ในช่วงประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติรายได้ และความเป็นอยู่จากผลกระทบของโควิด-19 คนจำนวนมากเดือดร้อนด้านการเงิน และต้องการเงินกู้ใหม่เพื่อใช้จ่ายประทังชีวิต ในขณะที่คนที่พอมีเงินเก็บ เงินออมอยู่บ้างก็พยายามหาหนทางในการลงทุนเพื่อทดแทนรายได้จากดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยติดดิน
แต่กลับมี “มิจฉาชีพ” ที่ใช้ความเดือดร้อนนี้เป็น “หนทางในการหลอกลวง” เพื่อให้เสียทรัพย์สินที่หามาได้อย่างยากลำบาก เช่น การสร้างสถานการณ์ต่างๆ หลอกให้เหยื่อโอนเงินให้ หรือหลอกให้ลงทุนสินทรัพย์ที่ไม่เกิดขึ้นจริง การหลอกลวงแบบแชร์ลูกโซ่ และหลายครั้งๆมีคนมากมายถูกหลอกลวง ความเสียหายหลายร้อยล้านบาท นอกจากนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ออนไลน์ ระบบการเงินการลงทุนถูกยกเข้าไปในโลกดิจิทัล มีนวัตกรรมใหม่ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี เงินดิจิทัล หรือการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันยิ่งเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพหลอกลวงเพิ่มขึ้น
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้ขอคำแนะนำจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เพื่อชี้เบาะแสพฤติกรรมการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆที่มีจำนวนมากในขณะนี้ รวมทั้งวิธีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้กลายเป็นเหยื่อของ“คนหลอกลวง”
ก.ล.ต.เตือนสารพัดโกงลงทุน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า “ปัจจุบันการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์สามารถทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ “มิจฉาชีพ” อาศัยช่องทางออนไลน์ในการหลอกลวงประชาชน ทั้งโซเชียลมีเดีย อีเมลฟิชชิง (phishing email) รวมถึงแอปพลิเคชันส่งข้อความหรือแชต”
โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดทุนที่มีการร้องเรียนและชี้เบาะแสเข้ามายัง ก.ล.ต.มีการหลอกลวงในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี การเปิดเว็บไซต์ระดมทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตและมักอ้างว่าจะนำไปลงทุนพัฒนาโครงการ
รวมถึงการหลอกลงทุนว่าจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แต่แท้จริงเป็นลักษณะเหมือนแชร์ลูกโซ่ บางรายแอบอ้างว่าแพลตฟอร์มอยู่ระหว่างขออนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ
“กลโกงเหล่านี้จะสังเกตได้จากลักษณะการชักชวนลงทุนที่เน้นกล่าวถึงการได้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือมีการการันตีผลตอบแทน แต่เมื่อถามถึงที่มาของผลตอบแทนก็มีความไม่ชัดเจน ไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งจะเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุนโดยเร็ว แอบอ้างคนมีชื่อเสียงชักชวนคนมาลงทุนเพิ่ม จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง”
ทั้งนี้ หากถูกชักชวนลงทุน ควรตรวจสอบรายชื่อว่าเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่ ที่ทะเบียนรายชื่อ Investor Alert ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ( www.sec.or.th ) หรือตรวจสอบรายชื่อได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และยังสอบถามข้อมูล หรือพบเห็นการชักชวนลงทุนที่ไม่น่าไว้วางใจ แจ้งเบาะแส ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207 หรือแจ้งมาทาง messenger เพจเฟซบุ๊ก สำนักงาน ก.ล.ต.ได้อีกด้วย
ลงทุนอย่างไรไม่ให้โดนหลอก
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยเป็นช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น “มิจฉาชีพ” ก็ใช้ช่องทางนี้หลอกลวงเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้เราเอะใจ หรือรู้ว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่ ข้อมูลจาก ก.ล.ต.แนะนำว่า ให้ดูลักษณะร่วมสำคัญ 5 ข้อเหล่านี้ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้หลอกลวง
