลไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าไทยยังมี NPL สูงกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้ภาระในการตั้งสำรองฯ สูงกว่าประเทศอื่นๆ จนกดดันการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ตามมา ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ก็คาดว่าจะปรากฎขึ้นต่อไปในปี 2566 เช่นกัน ผ่านการคาดการณ์กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในปีหน้าที่คงจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ที่ 34% หลังสัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (% Credit Cost) อาจจะยังไม่สามารถลดลงต่ำกว่า 1% ได้ในปีหน้า (คิดเป็นภาระการตั้งสำรองฯ กว่า 1.5 แสนล้านบาท) เทียบกับ 1.2% ในปี 2565 (คิดเป็นภาระการตั้งสำรองฯ ประมาณ 1.7-1.8 แสนล้านบาท)
2. ภูมิทัศน์ที่ต้องเร่งแสวงหาธุรกิจใหม่
- โจทย์การช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อและขยายโอกาสทางธุรกิจ ทำให้แบงก์ไทยยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) สำหรับในปี 2566 แม้หนี้ครัวเรือนจะมีโอกาสลดลงมาที่สัดส่วนที่ต่ำกว่า 85% ต่อจีดีพี จากผลการเติบโตของจีดีพี (ตัวฐาน) เป็นสำคัญ แต่หนี้ครัวเรือนที่ระดับดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลกับสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กและย่อย ผ่าน Digital Lending แต่ด้วยความจำเป็นในการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จึงทำให้แบงก์ไทยต้องเดินหน้าธุรกิจดังกล่าวต่อเนื่อง โดยพยายามเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า สร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ และสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ของลูกค้าที่มีความหมาย และมากพอต่อการประเมินเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อดิจิทัลทั้งในบริบททั่วไป (ไม่ใช่นิยาม ธปท.และเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย) คงขยายตัวประมาณ 10% มาที่ยอดคงค้างประมาณ 56,050 - 60,720 ล้านบาท เพียงแต่ด้วยวงเงินสินเชื่อต่อรายที่น้อยและรอบการชำระคืนที่เร็ว คงทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมดอาจยังไม่เกินระดับ 8%
- นอกเหนือจากธุรกิจด้านสินเชื่อดิจิทัลแล้ว คาดว่าจะเห็นการให้น้ำหนักกับการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย นั่นคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ธุรกิจต่างประเทศ ไปจนถึงธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินโดยตรง อาทิ ธุรกิจอาหารและสันทนาการ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ย้ำทิศทางของธุรกิจแบงก์ที่วิ่งสู่ Beyond Banking Business ในอนาคต อันทำให้แบงก์ไทยคงมีส่วนผสมของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และรายได้จากการถือหุ้นในกิจการที่ตั้งขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต
3. ภูมิทัศน์ของกติกาที่เร่งการแข่งขันในธุรกิจการเงินมิติต่างๆ
เกณฑ์การกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยของ ธปท. ซึ่งนอกจากเกณฑ์ด้าน ESG หรือ Green Taxonomy รวมถึง Digital Assets แล้ว ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาอื่นๆ ดังนี้
- การออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล (Virtual Bank)
- การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่เป็นนอนแบงก์ เพื่อขยายให้สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เช่น อนุญาตการซื้อขาย FX ผ่านแพลตฟอร์ม หรือขยายขอบเขตธุรกิจให้นอนแบงก์
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับธุรกรรมการค้าและชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ เช่น Digital Trade and Payment และ Digital Supply Chain Finance ผ่านโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business
- การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (Retail Central Bank Digital Currency หรือ Retail CBDC)
- dStatement เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลในการเดินบัญชีเงินฝากหรือ statement ระหว่างสถาบันการเงิน
- การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending)
- การกำกับนอนแบงก์มากขึ้น อาทิ นอนแบงก์ที่ให้บริการทางการเงินหลายประเภทที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Consolidated Supervision) รวมถึงนอนแบงก์ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย เช่น เช่าซื้อ ลิสซิ่ง สหกรณ์ออมทรัพย์
โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา คงขุนเทียน
Source - IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"