การเดินทางท่องเที่ยวจะกลับคืนมา เมื่อก้าวจาก Travel Bubble ไปสู่การยกเลิกข้อห้ามการเดินทาง

เมือง Alice Springs อยู่ในเขต Northern Territory ออสเตรเลีย มีประชากรเพียง 26,534 คน แม้เมืองนี้จะมีสนามบินระดับท้องถิ่น แต่ลานบินก็ยาวพอที่จะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง Airbus A380 หรือ Boeing 747 ในปี 2011 สนามบิน Alice Springs ได้รับเลือกให้เป็น

“สุสาน” สำหรับเครื่องบินพาณิชย์แห่งแรก ที่ตั้งอยู่นอกสหรัฐอเมริกา
Asia Pacific Aircraft Storage (APAS) ของออสเตรเลีย เป็นบริษัทที่ดูแลรักษาเครื่องบิน ที่ถูกนำมาจอดที่สนามบิน Alice Springs ทาง APAS เลือกสนามบินแห่งนี้ เนื่องจากอากาศร้อนแห้ง ไม่มีความชื้น เหมาะแก่การดูแลรักษาเครื่องบินที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ และเหมาะกับเครื่องบินที่รอการชำแหละออกเป็นชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิล
Tom Vincent ผู้บริหาร APAS บอกกับ The Sydney Morning Herald ว่า ทุกสัปดาห์จะมีการซ่อมดูแลเครื่องบินในแต่ละลำที่ถูกนำมาจอด คนมักพูดว่า ที่นี่เป็นสุสานของเครื่องบิน ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
จำนวนนักเดินทางลดลงเหลือเท่ากับปี 2003
เมื่อเดือนเมษายน 2020 เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ Airbus A380 ของ Singapore Airlines เริ่มถูกนำมาเก็บไว้ที่สนามบิน Alice Springs การปลดประจำการของ A380 สะท้อนให้เห็นว่า
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลเสียหายที่รุนแรงแก่สายการบินต่างๆ โควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศพังทลายลงอย่างมาก
สายการบินจึงต้องนำเครื่องไปจอดทิ้งไว้ที่สนามบินอย่าง Alice Springs เพราะได้เปรียบกว่าการนำไปจอดที่สนามบินในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอากาศแบบร้อนชื้น ทำให้ชิ้นส่วนเครื่องบินสึกหรอผุกร่อนได้เร็วกว่า
องค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ของสหประชาชาติเปิดเผยว่า ในปี 2020 ผู้โดยสารระหว่างประเทศหายไปถึง 60% ทำให้จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของสายการบินถดถอยกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ในปี 2019 ผู้โดยสารสายการบินระหว่างประเทศมีจำนวน 4.5 พันล้านคน แต่ 2020 ปีแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนผู้โดยสารลดลงมาเหลือ 1.8 พันล้านคน เท่ากับจำนวนผู้โดยสารในปี 2003
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของอุตสาหกรรมการบิน ICAO ระบุว่า ปี 2020 สายการบินทั่วโลกขาดทุนรวมกัน 370 พันล้านดอลลาร์ โดยสายการบินในเอเชียแปซิฟิกขาดทุนมากที่สุด 120 พันล้านดอลลาร์ สายการบินในยุโรปขาดทุน 100 พันล้านดอลลาร์ และสายการบินในอเมริกาเหนือขาดทุน 88 พันล้านดอลลาร์ ส่วนสนามบินทั่วโลกขาดทุน 115 พันล้านดอลลาร์ และกิจการวิทยุการบินขาดทุน 13 พันล้านดอลลาร์
นักเดินทางหายไปเพราะนโยบายรัฐ
บทความของ bbc.com ชื่อ How Covid-19 will change air travel as we know itระบุว่า การสูญหายไปของนักเดินทางระหว่างประเทศ มีสาเหตุหลักสำคัญที่สุดคือจากนโยบายรัฐบาล การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกห้ามการเดินทางเข้าประเทศของคนที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักถาวร
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศตกฮวบเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2020 แต่ว่าจำกัดอยู่ในไม่กี่ประเทศ ทว่าเมื่อไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก ในเดือนมีนาคม 2020 ธุรกรรมด้านขนส่งทางอากาศก็หยุดลงอย่างสิ้นเชิง มาตรการล็อกดาวน์ การปิดพรมแดน และการจำกัดการเดินทาง ทำให้ในเดือนเมษายน 2020 จำนวนนักเดินทางระหว่างประเทศหายไป 98% และนักเดินทางในประเทศ 87%
จากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2020 จำนวนผู้โดยสารสายการบินเริ่มฟื้นตัวขึ้นในฤดูร้อนปี 2020 แต่การฟื้นตัวของผู้โดยสารของสายการบินก็เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ พอถึงเดือนกันยายน 2020 สถานการณ์กลับเลวร้ายลงไปอีก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเป็นคลื่นลูกที่ 2 ของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศนำเอามาตรการจำกัดการเดินทางกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
อย่างเช่น หลายประเทศยกเลิกการออกวีซ่าให้คนต่างชาติ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ระงับใช้ข้อตกลงที่มีกับบางประเทศเรื่องการเดินทางที่ไม่ต้องใช้วีซ่า มาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินต่างๆ เพราะเหตุนี้ หากสายการบินจะกลับมาทำการบินได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ
