เมื่อ 'โควิด-19' ระบาดรุนแรง วัคซีน ดูจะเป็นความหวังในการป้องกันโรค แม้จะมีวัคซีนหลายยี่ห้อในขณะนี้ แต่ไวรัสกลายพันธุ์กลายเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ผลิต รวมถึง 'วัคซีนโควิด-19 ไทย' ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและมีความคืบหน้าในการทดสอบระยะ 1 ในขณะนี้
'โควิด-19' ซึ่งมีความร้ายแรงพอๆ กับไข้หวัดสเปนเมื่อร้อยปีก่อน แต่ตอนนั้นยังไม่มีวัคซีนที่โดดเด่นเช่นปัจจุบัน ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคน ปัจจุบัน วิวัฒนาการทำให้เกิดการคิดค้นวัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้การระบาดยุติอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมาตรการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย รักษาระยะห่าง และตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด
ในช่วงการคิดค้น 'วัคซีนโควิด-19' ใหม่ๆ วัคซีนเจเนอเรชั่นแรก ที่ออกมาแข่งขันกัน คือ ประสิทธิภาพในการป้องกัน และความปลอดภัย แต่ขณะนี้ ดูเหมือนความท้ายใหม่ ของแวดวงผู้ผลิตวัคซีน คือ การรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งใช้เวลากลายพันธุ์เพียงไม่กี่เดือน และนอกจากสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่ดูเหมือนจะครองโลกแทนสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) แล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคต จะพบสายพันธุ์อื่นๆ เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่
คืบหน้า 'วัคซีนโควิด-19 ไทย'
ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) เดือน มิ.ย. 64 พบว่า มี 'วัคซีนโควิด-19' ที่อยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์กว่า 100 รายการ และอีก 184 รายการ อยู่ในขั้นศึกษาวิจัย สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนา วิจัย 'วัคซีนโควิด-19' เช่นกัน โดย 'วัคซีนโควิด-19 ไทย' ที่มีความก้าวหน้าและโดดเด่นในขณะนี้ อาทิ
วัคซีน mRNA ไทย
"ChulaCov19” วัคซีนชนิด mRNA ที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส 'โควิด-19' เช่นเดียวกับไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา พัฒนาโดย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มศึกษาในมนุษย์ระยะแรกกลางเดือน มิ.ย. คาดจะรู้ผล ก.ค. นี้
วัคซีนโปรตีนพืช
“Baiya SARS-CoV-2 Vax 1” วัคซีนชนิดโปรตีนที่ผลิตจากใบพืช โดยนำส่วนหนึ่งของไวรัสมาเป็นต้นแบบ และนำมาผ่านกระบวนการส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในพืช ทำให้พืชสร้างโปรตีนที่เป็นชิ้นส่วนของไวรัสได้ และสกัดนำโปรตีนนั้นออกมาเพื่อทำเป็นวัคซีน พัฒนาโดย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะโดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) อยู่ระหว่างรวบรวมอาสาสมัครเพื่อศึกษาในมนุษย์ช่วง ส.ค. คาดเริ่มทดลอง ก.ย. นี้
วัคซีนเชื้อตาย องค์การเภสัชกรรม
“HXP-GPOVac” 'วัคซีนโควิด-19' ชนิดเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 64 “นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ระยะที่ 1 ว่า การพัฒนาวัคซีน “HXP-GPOVac” เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ อภ. ซึ่งเริ่มทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 1 เมื่อเดือน มี.ค. 64 ที่ผ่านมา จากนั้นได้ส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้มาตรฐานจากหลายสถาบัน อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบางประเทศ
ผลระยะ 1 ภูมิฯ ตอบสนองดี
“ผลที่ออกมาเบื้องต้นพบว่าค่อนข้างดี มีภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดี เป็นที่น่าประทับใจมาก ทั้งนี้ จะมีการรายงานผลการทดสอบอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.นี้ และจะเลือกวัคซีน 2 สูตรที่ให้ผลดีที่สุด จากที่มีการทดลองไป 5 สูตร เพื่อมาทำการทดลองระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คนในราวเดือน ส.ค. 64 และเลือก 1 สูตรที่ดีที่สุด เพื่อลดลองในระยะที่ 3 ต่อไป” นพ.วิฑูรย์กล่าว
นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน 'วัคซีนโควิด-19' ทุกชนิดตั้งต้นพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อู่ฮั่น ซึ่งวัคซีน HXP-GPOVac ก็เป็นการทดลองกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้เทคโนโลยีล็อคโปรตีนไวรัส 6 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการล็อคโปรตีนไวรัส 2 ตำแหน่ง
