‘ธปท.’ ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำ ‘ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ’ เพิ่มเติม โดยให้มีผลตั้งแต่ 13 พ.ค.นี้ พร้อมระบุ ‘เงินบาท’ อ่อนค่าตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค-กลไกตลาดยังทำงานได้ปกติ
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลงต่อเนื่อง ว่า หากติดตามทิศทางค่าเงินบาท จะพบว่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาระยะหนึ่งแล้ว และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ อาทิ สหรัฐ และสถานการณ์โควิดที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ
“ถ้าดูว่า เราไปคนเดียวหรือเปล่า ปัจจัยนี้มีผลกับไทยคนเดียวหรือเปล่า ก็คงเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่ เพราะปัจจัยเหล่านั้น มันทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องการทำธุรกรรมการลงทุนในตลาดการเงินโลก และมีผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ทั้งหลาย รวมทั้งไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ก็เป็นไปตามทิศทางของการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาค” นางอลิศรา กล่าว
นางอลิศรา ย้ำว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด แม้ว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินขณะนี้จะเป็นไปตามปัจจัยภายนอก และกลไกตลาดอยู่ ซึ่งเราพบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังเป็นปกติอยู่ อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยภายนอกที่ยังมีความผันผวนมาก ธปท.จะมีการติดตามกันอย่างต่อเนื่อง
“การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะต้องไปตามกลไกตลาด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายใน หรือปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอก ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบันมีความผัวผวนมากขึ้น ซึ่งตลาดการเงินไทยมีความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว จึงเลี่ยงเรื่องความผันผวนไม่ได้ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถในการดูแลตัวเองในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน” นางอลิศรา ระบุ
เมื่อถามว่า ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงินบาทบ่อยแค่ไหน นางอลิศรา ระบุว่า ขอตอบในภาพรวมว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งติดตามกิจกรรมหรือการทำธุรกรรมในตลาดเงินตราต่างประเทศ และดูว่ากลไกตลาดยังทำงานได้ปกติหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการทำธุรกรรมในตลาดเงินตราต่างประเทศ และกลไกการดำเนินการในตลาดยังทำงานตามปกติ ทำให้ ธปท.วางใจได้ระดับหนึ่ง
“ถ้ามีความจำเป็น ในขณะที่มีภาวะผิดปกติ เราจะพิจารณาดูแลตามความเหมาะสม” นางอลิศรา กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12 พ.ค.) อยู่ที่ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) ที่เงินบาทปิดที่ระดับ 34.61 บาทต่อดอลลาร์
นางอลิศรา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดัน FX Ecosystem ใหม่ ว่า ธปท.จะมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ การให้โอนเงินตราต่างประเทศ (FX) ออกไปต่างประเทศได้เสรีขึ้น ,การขยายขอบเขตการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้น และไม่ต้องแสดงเอกสารการทำธุรกรรม FX หากธนาคารเข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยง FX ของลูกค้าอยู่แล้ว โดยจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2565 เป็นต้นไป
“การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะทำให้คนไทยสามารถโอนจ่ายเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น และสามารถทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงได้สะดวกขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของคนไทย รวมทั้งช่วยลดต้นทุน และทำให้บริหารจัดการความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน” นางอลิศรา กล่าว
นางอลิศรา กล่าวว่า ในระยะถัดไป ธปท. มีแผนที่จะปรับ FX service provider landscape ผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) เช่น money changer (MC) และ money transfer (MT) เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยและ SMEs เข้าถึงบริการ FX ได้สะดวกขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของไทยอยู่ที่ประมาณ 7% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
