ธปท. ภาคใต้ เสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ทุเรียนไทย ส่งออกไปตลาดจีน เทียบประเทศคู่แข่ง 7 ประเทศ ชี้ 3 ปีข้างหน้ายังไม่น่าห่วง แต่ 5 ปีข้างหน้าค่อนข้างน่ากังวล วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ ได้นำเสนอบทความเรื่อง
“จับตาสถานการณ์ทุเรียนไทย” เขียนโดย “ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล” และ “กฤตยา ตรีวรรณไชย” ซึ่งระบุว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยครองแซมป์ “ผู้ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก” โดยเฉพาะในตลาดผู้บริโภคหลักของโลกอย่างจีน ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่คาดว่าจะเข้ามาสั่นคลอนตลาดทุเรียนไทย ทั้งฝั่งของคู่แข่งที่เข้ามาแย่งชิงตลาดมากขึ้น และผู้บริโภคชาวจีนที่ให้ความสนใจทุเรียนจากประเทศอื่นมากขึ้น
ซึ่งผู้เขียนบทความต้องการฉายภาพสถานการณ์ทุเรียนโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้สึก รู้ทัน และช่วยกันเตรียมรับมือกับความท้าทายของทุเรียนไทยในอนาคต
ตลาดทุเรียนไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากความนิยมของจีนที่เพิ่มขึ้น
-ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากความต้องการบริโภคทฺเรียนของจีนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2565 มูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทำสถิติสูงสุดที่ 1.24 แสนล้านบาท ครองแซมป์ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทย
ทุเรียนไทยเกือบทั้งหมดส่งออกไปตลาดจีนในรูปของทุเรียนผลสด เนื่องจากเดิมไทยเป็นประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งทุเรียนผลสดไปขายมานานหลายปี
ความนิยมบริโภคทุเรียนของจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น และเกษตรกรไทยหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 33 บาท เป็น 111 บาท/กิโลกรัม และส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
สถานการณ์ทุเรียนโลก กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งฝั่งของผู้บริโภค และคู่แข่งผู้ปลูกทุเรียน
จีนยังต้องการบริโภคทุเรียนอีกมาก แต่เริ่มนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้น
แนวโน้มความต้องการบริโภคทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคหลักที่นำเข้าทุเรียนผลสดสูงถึง 80% ของปริมาณการนำเข้าทั่วโลก
แต่ยังมีโอกาสบริโภคเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เนื่องจาก
อัตราการบริโภคทุเรียนต่อคนของจีนยังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับประเทศผู้บริโภคทุเรียนอื่น ๆ แม้แต่กลุ่มเมืองใหญ่ของจีน ที่เป็นผู้บริโภคหลักในปัจจุบันก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกเช่นกัน
การขนส่งในจีนดีขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถกระจายสินค้าไปยังเมืองรองด้านในและพื้นที่ชุมชนได้มากขึ้น
จีนเริ่มเปิดใจกับทุเรียนจากชาติอื่น สายพันธุ์อื่นมากขึ้น จากเดิมที่บริโภคทุเรียนหมอนทองจากไทยเป็นหลัก แต่เมื่อไม่นานนี้ ก็ได้อนุญาตให้เวียดนามและฟิลิปปินส์ส่งทุเรียนผลสดมาขายในจีนเช่นกัน
เวียดนาม
ได้รับใบอนุญาตเป็นประเทศที่สองเมื่อ ก.ค. 2565 และได้ส่งทุเรียนหมอนทองเข้าไปขายในราคาใกล้เคียงกับไทย ทำให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 5% จากเดิมที่ไม่มีเลย
ฟิลิปปินส์
ได้รับใบอนุญาตล่าสุดเมื่อ ม.ค. 2566 และเริ่มส่งทุเรียนพื้นเมืองพันธ์ปูยัตเข้าไปให้ชาวจีนได้ลองทาน
ทั้งนี้ ประเมินว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า จีนมีโอกาสบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แปลว่า จะต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านตัน
ทุเรียนไม่ได้ปลูกเฉพาะในไทย ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถส่งทุเรียนผลสดไปจีนอีกต่อไป
แนวโน้มการเข่งขันในตลาดทุเรียนโลกรุนแรงขึ้น ทั้งจากไทยที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 8%ต่อปี และประเทศคู่แข่งที่ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อบุกตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดทุเรียนผลสดในจีน ที่หลายประเทศเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนและต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดจากจีนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คู่แข่งแต่ละประเทศมีจุดแข็งและระดับความน่ากังวลแตกต่างกัน ดังนี้
เวียดนาม (ได้ใบอนุญาต ก.ค.2565) / น่ากังวลที่สุด
มีผลผลิตมากและเพิ่มขึ้นเร็ว
เน้นทุเรียนหมอนทอง ฤดูกาลผลผลิตช่วงเดียวกับไทย (พ.ค.-ก.ย.)
