บทเรียนเงินบาทจากเงินเยนอ่อนค่า

เงินเยนอ่อนค่ากว่า 10 เปอร์เซ็นต์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐช่วงสี่เดือนแรกปีนี้ เป็นสกุลเงินกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G10 ที่อ่อนค่ามากสุด สาเหตุมาจากนโยบายการเงินญี่ปุ่นที่มุ่งฟื้นเศรษฐกิจมากกว่าดูแลเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะตกอยู่ในวงจรเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ

อัตราดอกเบี้ยต่ำ ค่าเงินอ่อน และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เป็นบทเรียนสำคัญต่อการทำนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะในบ้านเรา เพราะเศรษฐกิจไทยมีหลายปัญหาเหมือนญี่ปุ่นขณะนี้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะนี้มีหลายเรื่องคล้ายกันในแง่การบริหารเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ประเทศพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมาก การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ คนในประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย
ล่าสุด นโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากแม้แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นขึ้นทั่วโลก
ผลคือค่าเงินของประเทศอ่อนลง ล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนเยนต่อดอลลาร์อยู่ที่ 128 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์อ่อนลงจาก 115 เยนต่อดอลลาร์สิ้นปีที่แล้ว สำหรับเงินบาท ล่าสุดใกล้ทะลุ 34 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์จาก 33.2 บาทต่อดอลลาร์สิ้นปีที่แล้ว
ทำไมเงินเยนอ่อนค่ามากและเป็นปัญหาหรือไม่
เงินเยนอ่อนค่าจากสามสาเหตุ
1) นโยบายการเงินที่มุ่งรักษาให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินเยนต่ำมากเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ในเงินสกุลอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลสิบปีในสหรัฐ แคนาดา จีน สหราชอาณาจักร จะอยู่ระหว่างร้อยละ 2.88-1.95 ต่อปีเทียบกับญี่ป่นที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี ผลคือมีการขายสินทรัพย์เงินเยนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์อื่น ทำให้เงินเยนอ่อนค่า
2) พื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่เข้มแข็งเหมือนในอดีต เศรษฐกิจเติบโตต่ำเพราะการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวน้อย ขณะที่การส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการระบาดของโควิด กดดันให้อัตราเงินเฟ้อต่ำมากจนมีความเสี่ยงที่จะติดลบ
รัฐบาลจึงใช้การใช้จ่ายด้านการคลังและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายญี่ปุ่นอยู่ที่ -0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เกือบต่ำที่สุดในโลก พอราคาน้ำมัน ราคาอาหารและเงินเฟ้อทั่วโลกปรับสูงขึ้นจากผลของโควิดและสงคราม
เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ถูกกระทบมากทั้งจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ทำให้ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่องช่วงแปดเดือนที่ผ่านมา ความอ่อนแอเหล่านี้กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซ้ำเติมให้เงินเยนอ่อนค่า
3) แนวโน้มด้านนโยบาย ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะเร่งปรับสูงขึ้นอีกเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายญี่ปุ่นที่มีความเป็นไปได้ที่จะยืนในระดับปัจจุบันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
พิจารณาจากสัญญาณที่มาจากธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนระหว่างการลงทุนในสินทรัพย์เงินเยนกับสินทรัพย์ต่างประเทศยิ่งจะมากขึ้น กดดันให้เงินเยนจะยิ่งอ่อนค่า นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินก็มองเห็นแนวโน้มนี้ ทำให้มีการเก็งกำไรการอ่อนค่าของเงินเยนมาก
ที่ต้องตระหนัก แต่ไหนแต่ไรทางการญี่ปุ่นมองว่าเงินเยนที่อ่อนค่าดีต่อการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นผลจากปัจจัยภายนอกพร้อมเศรษฐกิจโลกที่ชะลออย่างปัจจุบัน
ประโยชน์ที่เศรษฐกิจได้จากการอ่อนค่าของเงินอาจไม่มาก เมื่อเทียบกับผลทางลบที่การอ่อนค่าของเงินมีต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่จะสูงขึ้นและเศรษฐกิจที่ชะลอจากผลของเงินเฟ้อที่สูง
และถ้านโยบายไม่เปลี่ยน ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจตกอยู่ในวงจรการขยายตัวต่ำ นโยบายการเงินผ่อนคลายมากคืออัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ค่าเงินอ่อน และอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้ค่าเงินจะอ่อนต่อเนื่อง จนกระทบเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
คำถามที่ถามกันมากคือ เงินเยนจะอ่อนค่าต่อไปได้อีกเท่าไร และจะกลับมาแข็งค่าหรือไม่ ในความเห็นของผม คำตอบอยู่ที่นโยบายการเงินกับวงจรเศรษฐกิจที่พูดถึง
วงจรที่ว่านี้เริ่มจากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ รัฐบาลจึงมุ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมีมาก แต่เศรษฐกิจอาจไม่ฟื้นตัวเร็วถ้าสภาพคล่องถูกปล่อยให้กับการลงทุนในสินทรัพย์ เช่น หุ้นและที่ดินมากกว่าลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง
แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะทำให้ค่าเงินอ่อนลงและอัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้น และจะเร่งตัวมากอย่างในปัจจุบันถ้าราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้นต่อเนื่อง เงินเฟ้อในประเทศที่สูงจะกระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก กระทบค่าครองชีพและความต้องการใช้จ่ายของประชาชน
ผลคือเศรษฐกิจจะชะลอ ค่าเงินจะยิ่งอ่อน เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแม้นโยบายการเงินจะหวังดี เน้นอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้น สิ่งที่จะหยุดการอ่อนค่าของเงินเยน คือ การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อตัดวงจร ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้ค่าเงินหยุดการอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ใช่หยุดโดยการแทรกแซงให้เงินเยนแข็งค่าอย่างที่มีการพูดกันในตลาดการเงินขณะนี้
เพราะปัญหาที่ค่าเงินทั่วโลกประสบคือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่มาจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ
นี่คือคำตอบต่อการอ่อนค่าของเงินเยน และคงเป็นคำตอบต่อนโยบายการเงินในบ้านเราเช่นกัน.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

 

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"