1.ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง บางครั้งเสนอผลตอบแทนสูงมากจนแทบไม่น่าเป็นไปได้ เช่น 70-80% หรือ 100% ต่อเดือน ซึ่งหากเราดูการลงทุนในหุ้นที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนเฉลี่ยไม่ถึง 20% ต่อปี ฉะนั้น ถ้าเห็นการชักชวนบอกว่าให้ผลตอบแทนสูงขนาดนี้ ให้เดาไว้ก่อนว่า หลอกลวง ไม่ควรตัดสินใจโดยดูแค่ผลตอบแทน
2.การันตีผลตอบแทน ปกติการลงทุน ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้ เพราะผลตอบแทนจะผันผวนตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ สภาพธุรกิจ ตลาดโลก ความเชื่อมั่น ดังนั้น บุคลากรหรือบริษัทการลงทุนที่ถูกกฎหมายจะไม่มีทางพูดว่าการันตีผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์แบบชัดๆ จะทำได้แค่ประมาณการเท่านั้น
3.เร่งรัดให้รีบตัดสินใจ เร่งให้เราตัดสินใจลงทุนไวๆ เช่น นาทีสุดท้ายแล้ว เหลือที่ไม่มาก ซึ่งถ้ารีบขนาดนั้นอาจจะบอกเขาว่า เชิญไปก่อนเลย เราไม่รีบ เพราะที่เขาเร่งก็เพื่อจะรีบเอาเงินเราไปนั่นเอง
4.แอบอ้างคนมีชื่อเสียง หรือบอกว่าใครๆ ก็ลงทุน หรือแม้แต่คนใกล้ชิดที่มาชักชวนก็ตาม และยังบอกให้เราไปชวนคนมาลงทุนเพิ่มมากๆ พยายามสร้างความน่าเชื่อถือ พยายามโน้มน้าวเราว่าอย่าตกขบวน ซึ่งแท้จริงแล้วรถไฟมีหลายขบวน ดังนั้น ไม่เป็นไร ขอไปขบวนที่ปลอดภัยดีกว่า
5.ธุรกิจไม่ชัดเจน ตรวจสอบไม่ได้ การลงทุนได้ผลตอบแทนสูง แต่ไม่สามารถรู้แหล่งที่มาของรายได้และผลตอบแทนว่าคืออะไร ทำธุรกิจจริงไหม ธุรกิจอยู่ไหน จะไปดูด้วยตาหรือหาข้อมูลก็ไม่เห็นมี จับต้องไม่ได้เลย เอาชื่อไปค้นหาว่าได้รับอนุญาตหรือไม่ ก็หาไม่เจอ เจอแบบนี้ ปฏิเสธไปได้เลย เพราะเสี่ยงถูกหลอกแน่นอน
ดังนั้น การป้องกันตัวเองจากการโดนหลอกจากการลงทุนออนไลน์ หรือออฟไลน์ คาถาหนึ่งที่แนะนำคือ “มีสติอยู่เสมอ” คิดก่อนตัดสินใจที่จะนำเงินที่ทำมาหาได้หรือเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินเอาไปให้คนอื่น
โดยการหลอกลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ระบาดมาก และมาในหลายรูปแบบ ทั้งออมทอง ออมเงิน ลงทุนในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มนอก เติมเงินรับโบนัส และเลียนแบบหน้าเว็บ (phishing) หลอกให้เชื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว และโอนเงิน จึงต้องมีสติ คิดให้รอบคอบ ตรวจสอบชื่อ/เบอร์โทร. ว่าเคยมีใครถูกหลอกหรือไม่ และบางแพลตฟอร์มหลอกให้เราลงทุน ซึ่งถ้าหลงเชื่อนำเงินลงทุนไปช่วงแรกๆ ถอนได้แค่ครั้ง สองครั้ง เพื่อหลอกให้ตายใจใส่เงินเพิ่มมากๆ แต่หลังจากนั้นจะมีปัญหาขัดข้อง ถอนไม่ได้ และหายไป
6 ข้อควรระวังก่อนลงทุนคริปโตฯ
โดยกรณีการหลอกลวงจากเคสต่างๆ เมื่อ ก.ล.ต.ได้รับการร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงลงทุน เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่ใช่บุคคลหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาต ก็จะออกข่าวเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังให้ความรู้เกี่ยวกับกลโกง หรือรูปแบบการชักชวนลงทุนที่ต้องระวัง การสังเกตมิจฉาชีพ โดยติดตามความรู้การเงินการลงทุนดีๆ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Start-to-invest หรือเว็บไซต์ smarttoinvest ส่วนผู้ที่พลาดเสียหายไปแล้วควรแจ้งความดำเนินคดี โดยอาจรวมตัวผู้เสียหาย ไปแจ้งความที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)
ทั้งนี้ จุดหนึ่งที่เราต้องรู้ คือ นอกจากมิจฉาชีพจะใช้ช่องทางใหม่ๆ เข้าหาเราแล้ว ยังมักใช้สินทรัพย์ใหม่ๆมาหลอกลวงด้วย อย่างในช่วงนี้คริปโตเคอร์เรนซีกำลังได้รับความสนใจ ก็จะถูกนำมาใช้เป็นสินทรัพย์หลอกลวง
แต่สำหรับคนที่สนใจลงทุน ก.ล.ต.แนะนำ 6 ข้อควรระวังที่ต้องรู้ไว้ก่อนเริ่มลงทุน
1.ศึกษาข้อมูลให้เข้าใจลักษณะความเสี่ยงและผลตอบแทนของคริปโตเคอร์เรนซี และอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ที่ชักชวนลงทุนโดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง 2.ก่อนลงทุนต้องเข้าใจความสามารถของตัวเองว่า รับความผันผวนสูงได้ เพราะคริปโตเคอร์เรนซีอาจขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับ และเป็นเพียงการเก็งกำไร 3.ยอมรับการสูญเสียของเงินลงทุนได้ โดยไม่เป็นภาระต่อตนเองและครอบครัว เพราะมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนทั้งก้อน
