ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด ภาคเอกชนส่วนใหญ่มองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะติดลบต่อเนื่องอีกปี หลังจากที่ติดลบ 6.1% แล้วในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กำลังไต่ขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์
การประคองชีวิตให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายถือเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน “ปัญหาหนี้สิน” ที่ต้องผ่อนชำระจำนวนมากเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องดูแล แต่ถ้าเราเริ่มผ่อนส่งหนี้ไม่ไหว แต่ไม่อยากจะกลายเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะทำอย่างไรได้บ้าง
ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงการแก้หนี้ในช่องทางต่างๆ ซึ่ง “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตรวจสอบสถาบันการเงิน 2 เพื่อมาเล่าสู่กันฟังถึงแนวทาง และช่องทางต่างๆในการช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งให้ข้อมูลช่องทางการแก้หนี้ทั้งหมด ที่ “คนเป็นหนี้ต้องรู้”
ทางหลัก-ทางเบี่ยง-ทางลัดปรับหนี้
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ได้เริ่มให้สัมภาษณ์ถึง “แนวทางการแก้ไขหนี้สินประชาชนของ ธปท.ว่า ได้พยายามสร้างทั้ง “ทางหลักทางเลือก ทางลัดและทางเบี่ยง” ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ สามารถแก้ปัญหาเจรจา และปรับโครงสร้างหนี้ได้ในทุกสถานะหนี้”
ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้สถานะไหน ลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระได้ ลูกหนี้เริ่มผ่อนชำระไม่ไหวแต่ยังไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือแม้แต่ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้อง หรือยึดทรัพย์แล้ว
ทั้งนี้ ทางออกแรกสุดของ “ลูกหนี้” ทุกสถานะ คือการเดินเข้าไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน หรือบริษัทให้บริการสินเชื่อ (นอนแบงก์) ด้วยตัวเอง ซึ่งมีข้อดีคือ เจ้าหนี้จะเห็นความตั้งใจของลูกหนี้ที่จะชำระหนี้ โดยไม่คิดเบี้ยวหนี้ หรือหนีหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น
และตั้งแต่เริ่ม “วิกฤติโควิด” เดือน เม.ย.63 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ธปท.ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ถูกกระทบรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ในช่วงการระบาด 2 รอบแรก และระยะที่ 3 ในการระบาดรอบนี้ เพื่อเร่งรัดให้สถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ
โดยระบุให้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่สถาบันการเงินต้องใช้ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ประ- กอบด้วยการแปลงหนี้สั้นเป็นหนี้ระยะยาว การลดค่างวดรายเดือน ปรับลดดอกเบี้ย รวมหนี้ เป็นต้น โดยแนวทางนี้ ถือเป็นถนนหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยลูกหนี้เข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงสูงสุดกว่า 6 ล้านล้านบัญชี
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรม และได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ในช่วงก่อนโควิด-19 ธปท.ได้แก้ไขเกณฑ์สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมที่คิดจากเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งก้อน เป็นให้คิดได้เฉพาะงวดที่ผิดนัด 2.ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2-4% จากเพดานเดิม เหลือ 16%, 26% และ 24% ตามลำดับ และ 3. ปรับวิธีการตัดชำระหนี้ โดยให้ตัดเงินต้น และดอกเบี้ยพร้อมกัน ซึ่งตัดค่าธรรมเนียม เงินต้น และดอกเบี้ยในงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
โดยลูกหนี้ติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งธปท.ได้กำชับให้สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เร่งเจรจากับลูกหนี้โดยเร็ว ในเงื่อนไขที่เท่ากับ หรือดีกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนด
