กางมาตรการธปท.ที่ออกมาช่วยเหลือตั้งแต่เกิดโควิด-19 ร่วม2ปี ธปท.ชี้มาตรการทางการเงิน มีส่วนช่วยพยุงลูกหนี้ และเศรษฐกิจให้เดินต่อได้อย่างไม่สะดุด ชี้ผลของมาตรการทางการเงิน ถือว่าทำได้ดี ยันมาตรการการเงินเพียงพอรองรับผลกระทบโคมิครอนได้
เกือบ 2ปี เต็มที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องจมอยู่ภายใต้วิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 มีการที่ระบาดหลายระลอก ที่ล้วนสร้างผลกระทบซ้ำเติมให้กับภาคธุรกิจ และประชาชนอย่างไม่จบไม่สิ้น
“นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง” มีบทบาทสำคัญมาก ในการช่วยพยุงลูกหนี้ให้รอดจากวิกฤติ และช่วยลดผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจและประชาชนให้มากที่สุด
ธปท.เชื่อ “มาตรการการเงิน” เพียงพอ รองรับผลกระทบ ‘โอมิครอน’ โดยเฉพาะ กลไกจาก ฟากนโยบายการเงินที่เป็นกลไกสำคัญ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้รับผลกระทบลดลง จากการขาดรายได้และถูกกระทบจากโควิด-19
หากย้อนดูตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา มีหลายมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการออกมาช่วยลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อย อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 3 ในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ การเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงก.พ.ปี 2563 เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของผู้กู้ รวมถึงการประกาศมาตรการทางการเงินระยะที่ 1 ตั้งแต่มี.ค. ปี 2563 ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราว การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้รายย่อย
รวมถึงการออกมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2 ต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดมาตรการขั้นต่ำให้สถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งยืดชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย พักหนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดเมื่อก.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ยังมีการออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะที่ 3 หรือมาตรการแก้หนี้ระยะยาว เพื่อหวังเข้าไปช่วยลูกหนี้ในระยะยาวมากขึ้น ผ่านการให้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อหวังว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้า
ขณะที่ฟากภาคธุรกิจ ธปท.มีการออกมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องเช่นกัน ทั้ง การพักหนี้เป็นการทั่วไป การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ และต่อเนื่องไปสู่มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อช่วยลูกหนี้ลูกอย่างครบคลุมทุกกลุ่มมากขึ้น
ในด้านสถาบันการเงิน ก็เกิดวิกฤติไม่แพ้กัน จากโควิด-19 กระทบ ที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนรุนแรงในตลาดเงิน จากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนนักลงทุนแห่ขายสินทรัพย์ ตราสารหนี้ ขายหน่วยลงทุนก่อนกำหนดจำนวนมาก ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ออกมาประกาศปิดกองทุนจำนวนมากเพื่อลดผลกระทบที่มีจากความตื่นตระหนก
ครั้งนี้ ธปท.ได้ทำหน้าที่ ในการเป็น "หลังพิง" ให้กับ “สถาบันการเงิน” โดยการยื่นมือเข้าไปช่วย “อุ้ม” หรือลดผลกระทบให้มากที่สุด ผ่านการออกมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) และจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) เพื่อให้เป็นมาตรการเชิงป้องกัน ไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนลุกลามเป็นการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง
“ชญาวดี ชัยอนันต์”ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด 19 ธปท. มีมาตรการหลากหลายที่มุ่งให้ระบบเศรษฐกิจการเงินเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงวิกฤต
ในระยะแรก ธปท. ผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ดำเนินการรวดเร็วและมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ลดภาระต้นทุนทางการเงินและพยุงเศรษฐกิจในภาพรวม
ขณะที่ดูแลความเชื่อมั่นและการทำงานของตลาดการเงินด้วยมาตรการ MFLF และ BSF
รวมทั้งดำเนินมาตรการทางการเงินอื่น ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นให้ตอบโจทย์ลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ และสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งมาตรการแก้หนี้เดิม และมาตรการเสริมสภาพคล่อง
รวมทั้งมีช่องทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยแก้หนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีปัญหาการชำระหนี้ เช่น โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ คลินิกแก้หนี้ ที่สำคัญ นโยบายและมาตรการเหล่านี้เป็นการสอดประสานกับนโยบายการคลังอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุม และพยุงเศรษฐกิจโดยรวม
ร่วม 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. วัด “ประสิทธิผล” ของมาตรการจากการที่ระบบเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมยังเดินหน้าต่อได้ในช่วงวิกฤต และการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงจุดและทันสถานการณ์
รวมทั้งสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ยังมีฐานะการเงินที่มั่นคง ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่าเราทำได้ดีระดับหนึ่ง เห็นได้จากสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังโตได้ดี แม้ไทยถูกกระทบจากโควิดหนักที่สุดและฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น
โดยแม้ GDP ไทยปี 2563 หดตัวถึง 6% แต่สินเชื่อยังโตได้ถึง 5.1% และล่าสุด ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ยังโตถึง 5.6% โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs ล่าสุดขยายตัวได้ 2.3%
ซึ่งถือเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูเป็นหลัก หากไม่รวมผลของมาตรการดังกล่าว สินเชื่อ SMEs ในไตรมาสล่าสุด แทบไม่ขยายตัว!
ส่วน NPL เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากช่วงก่อนโควิด ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ที่อยู่ที่ 3.04% มาอยู่ที่ 3.14% ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ซึ่ง NPL สูงเกือบ 50% อีกทั้งเงินกองทุนและเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดย ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 BIS Ratio อยู่ที่ 19.9% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อ NPL อยู่ที่ 155%
ขณะที่มาตรการการคลังมีส่วนช่วยเยียวยาและฟื้นฟูรายได้ ซึ่งผลจากมาตรการทั้งหมดโดยรวมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้ไม่สะดุด
“ผ่านมา ธปท. ได้ทยอยปรับมาตรการให้ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ทันสถานการณ์มากขึ้น ทำให้เหมาะกับการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาว เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่แน่นอนสูงและอาจยืดเยื้อ เช่น มาตรการแก้หนี้ระยะยาว และมาตรการแก้หนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ”
สำหรับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ “โอมิครอน” ล่าสุด ประเมินเบื้องต้นว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวอาจยังถูกกระทบไม่มาก เพราะไทยเพิ่งเริ่มเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก และแม้สายพันธุ์โอมิครอน จะสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า และประสิทธิภาพของวัคซีนในการกันติดเชื้อจะต่ำลง แต่จากข้อมูลล่าสุด ยังประเมินว่าวัคซีนยังสามารถป้องกันการป่วยหนัก (severity) ได้ ทำให้คาดว่าระบบสาธารณสุขไทยยังมี capacity ที่สามารถรองรับได้ และไทยมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนที่ดี
โดยคาดว่าในช่วงต้นปีหน้า คาดว่าอัตราการฉีดเข็ม 3 น่าจะขึ้นไปถึง 70% ได้ ทำให้มองว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งหลังของปี และทางการไม่น่าจะมีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดในวงกว้าง
ดังนั้นทำให้เชื่อว่า มาตรการที่ ธปท. ได้ดำเนินการไว้แล้ว “น่าจะยังเพียงพอ” ที่จะดูแลผลกระทบจากการระบาดของ “โอมิครอน” ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่กับการเร่งผลักดันมาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงจุดและครอบคลุม เพื่อท้ายสุดจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เข้มแข็ง
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you