ทุกวันนี้ ไม่มีใครในแวดวงธุรกิจและภาคการเงินไม่รู้จัก “ESG” ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจต้องใส่ใจเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)
ส่งผลโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจและเศรษฐกิจไทย
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภัยธรรมชาติ เห็นได้ชัดจากปัญหาภัยแล้งปี 2557 ที่ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้หลักหมื่นล้านบาท และปัญหาน้ำท่วมที่ยังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ทางการไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญและได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนรอดไปด้วยกัน
ล่าสุด ในการประชุม COP26 ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 หรือ ค.ศ. 2065 ซึ่งเป็นการย้ำจุดยืนที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ
ภาคการเงินในฐานะตัวกลางการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2564 คณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance) ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางในการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในภาคการเงินไทยที่สอดคล้องกัน ซึ่งมุ่งกระตุ้นให้หน่วยงานและธุรกิจในภาคการเงินผนวกประเด็นด้าน ESG ในทุกกระบวนการดำเนินงานอย่างจริงจัง
ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอชวนกางแผนงาน คลี่ปมคลายสงสัย เผยรายละเอียดของแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะพาประเทศไทยก้าวสู่โลกการเงินที่ยั่งยืน
1. เชื่อมจุดสำคัญครบทุกมิติ ครอบคลุมทุกการดำเนินงานในภาคการเงินการธนาคาร
Sustainable Finance Initiatives for Thailand (The Initiatives) เป็นการเชื่อมโยงทิศทางและแผนงานของคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้การกำกับซึ่งครอบคลุมทั้งบริการทางการเงินของภาคธนาคาร ตลาดทุน และธุรกิจประกันภัย รวมถึงหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรฐานที่จะช่วยผลักดันการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง
2. The Initiatives คือรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนมุ่งสนับสนุนให้ภาคการเงินมีระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยสร้างจากแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย
(1) การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมและโครงการที่ยั่งยืนในภาคเศรษฐกิจ
(2) การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพ
(3) การสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ให้และผู้ใช้บริการในภาคการเงิน
(4) การส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมและกฎระเบียบที่เหมาะสม
(5) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคการเงิน
โดยจะทยอยเล่าในข้อต่อๆ ไป ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ล้วนผนึกกำลังให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถออกนโยบายสนับสนุนกิจการที่ยั่งยืนได้ เพื่อนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
3. จุดร่วมแรกคือการมี Taxonomy ตะแกรงกรองกิจการและโครงการที่ยั่งยืน
ในการที่จะขับเคลื่อนการเงินที่ยั่งยืนได้ จำเป็นต้องรู้ก่อนว่ากิจกรรมใดยั่งยืน ซึ่งสามารถคัดกรองได้ด้วย “taxonomy” ที่กำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมที่ยั่งยืนในภาคเศรษฐกิจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยอ้างอิงจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การมีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือการคัดเลือกวัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิยามและหมวดหมู่จะช่วยให้ผู้กำกับดูแลและธุรกิจนำไปกำหนดการดำเนินงานของตนเองได้ง่ายขึ้น โดยผู้กำกับดูแลสามารถใช้อ้างอิงในการออกนโยบายสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน และผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน
4. “Data is the new oil.” ขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนด้วยพลังแห่งข้อมูล
เมื่อทราบแล้วว่ากิจกรรมและโครงการใดเข้าข่ายความยั่งยืน เศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะขับเคลื่อนต่อได้ด้วยพลังแห่งข้อมูล โดยการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ใช้งานได้จริง มีคุณภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของภาคธุรกิจจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการติดตาม วิเคราะห์ และตัดสินใจทางการเงิน ขณะที่ธุรกิจยังสามารถจำแนกประเภทการลงทุนและวัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เกิดจากประเด็นด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจทั้งในและนอกภาคการเงินสามารถนำข้อมูล ESG ไปประกอบการประเมินเพื่อได้รับการคัดเลือกการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนต่างๆ เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และ FTSE4Good Index เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุน เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรต่อสาธารณชนได้อีกด้วย
5. โอกาสดี สภาพแวดล้อมดี บุคลากรดี มีชัยไปกว่าครึ่งในโลกการเงินที่ยั่งยืน
ด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ และตลาดของการเงินเพื่อความยั่งยืนยังเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการเงินการธนาคาร The Initiatives จึงกำหนดให้มีการสร้างมาตรการจูงใจ (incentives) เป็นหนึ่งในการดำเนินงานหลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่าเดิม ไม่เพียงเท่านี้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ผู้เล่นในภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนถือเป็นแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญเช่นกัน โดยจะพิจารณากฎเกณฑ์กติกาที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ The Initiatives ยังให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรในภาคการเงินที่มีคุณภาพและมีองค์ความรู้ในการผลักดันงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากประเด็นด้าน ESG ได้อย่างเหมาะสม โดยบุคลากรในภาคการเงินถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดธุรกรรมเพื่อความยั่งยืนระหว่างผู้ให้และผู้ใช้บริการในภาคการเงิน
6. The Initiatives ใส่เกียร์เดินหน้า ธุรกิจเริ่มก่อนและรอดก่อนในสมรภูมิแห่งความยั่งยืน
เมื่อประเทศมหาอำนาจเริ่มขยับปรับความยั่งยืนให้กลายเป็นข้อต่อรองทางการค้า ประเทศไทยก็ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น แผนนโยบาย European Green Deal ที่จะเก็บภาษีคาร์บอนจากคู่ค้าของสหภาพยุโรป และการผนวกเป้าหมายที่จะลดโลกร้อนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G7 เราจึงเชื่อมั่นว่า The Initiatives จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคการเงินไทยหรือลูกค้าธุรกิจเริ่มผนวกกลยุทธ์การดำเนินงานที่คำนึงถึงประเด็น ESG ในกระบวนการทำงานได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ธนาคารเริ่มจัดพอร์ตลูกค้าใหม่และเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่ยั่งยืน หรือธุรกิจเริ่มศึกษาเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันการค้าและการบริการรูปแบบใหม่ในอนาคต
ผู้เขียนเชื่อว่า The Initiatives หรือแนวทางการดำเนินงานของภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะแนวทางดังกล่าวเป็นการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนของภาคการเงิน เพื่อสร้างระบบสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่คำนึงถึงประเด็น ESG ร่วมกัน
โดยเฉพาะการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างตรงจุดและมีต้นทุนราคาที่เหมาะสม ซึ่งช่วยสนับสนุนการระดมทุนและการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการและกิจกรรมที่เข้าข่ายความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดย ธนิดา ลอเสรีวานิช
ผู้วิเคราะห์อาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
Source: ThaiPublica
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you