ขนส่งเร็วกว่าและถูกกว่าไทย
ลาว (ต่อคิวขอใบอนุญาต) / น่ากังวลในระยะยาว
ทุนจีนและเวียดนามเริ่มลงทุนปลูกจริงจัง ผลผลิตจะเร่งขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
ขนส่งเร็วกว่าไทย ไปได้ทั้งทางบกและรถไฟ
มาเลเซีย (ต่อคิวขอใบอนุญาต) / น่ากังวลพอสมควร
มีผลผลิตมาก สัดส่วนส่งออกปัจจุบันยังน้อย
เน้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง
มีประสบการณ์ส่งมูซานคิงแช่แข็งไปจีน
ขนส่งนานกว่าไทย
กัมพูชา (ต่อคิวขอใบอนุญาต) / ยังไม่น่ากังวล
พื้นที่ปลูกน้อย และแนวโน้มผลผลิตไม่มาก
ฟิลิปปินส์ (ได้ใบอนุญาต ม.ค.2566) / ยังไม่น่ากังวล แม้ได้รับใบอนุญาตแล้ว
พื้นที่ปลูกน้อย แนวโน้มผลผลิตไม่มาก
ขนส่งนานกว่าไทย ไปได้เพียงทางเรือและเครื่องบิน ทำให้ควบคุมคุณภาพยาก
อินโดนีเซีย (ยังไม่ขออนุญาต) / ยังไม่น่ากังวลมาก
แม้มีผลผลิตมาก (อันดับ 1 ของโลก) แต่เน้นบริโภคเองในประเทศเกือบทั้งหมด
ยังต้องใช้เวลาพัฒนาคุณภาพเพื่อส่งออก
จีน
เริ่มทดลองปลูกทุเรียนสำเร็จแล้ว แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะพื้นที่ปลูกน้อยมาก แนวโน้มผลผลิตยังไม่ถึง 1% ของไทย
ผลผลิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดจีนจะเพิ่มขึ้นเร็ว ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อราคาทุเรียนในระยะข้างหน้า
-ภายในระยะ 3 ปีนี้ ยังไม่น่ากังวลมาก คาดว่าผลผลิตของคู่แข่งอาจยังเข้าสู่ตลาดจีนไม่มากนัก เนื่องจากต้องใช้เวลาพัฒนาคุณภาพทุเรียนขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุ และทำการตลาดในจีน หากรวมกับผลผลิตของไทยที่จะเพิ่มขึ้น จะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับแนวโน้มการบริโภคของจีน แต่ราคาอาจถูกกดดันเป็นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตไทยและคู่แข่งออกพร้อมกัน
แต่ในระยะ 5 ปีข้างหน้า น่ากังวลมากขึ้น เมื่อคู่แข่งเริ่มปรับตัวได้ คาดว่าจะมีผลผลิตที่พร้อมส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นมาก และอาจมากกว่าแนวโน้มการบริโภคของจีน (Oversupply) ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อทั้งการส่งออกและราคาทุเรียนของไทย
ทุเรียนไทยยังได้เปรียบอยู่มาก แต่ต้องไม่ชะล่าใจ ควรร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าทุเรียนไทยกำลังจะเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นในอนาคต แต่ไทยเองยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องปริมาณผลผลิตที่มีมาก คุณภาพทฺเรียนที่เป็นที่ยอมรับ และประสบการณ์ส่งออกไปตลาดจีนที่ยาวนาน ดังนั้น หากทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทำการตลาดในเมืองรองของจีน รวมถึงประเทศอื่น รักษาคุณภาพทุเรียนโดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อนช่วงต้นฤดูกาลผลผลิต ส่งเสริมความรู้ เรื่องเทคนิคการปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และบริหารจัดการเส้นทางขนส่งทุเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะทำให้ไทยสามารถป้องกันตำแหน่ง “เซมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก” ได้ไม่ยาก
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you