เงินรูเบิลรัสเซียแข็งค่า...เรื่องจริงหรือภาพลวงตา?

ช่วงปีนี้สกุลเงินประเทศต่างๆอ่อนค่าไปตามกัน ถ้าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งขึ้นมากหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยแรงสกัดเงินเฟ้อ แต่เงิน “รูเบิลรัสเซีย” กลับแข็งค่ามากทั้งที่โดนคว่ำบาตรหนักจากนานาชาติตะวันตก

สร้างความประหลาดใจให้ผู้ติดตามสถานการณ์ว่า เหตุใดเงินรูเบิลฆ่าไม่ตาย? เนื้อแท้คืออะไรแน่?
ช่วงแรกที่รัสเซียบุกยูเครน เงินรูเบิลอ่อนค่าหนักนานนับเดือน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอความร่วมมือชาติพันธมิตรช่วยกันคว่ำบาตรลงโทษรัสเซีย คนเทขายเงินรูเบิลจนด้อยค่าไปเกือบครึ่ง ธนาคารรัสเซียโดนตัดออกจากระบบสื่อสารโอนเงินระหว่างธนาคารในโลก (SWIFTS) เงินสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารกลางรัสเซียฝากหรือลงทุนในต่างประเทศก็ถูกอายัด คิดเป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของเงินสำรองฯรัสเซียทั้งหมดกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัสเซียยังโดนตัดออกจากระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศและเรือ ทำให้ค้าขายกับโลกได้ลำบากขึ้น
เจอเช่นนี้รัสเซียจึงสู้กลับทุกทางให้เงินรูเบิลยังเป็นที่ต้องการ เงินตราต่างประเทศไม่ไหลออก เช่น ธนาคารกลางรัสเซียขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวจาก 9% เป็น 20% ทันทีหลังโดนคว่ำบาตรเมื่อ 28 ก.พ. 65 เพื่อดึงดูดเงินฝากไม่ให้โยกออกจากประเทศ และออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้มงวด เช่น ไม่ให้นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์รัสเซียถอนเงินตราต่างประเทศออก ห้ามถอนเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศออกจากธนาคาร และกำหนดให้บริษัทส่งออกต้องแลกรายได้เงินตราต่างประเทศ 80% กลับมาเป็นเงินรูเบิล รวมถึงใช้ไม้ตายกำหนดให้ประเทศผู้ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต้องจ่ายเป็นเงินรูเบิลเท่านั้นแถมคิดราคาแพงอีก
กลยุทธ์แก้เกมของรัสเซียช่วยให้เงินรูเบิลกลับมาแข็งค่าจนแข็งเกินช่วงก่อนโควิดไปอีก ตั้งแต่ต้นปีมานี้เงินรูเบิลแข็งค่ากว่าดอลลาร์สหรัฐฯราว 28% ทำให้เผชิญปัญหาค่าเงินแข็งมากจนทำให้สินค้าส่งออกแพง รายได้ส่งออกคิดกลับมาเป็นสกุลรูเบิลมีมูลค่าน้อยลง ขณะที่ผู้นำเข้าแทบไม่ได้ประโยชน์จากเงินรูเบิลแข็ง เพราะถูกโลกแบนไม่ขายให้ดุลการค้าจึงเกินดุลสูงจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันแพงเป็นหลัก แต่นำเข้าน้อยมาก
น่าสังเกตว่าเงินรูเบิลแข็งค่าไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจรัสเซีย แต่เป็นผลจากกลไกฝืนธรรมชาติใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกเข้มข้น การโดนคว่ำบาตรทำให้การลงทุนระหว่างประเทศและการนำเข้าลดฮวบ ไม่เป็นผลดีในระยะยาวเพราะเศรษฐกิจรัสเซียจะปิดและเล็กลง เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีใหม่ในโลก
รัสเซียจึงจับมือพันธมิตรกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ที่คาดกันว่าจะมีบทบาทในการค้าโลกสูงเกือบครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เตรียมปรับโครงสร้างการผลิตและส่งออก หาตลาดใหม่ แก้ปัญหาโลจิสติกส์ โดยกลุ่ม BRICS ประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. ได้ข้อสรุปว่า ไม่เห็นด้วยที่ชาติตะวันตกใช้การคว่ำบาตรเป็นอาวุธ และมีแผนจะตั้งเครือข่ายระบบการชำระเงินใหม่ เน้นใช้สกุลเงินตนเองค้าขายกัน เพื่อไม่ให้ระบบการค้า การเงิน และการชำระเงินระหว่างประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของชาติตะวันตกและสกุลดอลลาร์มากไป
เงินรูเบิลรัสเซียแข็งเกินพื้นฐานเศรษฐกิจยามนี้เป็นโจทย์ที่น่าคิด
หากธนาคารกลางรัสเซียยกเลิกมาตรการคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือชาติอื่นไม่ง้อไม่ยอมทนซื้อน้ำมันและก๊าซแพงจากรัสเซียต่อแล้ว เศรษฐกิจรัสเซียอาจถดถอยและเงินเฟ้อเร่งสูงจากเงินรูเบิลกลับมาอ่อนค่าได้
จึงน่าจับตาพลังของกลุ่ม BRICS ว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้รัสเซียปรับทิศโครงสร้างเศรษฐกิจได้ผลแค่ไหน ซึ่งจะมีนัยต่อการเดินเกมรุกยูเครนแบบยอมหักไม่ยอมงอต่อไป ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์แบ่งขั้วอำนาจในโลกนับวันจะยิ่งขยายวงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดค่ะ.
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Source:ไทยรัฐออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"