“ไม่อยากให้ลูกหนี้หนีหาย หรือไม่ผ่อนส่งหนี้ เพราะจะมีผลต่อประวัติการเงิน และการใช้ชีวิตในอนาคต ธปท.จึงประสานกับหน่วยงานรัฐ และสถาบันการเงิน รวมทั้งนอนแบงก์ สร้างช่องทางต่างๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ลูกหนี้ผ่อนส่งหนี้ต่อไปได้”
มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้รวดเร็วขึ้นกว่าการปรับโครงสร้างโดยสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว ธปท.จึงออกแบบโครงการต่างๆเพิ่มเติมให้ลูกหนี้ที่ต้องการแก้หนี้ ทั้งโครงการที่มีมาก่อนแล้ว เช่น “คลินิกแก้หนี้” และโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด เช่น “โครงการทางด่วนแก้หนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้”
โดยมีข้อดี คือ เมื่อลูกหนี้สมัคร เข้ามา ธปท.จะส่งหนี้ให้สถาบันการเงิน ทำให้รู้ว่าเป็นหนี้ประเภทไหน และขอให้รายงานผลแก้หนี้ให้ธปท.ทุกสัปดาห์ ทำให้มูลหนี้ที่ผ่านโครงการเหล่านี้สำเร็จค่อนข้างมาก
สำหรับ โครงการคลินิกแก้หนี้ จะช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว โดยสามารถรวมหนี้ทั้งหมดเป็นก้อนเดียว ปรับลดค่างวด ผ่อนสูงสุดนานถึง 10 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ลูกหนี้ที่สนใจติดต่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) หรือโทร.0-2610-2266 หรือโทร.1443
ขณะที่ โครงการทางด่วนแก้หนี้ จะทำหน้าที่เป็น “ศูนย์” รับเรื่อง รับฟังจากลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้สินทุกกรณีทั้งสินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอี ทั้งกรณีที่ลูกหนี้ยังไม่เคยคุยกับธนาคารพาณิชย์ หรือคุยแล้วตกลงกันไม่ได้ โดยจะประสานงาน เพื่อหาข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
หลังจากนั้น เป็น “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์” ซึ่ง ธปท.ร่วมมือกับกรมบังคับคดี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดขึ้นเพื่อเป็นหนทางในการเข้าถึงการแก้หนี้ของประชาชน ทั้งหนี้ดี หนี้ที่เริ่มผ่อนไม่ไหว หนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล
และที่อยากแก้เป็นพิเศษ คือ หนี้ที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องของศาล และหนี้ที่ถูกยึดทรัพย์แล้วอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด และขายทอดตลาดไปแล้ว ซึ่งลูกหนี้หมดหวังแล้ว ให้กลับมาเจรจากันใหม่ได้
ขณะเดียวกัน กระบวนการแก้หนี้ผ่านมหกรรมฯ ยังได้ “วางมาตรฐาน” การแก้หนี้ร่วมกันที่ชัดเจน และเข้าใจตรงกันทั้งฝั่งศาล กรมบังคับคดี เจ้าหนี้ ว่า หากเป็นหนี้ดีจะช่วยเหลืออย่างไร ไกล่เกลี่ยส่วนไหนได้บ้าง กรณีหนี้ที่ผ่อนไม่ไหวทำอย่างไร ลดค่างวด ลดดอกเบี้ยได้เท่าไร หนี้ที่ถูกยึดทรัพย์แล้ว ขอซื้อกลับมาผ่อนต่อ จะเจรจากันในรูปแบบไหน การคิดค่าติดตามทวงถามหนี้ และค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ของเจ้าหนี้ มีความเป็นธรรมหรือไม่ ดอกเบี้ยในช่วงพักหนี้ต้องคิดอย่างไร ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น และลดภาระหนี้ได้มากขึ้น
นอกจากนั้น ยังได้วางแนวทางดูแล “หนี้ส่วนที่เหลือ” จากการขายสินทรัพย์ทอดตลาด หรือ “ติ่งหนี้” โดยมีโปรแกรมให้ลูกหนี้คำนวณได้ว่า หนี้ที่ต้องผ่อนต่อนั้นเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมหรือไม่ บวกค่าธรรมเนียม ค่าติดตามทวงถาม ค่าอื่นๆ มากเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้คิดกับลูกหนี้ลงได้
“ธปท.จัดแล้ว 3 ประเภทหนี้คือ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน จบไปแล้วเมื่อ 30 มิ.ย.64 มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ที่ไม่มีหลักประกันที่โอนมาที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ จบไปเมื่อ 31 ก.ค.64 และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ เดิมกำหนดจบโครงการ 31 ก.ค. แต่โควิดยืดเยื้อ จึงเลื่อนไปจนถึง 31 ส.ค.นี้”
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you