4.หากไม่เคยลงทุนในหลักทรัพย์มาก่อน ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ 5.ลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 6.หมั่นติดตามบัญชีลงทุนอยู่เสมอ
หากพบปัญหาสามารถติดต่อ “ศูนย์ดูแลลูกค้าของบริษัท” (Compliance) หรือติดต่อสายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. 1207 ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน
สถิติ “หลอกลวง” การเงินออนไลน์พุ่ง
ขณะที่ในฝั่ง “ภัยการเงิน” ข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นปี 63 พบว่า การหลอกลวงในเรื่องการเงินเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับเรื่องร้องเรียนสูงสุดช่วงไตรมาส 4 ปี 63
ผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนการหลอกลวงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เงินฝาก เงินโอน และเช็ค 317 รายการ คิดเป็น 51% ของการหลอกลวงที่ร้องเรียน ส่วนใหญ่หลอกลวงผ่านออนไลน์ อีเมล โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์
อันดับ 2 ถูกหลอกเรื่องการให้สินเชื่อ 87 รายการ คิดเป็น 14% ส่วนใหญ่เป็นการหลอกให้โอนเงิน สมัครเข้าร่วมโครงการเงินกู้ และแอบอ้าง เป็น ธปท. และอันดับ 3 หลอกให้นำเงินไปลงทุน 63 รายการ คิดเป็น 10% ส่วนใหญ่หลอกให้ลงทุนในต่างประเทศ แชร์ลูกโซ่ และอื่นๆ เช่น ลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน (FOREX) และคริปโตเคอร์เรนซี Bitcoin
ทั้งนี้ ศคง.พบว่า ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ ช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook แอปพลิเคชันไลน์ และอีเมล ในขณะที่ช่องทางโทรศัพท์ลดลงจากปีก่อน เพราะมิจฉาชีพเปลี่ยนมาหลอกลวงผ่านออนไลน์ ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมาก และการหลอกลวงมีรูปแบบซับซ้อนและตรวจสอบได้ยากกว่า
โดย “ภัยทางการเงินหลัก” ที่พบในปี 63 ได้แก่ 1.แอบอ้าง สวมรอยเป็นบุคคลอื่น ให้โอนเงินให้ เช่น หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ ธปท. ญาติพี่น้อง 2.หลอกจีบให้ตายใจ แล้วขอให้โอนเงินให้ ส่วนใหญ่เป็นมิจฉาชีพชาวต่างชาติและติดต่อผ่าน Facebook 3.หลอกว่าช่วยให้ได้สินเชื่อ แต่ให้โอนค่าธรรมเนียมล่วงหน้า เช่น ขอเป็นค่าเอกสารปล่อยกู้ 4.หลอกว่าจะจ่ายชำระคืนหนี้ให้ โดยให้เสียค่าสมัครล่วงหน้า 5.หลอกให้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อผ่านออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าหรือบริการนั้นจริง
6.หลอกให้โอนเงินให้ โดยอ้างว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่ หรือพัสดุที่มีมูลค่าสูงจากมิจฉาชีพต่างชาติที่ติดต่อผ่านออนไลน์โดยหลอกให้โอนเงินเป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษี 7.หลอกให้ลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง ในรูปแบบการลงทุนต่างๆ เช่น Forex Bitcoin เงินดิจิทัล แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ธนาคารแสงแดด โครงการปลูกป่าลดหนี้ 8.หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล/ขโมยข้อมูล เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลใน e-mail/website/application ปลอมของสถาบันการเงิน หรือแอปเงินกู้ 9.ปลอมแปลงข้อมูลบัตรเครดิต/บัตรเดบิต เพื่อนำไปชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ธปท.เตือน “แอปปลอมเงินกู้”
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า “เทคโนโลยีทำให้การทำธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทั้งการโอนเงิน ชำระเงิน หรือแม้แต่การกู้เงินก็ทำผ่านออนไลน์ด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ผู้ใช้บริการจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะโลกออนไลน์ เราไม่เห็นบุคคลหรือหน่วยงานที่ติดต่อด้วยว่า เป็นผู้ให้บริการตัวจริง หรือเป็นมิจฉาชีพสวมรอย”