ซึ่งการล็อคตำแหน่งโปรตีนหลายจุดนั้นจะทำให้ร่างกายจดจำเชื้อได้หลากหลายกว่า สร้างภูมิคุ้มกันได้กว้างกว่า และผลการทดสอบของ อภ. ที่ออกมาก็พบว่าภูมิคุ้นกันขึ้นดีมาก และ เมื่อนำมาทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ก็ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ภูมิคุ้มกันไม่ได้ลดลงมากนัก
ทดสอบ สายพันธุเดลต้า และ เบต้า
ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบกับ สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่าวัคซีนตอบสนองกับสายพันธุ์ใดบ้าง สำหรับเทคโนโลยีนี้ ในรุ่นต่อไปจะมีการเปลี่ยนหัวเชื้อ เปลี่ยนเชื้อต้นแบบ อาจจะมีการนำเชื้อหลายสายพันธุ์มารวมกัน เอาสไปรท์โปรตีนของแต่ละสายพันธุ์รวมกัน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีน
“วัคซีนมีความปลอดภัยและกลุ่มอาสาสมัครเองก็ปลอดภัย อยู่ในเกณฑ์ดีหมดทุกคน อาจมีบางรายที่ตั้งครรภ์และออกจากการศึกษาไป และยังไม่มีผู้ที่แพ้วัคซีนรุนแรง” นพ.วิฑูรย์กล่าว
ความท้าทายในการผลิต 'วัคซีนโควิด-19'
ด้าน “ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์” รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า ความท้าทายหลักๆ ของวงการวัคซีน คือ วัคซีนที่ถืออยู่มีความสามารถในการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ได้หรือไม่ และเราไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีสายพันธุ์อื่นๆ อีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ 'โควิด-19' มีส่วนสำคัญกับความก้าวหน้าของวัคซีนเป็นอย่างมาก เพราะว่าหากไม่มี 'โควิด-19' วัคซีนที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จะเหลือแค่วัคซีนแพลตฟอร์มเดิมที่เคยใช้มาก่อน คือ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนกำลัง วัคซีนโปรตีนซับยูนิต
จาก 'วัคซีนโควิด-19' ต่อยอดสู่การรักษา โรคแปลก
ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกนี้ หรือมีน้อยมาก คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรหัสพันธุกรรม เป็นกลุ่มที่ไม่เคยมีวัคซีนสำเร็จมาก่อน เช่น mRNA มีการเริ่มใช้ใน 'โควิด-19' เป็นครั้งแรก เหมือนการเปิดตัวเทคโนโลยีแพลตฟอร์มชนิดใหม่ และหลายคนมองว่าเทคโนโลยีชนิดนี้ จะทำให้การรักษาโรคแปลกๆ ที่ไม่เคยรักษาได้เกิดขึ้น ได้ประโยชน์กับแพลตฟอร์มนี้ในอนาคตอันใกล้
หรือในหลายโรคที่มีวัคซีนอยู่แล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ หากเปลี่ยนเป็น mRNA เชื้อว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะดีขึ้น รวมถึงโรคอื่นๆ ซึ่งอาจจจะต้องใช้ mRNA ในการรักษาก็จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง mRNA จะเข้ามาทำให้การรักษาโรคที่ไม่เคยหายมาก่อน สามารถรักษาได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การรักษาด้วยยีนส์บำบัด เป็นการขยับจากวงการวัคซีน ไปสู่การรักษาโรคทางพันธุกรรม และโรคติดเชื้อแปลกๆ ได้ในอนาคต
วัคซีน ไม่หยุดพัฒนา แค่ 'โควิด-19'
“การพัฒนาวัคซีนไม่ได้หยุดอยู่แค่ 'โควิด-19' ต้องเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีสดใสมาก หลายคนบอกว่า mRNA เป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถรักษาโรคที่ไม่เคยรักษาได้มาก่อน ให้รักษาได้ โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม และโรคติดเชื้อที่ประหลาดหรือไม่เคยมีมาก่อน จะทำให้การรักษาโรคกลุ่มนี้เป็นความหวังของคนที่เคยติดโรค รวมถึงเอชไอวีด้วย
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมา วัคซีนที่ประเทศไทย มีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ “วัคซีนไข้สมองอักเสบ” ขององค์การเภสัช แต่ช่วงหลังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ปัจจุบันจึงไม่มีอีกต่อไป ซึ่งวัคซีนตัวดังกล่าวอยู่ในตลาด 15 ปี ถัดมา คือ “วัคซีนป้องกันโรคไอกรน” จากบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ขององค์การเภสัชกรรม กรณีรับมือกับการระบาด และ หาก 'วัคซีนโควิด-19' สำเร็จ น่าจะเป็นวัคซีนสัญชาติไทยตัวที่ 4” ภก.ดร.นรภัทร กล่าว
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you