ท่ามกลางมาตรการจำกัดการเดินทาง ก็มีแนวคิดบางอย่างที่เป็นการยืดหยุ่นผ่อนปรนในเรื่องการเดินทางเข้าประเทศ แนวคิดดังกล่าวเรียกกันว่า “การเดินทางภายในฟองอากาศ” หรือ travel bubbles ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ “ระเบียงไวรัสโคโรนา” (Coronavirus corridors) หรือ “สะพานเชื่อมทางอากาศ” (air bridges)
travel bubbles มีแนวคิดแบบง่ายๆ ที่ว่า แทนที่จะห้ามไม่ให้นักเดินทางเข้าประเทศเลย หรือเข้ามาแล้วก็ต้องกักตัวเอง 14 วัน บางประเทศหันมาทำความตกลงที่จะเปิดพรมแดนระหว่างกันและกัน ในเวลาเดียวกันก็ยังปิดพรมแดนต่อประเทศอื่น อย่างเช่นข้อตกลงเปิดพรมแดนออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ หรือสิงคโปร์กับฮ่องกง
หลักการทั่วไปมีอยู่ว่า ประเทศที่ทำข้อตกลง travel bubbles คือประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งนี้ทำให้การเดินทางภายในฟองอากาศมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดน้อยลง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากที่อื่นๆ แพร่เข้ามาในประเทศ
ถึงเวลายกเลิกข้อห้ามการเดินทาง
แต่บทนำของ The Economist ฉบับล่าสุด (14 AUG 2021) บอกว่า ข้อจำกัดการเดินทางถูกนำมาใช้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันแก่คนท้องถิ่นจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่มาตรการนี้ทำงานไม่ได้ผล ประเทศที่เป็นเกาะหรือปกครองแบบเผด็จการเท่านั้นที่สามารถใช้มาตรการเข้มงวดรุนแรงในการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัส แต่โลกเราก็มีประเทศแบบนี้ไม่กี่ประเทศ อย่างเช่น นิวซีแลนด์ที่สามารถแยกตัวโดดเดี่ยวออกไป แต่พลเมืองอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนแค่ 21% ขณะที่อังกฤษฉีดไปแล้ว 68%
The Economist กล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกล้วนมีพรมแดนทางบก ดังนั้น การแยกตัวเองเป็นอิสระจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ประเทศต่างๆ ก็ใช้มาตรการที่สร้างความสับสนต่อนักเดินทาง สหรัฐอเมริกาห้ามนักเดินทางจากอังกฤษและอียู ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดของโลก แต่ไม่ห้ามนักเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งๆ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์เดลตา
หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายการเดินทางให้กับนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่มาตรการผ่อนคลายนี้ก็นำมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการยอมรับชนิดของวัคซีน อังกฤษฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในอินเดียให้กับคนอังกฤษแล้ว 5 ล้านคน แต่ปฏิเสธที่จะยกเลิกการกักตัวนักเดินทางมาจากอินเดียซึ่งฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันนี้มาแล้ว ส่วนจีนอนุญาตให้นักเดินทางเข้ามาประเทศหากฉีดวัคซีนที่ผลิตโดยจีน
The Economist เสนอว่า ดังนั้น การที่จะทำให้การเดินทางในโลกมีสภาพที่ดีขึ้น ประการแรกคือ การกลับไปสู่การเปิดพรมแดน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการควบคุมเลย การควบคุมจะต้องเป็นแบบจำกัด ชั่วคราว และมีเป้าหมายป้องกันการเข้ามาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มากกว่าการที่จะไปหยุดยั้งเชื้อโรคโดยรวม หากสายพันธุ์อย่างเดลตาแพร่ไปสู่ปลายทางประเทศต่างๆ แล้ว ข้อจำกัดการเดินทางก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น
ประการที่ 2 ทุกประเทศในโลกจะต้องให้การรับรองแก่วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพราะมีคนจำนวนไม่มากที่สามารถเลือกวัคซีนได้ การห้ามการเดินทางเข้ามากับคนฟิลิปปินส์ที่ฉีดวัคซีนสปุตนิกวีแต่ไม่ห้ามคนที่ฉีดไฟเซอร์ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ กลายเป็นเรื่องการกีดกัน นอกจากนี้ ยังไปสร้างความเสียหายให้แก่การรณรงค์ฉีดวัคซีนในโลก เพราะทำให้วัคซีนอีกแบบหนึ่งกลายเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพรองลงไป
ในการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อห้ามการเดินทางของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมการบินต้องเผชิญกับการฟื้นตัว ที่ยากลำบากและกินเวลายาวนาน หากการฟื้นตัวเกิดขึ้นแล้ว การเดินทางทางอากาศคงจะเปลี่ยนไปอย่างมาก จากเดิมที่นักเดินทางเคยรู้จักและคุ้นเคย
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"