เร็วๆนี้มีข่าวสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยแบงก์ชาติ (retail central bank digital currency : retail CBDC) ที่แบงก์ชาติได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการพัฒนาเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมา
พร้อมออกผลศึกษาผลกระทบต่อภาคการเงินและแง้มแผนเตรียมทดสอบการใช้งานจริง (pilot test) ในวงจำกัดช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า โดยย้ำชัดว่าจะออกใช้ใน รูปแบบคล้ายเงินสดดิจิทัลคือไม่ให้ดอกเบี้ยและอาศัยตัวกลางช่วยกระจายเงิน ขอเรียกสั้นๆในที่นี้ว่า “เงินบาทดิจิทัล” ซึ่งจะมาเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินที่มีอยู่ ไม่ได้มาทดแทนให้ทางเลือกใดหายไป ผู้เขียนขอใช้โอกาสที่ร่วมศึกษางานนี้เก็บข่าวมาฝากผู้อ่านให้เกาะติดเทรนด์ใหม่ในภาคการเงินไทยกันค่ะ
หลายคนอาจสงสัยว่า “เงินบาทดิจิทัล” ต่างจาก “เงินสด” รูปธนบัตรและเหรียญกษาปณ์อย่างไร? ปกติเวลาจะใช้เงินสดหลายคนต้องถอนเงินฝากมานับและใช้จ่ายเงินผ่านมือกัน ซึ่งจะต่างจาก “เงินบาทดิจิทัล” ที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ แต่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และมีสินทรัพย์ภาครัฐหนุนหลังเหมือนเงินสด ก่อนจะใช้ต้องเอาเงินฝาก/ เงินสดมาแลกไปเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีสมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต แม้แต่บัญชีเงินฝากก็จะสามารถเข้าถึงใช้งานได้ด้วย เช่น อาจใช้งานผ่านการ์ดหรือชิปเหมือนบัตรเครดิต
แล้ว “เงินบาทดิจิทัล” นี้จะต่างจากการโอนเงินกันผ่านบัญชีเงินฝาก บนแอปในสมาร์ทโฟน/อินเตอร์เน็ตแบงกิ้งที่ก็ใช้ได้สะดวกดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างไร? สำหรับคนที่ชอบใช้เงินสด เพราะใช้จ่ายกันโดยตรงได้เลย ถือไว้ปลอดภัยไม่เสี่ยง สภาพคล่องสูง การมีเงินบาทดิจิทัลเพิ่มมาจะช่วยลดสัมผัส ลดต้นทุนเดินทางฝากถอน/เก็บรักษาเงินสด และเพิ่มประสิทธิภาพให้เงินสดน่าใช้ขึ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เหมือนตัดถนนใหม่ที่ใครก็ใช้ได้ หรือมาต่อยอดนวัตกรรมบริการการเงินใหม่ๆ เพิ่มได้ในอนาคต ทำให้ธุรกรรมเงินสดดิจิทัลวิ่งฉิว ถึงไว เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ต้องโอนเงินฝากผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งอาจมีข้อจำกัดบางเวลาหากคนใช้เยอะ หรือให้ใช้ได้เฉพาะกลุ่ม
ธนาคารกลางต่างประเทศก็สนใจศึกษาพัฒนา CBDC กันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เน้นพัฒนาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) ซึ่งปกติจะตัดชำระกันผ่านบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกลาง สำหรับไทยทดลองใช้ wholesale CBDC ได้ผลสำเร็จดีแล้ว ก็เริ่มมีแผนขยับขยายไปยังภาคธุรกิจและประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินใหม่นี้ด้วย บางประเทศมีความคืบหน้าเร็วในการออกใช้เงินสดดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ เช่น ประเทศบาฮามาสที่ต้นทุนขนเงินสดสูงมาก เพราะเป็นหมู่เกาะ ประเทศจีนที่ระบบการชำระเงินพึ่งพาธุรกิจเอกชนไม่กี่ราย อาจเกิดการผูกขาดไม่เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ หรือประเทศสวีเดนที่ใกล้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มที คนใช้เงินสดลดเหลือ 1% ของ GDP และหันไปพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานบริการชำระเงินของภาคเอกชนไม่กี่รายแทน บางกลุ่มที่ยังใช้เงินสดก็เริ่มเข้าถึงยาก
หลายประเทศอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้เงินสดดิจิทัล เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น นอกจากเห็นประโยชน์ว่าจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมออกใช้ หากบทบาทเงินสดในระบบเศรษฐกิจลดลงเร็วคล้ายกรณีสวีเดนหรือจีน หรือกรณีที่คนเริ่มใช้สกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชน (เช่น คริปโทเคอร์เรนซี่) ในการชำระเงินมากขึ้น จนกระทบประสิทธิผลการส่งผ่านนโยบายภาครัฐในการดูแลเศรษฐกิจ
การพัฒนา “เงินบาทดิจิทัล” เพื่อคนไทยถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ช่วยให้ระบบการชำระเงินของไทยพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดกว้างรับนวัตกรรมจากผู้ให้บริการทางการเงินเอกชนที่จะมาต่อยอดเข้ากับระบบเงินบาทดิจิทัล และอาจเป็นเครื่องมือช่วยให้นโยบายภาครัฐเข้าถึงประชาชนได้ตรงจุด ไม่รั่วไหล ติดตามวัดผลได้ดีขึ้นด้วยค่ะ.
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Source: ไทยรัฐออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you