ขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่กำลังเกิด ?

มีการประเมินความเสียหายภาวะช็อกทางเศรษฐกิจจากสงครามยูเครนที่ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้วดังนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ จาก 4.4 % เหลือ 3.6 % ธนาคารโลก ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียจาก 5.4 %

เหลือ 5 % ส่วนกระทรวงการคลัง ลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จาก 3.5-4.5 % เหลือ 3-4 % แต่ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว
ขณะเดียวภาระจากค่าครองชีพที่ยกสูงขึ้นตามราคาน้ำมันลามไปทั่วโลก เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครนโดยตรง เงินเฟ้อสหรัฐฯขึ้นไปที่ 8.5 % ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี อังกฤษ 7 % สูงสุดในรอบ 30 ปี ข้ามมาที่บ้านเราเงินเฟ้อทะลุไป 5.73% ส่วนคู่กรณี สื่อต่างประเทศรายงานอ้างถึงการประชุมธนาคารโลกเมื่อเร็วๆนี้มีการประเมินว่า ยูเครนที่สภาพบ้านเมืองเวลานี้ใกล้เคียงราพณาสูร จากจรวดรัสเซีย ความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนรัสเซียจำเลยโลก กระทรวงการคลังของรัสเซีย คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบไม่น้อยกว่า 10 % เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่จะอยู่ระดับสองหลักเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมาขณะที่กองทัพรัสเซียปิดล้อมทางการทหารหลายเมืองในยูเครน รัสเซียเองก็พยายามฝ่าวงล้อมจากมาตรการคว่ำบาตรปิดล้อมทางเศรษฐกิจ จากสหรัฐฯและชาติตะวันตกเช่นเดียวกัน โดยหนึ่งในความพยายามนั้นคือ ยกระดับช่องทางเศรษฐกิจและการชำระเงินระหว่างประเทศ ของตัวเองขึ้นมาทดแทนช่องทางที่ตะวันตกปิดกั้น
เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ออกมาประกาศว่าระบบการเงินของรัสเซียทำงานได้ดี และ “การจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ” ทางเศรษฐกิจของตะวันตกนั้นล้มเหลว (โพสต์ทูเดย์ดอทคอม 13 เม.ษ. 2565) แม้เป็นการทึกทักเอาเองฝ่ายเดียวของประธานาธิบดี ปูติน และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ผลลัพธ์จากมาตรการคว่ำบาตรจะออกมาอย่างไร หากความพยายามที่จะแสวงหาทางออกจากวงล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกของรัสเซีย คงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตลอดเวลา 2 เดือนเศษ ๆ ที่ผ่านมา รัสเซียเร่งพัฒนาระบบทางเศรษฐกิจและการเงิน ขึ้นมาตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและตะวันตก เช่น การฟื้นฟูระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SPFS ขึ้นมาใช้แทน SWIFT ที่ถูกตะวันตกปิดกั้น พร้อมกับระบบเครดิตสำหรับการชำระเงิน MIR (มีร์) ที่รัสเซียพยายามนำใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ขึ้นทดแทน วีซ่ามาสเตอร์การ์ดที่ร่วมมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมไปถึงความพยายามเรียกความเชื่อมั่น เงินรูเบิล กลับมา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศรายงานว่า ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียแข็งค่าขึ้นมาในระดับ 75 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปี หลังอ่อนยวบลงไปกว่า 150 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงแรกๆที่สหรัฐฯนำทีมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเชื่อว่า ปัจจัยหลัก ๆ เลยที่ทำให้ ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนยวบฟื้นขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน เพราะมาตรการตอบโต้ของรัสเซียกับประเทศที่รัสเซียระบุว่า เป็นประเทศไม่เป็นมิตรจำนวน 22 ประเทศ หากต้องการซื้อก๊าซจากรัสเซียต้องชำระด้วยเงินรูเบิล..เท่านั้น
แม้เวลานี้มีฮังการีประเทศเดียวที่ทำตามประกาศจากมอสโก แต่การประกาศหยุดส่งก๊าซให้โปแลนด์และบัลกาเรียตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมาหลังทั้ง 2 ประเทศปฎิเสธใช้รูเบิลซื้อก๊าซ ท่าทีที่แข็งกร้าวดังกล่าวยืนยันว่ามาตรการซื้อก๊าซต้องชำระด้วยรูเบิลเท่านั้นไม่ใช่แค่คำขู่ลอยๆ
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วรัสเซียยังเร่งโปรโมทแนวคิด ใช้สกุลเงินของตัวเองแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม บริกส์ ( BRICS ) หรือกลุ่มประเทศที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงซึ่งมี สมาชิก 5 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เมื่อเร็ว ๆ นี้
อันทอน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังของรัสเซีย บอกกับที่ประชุมระดับรัฐมตรีของกลุ่ม BRICS ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงอย่างมาก สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ นอกจากนี้ มาตรการลงโทษเหล่านั้นยังทำลายรากฐานระบบการคลังและการเงินโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน บนพื้นฐานของดอลลาร์สหรัฐฯ เหล่านี้มันผลักให้เราจำเป็นต้องดำเนินการในขอบเขตต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ใช้สกุลเงินประเทศสำหรับปฏิบัติการนำเข้าและส่งออก บูรณาการระบบชำระเงินและบัตรต่าง ๆ ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของตัวเองและจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อของ BRICS ที่เป็นอิสระ ( ผู้จัดการออนไลน์ 10 เม.ษ.65 ) โดยคาดว่าดีลรัสเซียขายน้ำมันราคามิตรภาพให้อินเดียจำนวน 3 ล้านลิตร หนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่จะซื้อ-ขายกันด้วย รูปี กับ รูเบิล
นอกจากนี้ธนาคารกลางรัสเซียยังปรับน้ำหนักสกุลเงินต่างชาติในสำรองระหว่างประเทศ สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ รัสเซีย เช่นเดียวกับที่ ซีเอ็นเอ็น บีบีซี เป็นกระบอกเสียงให้ตะวันตก รายงานอ้างคำกล่าว เอลวิรา นาบิอูลลินา ผู้ว่าแบงก์ชาติของรัสเซียยืนยันว่า รัสเซียมีเงินสำรองในรูปของเงินหยวนและทองคำเพียงพอที่จะรับมือกับมาตราการคว่ำบาตรของตะวันตก แม้สำรองระหว่างประเทศในรูป สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และทองคำ ประมาณ 315,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกอายัดในต่างประเทศ จากทั้งหมด 640,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ทั้งนี้ แบงก์ชาติรัสเซีย ลดสัดส่วน เงินสำรองดอลลลาร์สหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 10.9 % ( ณ 1 ม.ค. 2565 ) จาก 21.2 % ในปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันมีรายงานว่า รัสเซีย ถือครอง ยูโรเพิ่มเป็น 33. 9 % จาก 29.2 % ในช่วงเวลาเดียวกันและถือครอง เงินหยวนเพิ่มเป็น 17.1 % จาก 12.8 % ในปีก่อนหน้า และสัดส่วนทองคำทรงตัวที่ 21.5 %
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะรัสเซียถูกปิดล้อมจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯกับตะวันตก จนเหลือทางเลือกเดียวในการรักษาระบบเศรษฐกิจของตนคือพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการชำระเงินระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อเปิดทางออกให้เศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไปไกลขนาดเกิดขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาหรือไม่ ต้องติดตาม
โดย จิตติศักดิ์ นันทพานิชย์
Source: Thaipublica

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"