โดยเฉพาะในช่วงนี้ กรณีที่พบบ่อยเป็นการหลอกลวงประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19 และประสบปัญหาทางการเงิน และต้องการเงินกู้มาต่อยอดธุรกิจ หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ธปท.จึงขอแนะนำกรณีที่จะกู้เงิน โดยหากได้รับ SMS หรือมีคนโทรศัพท์ หรือ “แอดไลน์” อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หน่วยงานรัฐ บริษัทให้เงินกู้ หรือจะให้เงินช่วยเหลือ อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล ควรเช็กให้ชัวร์ก่อน เพราะมีทั้งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย เงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยโหด และเงินกู้ปลอมที่หลอกเอาเงินแต่ไม่ได้ให้กู้จริง
ข้อที่ 1 ต้องพิจารณาก่อนว่า “ผู้ให้เงินกู้” เป็นใคร 1.ผู้ให้กู้ในระบบหรือผู้ที่ได้รับอนุญาต มีทางการกำกับดูแล หรือ 2.เป็นผู้ให้กู้นอกระบบ ซึ่งเงินกู้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม หักดอกเบี้ยก่อน แต่ต้องคืนเงินกู้เต็มจำนวนบวกกับดอกเบี้ย หรือค่าปรับที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากจ่ายช้าจะถูกข่มขู่ หรือทวงกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในโทรศัพท์ของผู้กู้ทำให้อับอาย เพราะบางรายจะให้ผู้กู้ดาวน์โหลดแอป ซึ่งให้คลิกอนุญาตเข้าถึงข้อมูลในมือถือ
ขณะที่ 3.แอปเงินกู้ปลอม ที่ไม่ได้ปล่อยกู้จริง จะใช้วิธีการต่างๆ เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ส่ง SMS หรือแม้แต่โทร.หาโดยตรง หากเหยื่อสนใจ มิจฉาชีพจะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัวให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ
จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่า จะคืนให้พร้อมกับเงินกู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อยๆ เช่น อ้างว่าโอนเงินไม่ได้ เพราะเหยื่อกรอกเลขที่บัญชีผิด มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารเพื่อปลดล็อก หรือต้องจ่ายค่าลัดคิวจึงจะได้เงินเร็วขึ้น หากเหยื่อเริ่มรู้ทันก็จะถูกบล็อก ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อีก
ดังนั้น หากไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งคลิก ให้ข้ามมา ข้อที่ 2 คือ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อน โดย 1.ตรวจสอบรายชื่อแอป และชื่อผู้ให้บริการ นำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต
หาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ ธปท. (www.bot.or.th) ในหัวข้อ “เช็กแอปเงินกู้” หรือ BOT License Check ซึ่งจะช่วยตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาต หรือใบขึ้นทะเบียนภายใต้การกำกับของ ธปท. เช่น สินเชื่อบุคคล นาโนไฟแนนซ์ และยังมีลิงก์ไปเว็บไซต์กระทรวงคลัง ซึ่งมีรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว
2.บางครั้งมิจฉาชีพ หรือแอปเงินกู้นอกระบบ จะตั้งชื่อแอปคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาต จึงควรสอบถามหรือหาข้อมูลจากผู้บริการนั้นๆเพื่อสอบถามตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ว่าเป็นแอปของผู้ให้บริการจริงหรือไม่ 3.เลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูก jail break ในการทำธุรกรรมทางการเงิน 4.พิจารณาเงื่อนไขก่อนกู้ ไม่รีบกู้จนลืมดูรายละเอียดจำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน
ขณะที่การติดตามข่าวสารการเตือนภัยสม่ำเสมอเพื่อให้รู้เท่าทัน เช่น เพจ PCT Police ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอีกส่วนสำคัญ รวมทั้งต้องไตร่ตรองด้วยเหตุและผล หากไม่แน่ใจให้สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องก่อน และหากได้รับความเสียหายให้รวบรวมหลักฐานเอกสาร และแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ.
ทีมเศรษฐกิจ
Source: ไทยรัฐออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you