อังกฤษรายงานพบโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่ระบาดในประเทศกลายพันธุ์เพิ่มเติม คิดเป็น 6% ของการติดเชื้อใหม่ในประเทศ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหราชอาณาจักรกำลังจับตาดูและศึกษาเชื้อไวรัสโควิด-19 “สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่กลายพันธุ์”
ตัวใหม่ ท่ามกลางความวิตกกังวลจากตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุหลัก 40,000 รายต่อวันนานต่อเนื่องเกือบสัปดาห์แล้ว
สายพันธุ์ดังกล่าวคือ “AY.4.2” มีลักษณะการกลายพันธุ์ที่อาจเพิ่มโอกาสในการเอาชีวิตรอดของไวรัส ขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่า การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตาในครั้งนี้มีภัยคุกคามมากน้อยเพียงใด
แต่เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือหลบเลี่ยงวัคซีนได้ และยังไม่ได้รับการจัดระดับความเสี่ยงว่าเป็น สายพันธุ์ต้องตรวจสอบหรือสายพันธุ์ต้องกังวลแต่อย่างใด
สายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์ที่ครองสัดส่วนการระบาดสูงสุดสหราชอาณาจักร แต่ข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุดชี้ให้เห็นว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย. ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่มีข้อมูลการจัดลำดับพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรที่สมบูรณ์ สายพันธุ์ AY.4.2 คิดเป็นประมาณ 6% ของตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ และสัดส่วนกำลังเพิ่มขึ้น
AY.4.2 มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่งในโปรตีนหนาม คือ A222V และ Y145H ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่ช่วยให้ไวรัสเจาะเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ง่ายขึ้น
เดิมสายพันธุ์เดลตาถูกจัดประเภทเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลในสหราชอาณาจักรตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีนี้ หลังสัดส่วนการระบาดแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แต่ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญก็เริ่มตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย AY.4.2 และมีสัดส่วนการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่นั้นมา
ศ.ฟรังซัวส์ บัลลูซ์ ผู้อำนวยการสถาบันพันธุกรรมมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ให้ความห็นว่า “AY.4.2 อาจเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้มากกว่าเล็กน้อย ... แต่ไม่มีอะไรเทียบได้กับสิ่งที่เราเห็นจากอัลฟาและเดลตา ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า 50-60% ... ส่วน AY.4.2 มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตาดั้งเดิมราว 10-15% ... ณ ตอนนี้ ผมบอกได้แค่ว่าให้รอดูต่อไป อย่าเพิ่งตกใจ มันอาจจะแพร่ระบาดได้มากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป แต่ก็จะไม่ใช่หายนะอย่างที่เราเคยเห็นมาก่อนจากอัลฟาและเดลตาแน่นอน”
ด้าน รวี คุปตา ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาทางคลินิก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การกลายพันธุ์นี้ไม่ได้น่ากังวลเป็นพิเศษ “การกลายพันธุ์ตำแหน่ง A222V เคยปรากฏแล้วในสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ของเดลตา มันไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรมากต่อไวรัส”
ส่วนการกลายพันธุ์ตำแหน่ง Y145H คุปตาระบุว่า เคยพบในสายพันธุ์อัลฟามาก่อนแล้วเช่นกัน ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระดับน้อยมาก
บัลลูซ์ยังเสริมว่า สายพันธุ์ย่อย AY.4.2 นี้ ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่สูงขึ้นในช่วงนี้ “ศักยภาพในการแพร่เชื้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยนี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของการระบาดทั้งหมดเท่านั้น ... และถ้าสมมติว่า AY.4.2 แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นประมาณ 10% จริง อัตราการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นราว 1% ในทุก ๆ 5 วันเท่านั้น”
ด้านคุปตากล่าวว่า การมุ่งเน้นไปที่สายพันธุ์ใหม่นั้นเป็นการหลงประเด็น เพราะยังปัจจัยสำคัญอื่น ๆ หลายประการที่ส่งผลต่อตัวเลขการติดเชื้อ รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กที่ล่าช้า ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ อัตราการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-15 ปีในอังกฤษต่ำกว่าสกอตแลนด์ถึงประมาณ 3 เท่า
“เราไม่ควรโทษไวรัสสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร ... แต่เป็นเพราะว่าโดยพื้นฐานแล้วเราควบคุมการแพร่เชื้อไม่ได้ และนั่นเป็นเพราะว่าเด็ก ๆ มีความเสี่ยง พวกเขาไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พวกเขากลับมาที่โรงเรียน พวกเขากำลังแพร่ไวรัสในหมู่พวกเขาเอง และพวกเขากำลังแพร่เชื้อต่อไปให้กับครอบครัวของพวกเขา” คุปตากล่าว
เขาเสริมว่า “สารที่ควรนำเสนอคือ เราต้องหยุดกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ แต่ควรกังวลเกี่ยวกับความจริงที่ว่า เราไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในสหราชอาณาจักร”
ด้านโฆษกรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “สายพันธุ์ AY.4.2 เป็นเรื่องที่เรากำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด”
นอกจากในสหราชอาณาจักรแล้ว มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ AY.4.2 ที่สหรัฐฯ และเดนมาร์กเช่นกัน แต่สัดส่วนไม่สูง
Source: PPTV
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you