โดยมีแนวทางเบื้องต้น ได้แก่ (1) ขยายขอบเขตการให้บริการ FX ของ non-bank ในปัจจุบัน เช่น ให้ทำธุรกรรมได้หลากหลายวัตถุประสงค์ขึ้น (2) ขยายขอบเขตของใบอนุญาตให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ เช่น ซื้อขาย FX ผ่าน platform และ(3) ปรับแนวทางการอนุญาต non-bank ในการให้บริการธุรกรรม FX ให้ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ non-bank สามารถให้บริการได้หลากหลายและปรับเปลี่ยนธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
ด้าน น.ส.ชนานันท์ สุภาดุล ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ธปท.จะมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX regulatory framework) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2565 เป็นต้นไป ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.โอนเงินตราต่างประเทศ (FX) ออกไปต่างประเทศได้เสรีขึ้น และชำระ FX ในประเทศได้ตามความจำเป็น ได้แก่
(1) ให้สามารถโอน FX ออกไปต่างประเทศได้ตามภาระที่มี ยกเว้นธุรกรรมที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินอย่างมีนัยสำคัญ 4 วัตถุประสงค์ รวม 3 เรื่อง ได้แก่ การโอนเงินไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ ,การส่ง FX ออกไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินบาทกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (THB offshore) เพราะหากตลาด THB offshore มีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลกระทบเสถียรภาพค่าเงินบาทได้ และการโอนเงินไปชำระค่าทองคำที่ไม่มีการนำเข้า
(2) ยกเลิกการมีวงเงินโอน FX ออก โดยให้เหลือเฉพาะ 1.กรณีการส่งเงินให้เปล่าแก่บุคคลในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าการส่งเงินออกไปต่างประเทศโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ การโอนเงินกรณีดังกล่าวจะกำหนดให้โอนได้ไม่เกิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และ2.กรณีการลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่ไม่ผ่านตัวกลางจะกำหนดวงเงินไว้ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
(3) ให้นิติบุคคลสามารถซื้อ FX เพื่อชำระในประเทศได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องขออนุญาต เช่น การชำระค่าสินค้าบริการในประเทศเป็น FX ในกรณีที่เป็นสินค้าที่ต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก เช่น น้ำมัน แต่ไม่รวมถึงการชำระค่าสินทรัพย์ดิจิทัล และการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือให้กู้ FX กันในประเทศ
2.การขยายขอบเขตการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้น โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงจากการมีรายรับรายจ่ายสกุล FX กับต่างประเทศโดยตรงเท่านั้น แต่สามารถรวมความเสี่ยง FX อื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงได้ด้วย เช่น ความเสี่ยงจากการชำระค่าสินค้าที่อ้างอิงราคาตลาดโลกกับคู่ค้าในประเทศ ความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินสกุลอื่นที่ไม่ตรงกับรายได้ของบริษัท (currency mismatch)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายสกุล FX ในอนาคต และความเสี่ยง FX ของกิจการในเครือมาป้องกันความเสี่ยงได้ จากเดิมที่ทั้งหมดนี้ ต้องขออนุญาตก่อน
3.ไม่ต้องแสดงเอกสารการทำธุรกรรม FX หากธนาคารเข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยง FX ของลูกค้า อยู่แล้ว เช่น กลุ่มที่มีวงเงิน FX หรือมีธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารอยู่แล้ว ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนของ (Know your Business : KYB) อยู่แล้ว จากเดิมที่การธุรกรรมตั้งแต่ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป จะต้องแสดงเอกสารการทำธุรกรรม FX เป็นรายธุรกรรม
น.ส.ชนานันท์ กล่าวด้วยว่า ผลจากการที่ ธปท.ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ พบว่าในปี 2564 คนไทยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ 1.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากสภาวะตลาดเอื้ออำนวย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่าคนไทยถอนเงินกลับประเทศบางส่วน เนื่องจากหุ้นตก
ขณะที่การเปิดลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ไทย พบว่าล่าสุด ณ วันที่ 22 มี.ค.2565 มีนักลงทุนต่างชาติลงทะเบียนยืนยันตัวตนแล้ว 8,002 ทั้งนี้ 82% ของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทะเบียนนั้น เป็นธุรกิจจัดการกองทุน
Source: สำนักข่าวอิศรา
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you