เมื่อวันศุกร์ปลายสัปดาห์ที่แล้ว องค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้หารือข้อเสนอจากประเทศกำลังพัฒนาราว 60 ประเทศที่นำโดยอินเดียและแอฟริกาใต้ ที่ขอให้บริษัทยาข้ามชาติและรัฐบาลของกลุ่มประเทศตะวันตกยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19
ชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้มีการผลิตและเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
เพราะขณะที่ราว 30% ของประชากรในสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วสองเข็ม ในอินเดียเองมีเพียง 2% เท่านั้นซึ่งเพิ่งได้รับวัคซีน และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง อย่างเช่นอินเดีย บราซิล ตุรกีและโคลอมเบียทำให้เกิดความกังวลว่าการระบาดอาจจะยากต่อการควบคุมและอาจส่งผลให้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ด้วย
ขณะนี้กำลังมีแรงกดดันจากประเทศกำลังพัฒนากว่า 100 ประเทศให้มีการยกเว้นหรือระงับการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 โดยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาองค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้หารือข้อเสนอของประเทศกำลังพัฒนากว่า 60 ประเทศที่ร่วมกันเรียกร้องให้ยกเว้นกฎเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้มีการผลิตวัคซีนสนองความต้องการได้มากขึ้นในระดับโลก และเมื่อต้นเดือนนี้ก็มีอดีตประมุขของรัฐและผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลรวมกว่า 170 คนร่วมกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนสนับสนุนข้อเสนอที่ว่านี้ด้วย
ในสหรัฐฯ เอง ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภากว่า 100 คนที่รวมถึงวุฒิสมาชิก Bernie Sanders กับวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren ร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนเรื่องการยกเว้นกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับสิทธิบัตรสำหรับวัคซีนดังกล่าวและให้เหตุผลว่าการชะลอการกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาของโลกเพื่อมุ่งสร้างผลกำไรจากกลไกการคุ้มครองสิทธิบัตรจะเป็นภัยซึ่งย้อนกลับมาคุกคามต่อสาธารณชนอเมริกันที่ได้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนด้วยเงินภาษีอากรตั้งแต่เริ่มแรกด้วย
อย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยแล้วหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ได้แย้งว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างแรงกระตุ้นจูงใจบริษัทเภสัชกรรมต่างๆ ให้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่อไป
และในส่วนของบริษัทเภสัชกรรมเองก็อ้างว่าการยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีน โควิด-19 จะไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผลิตวัคซีนเพื่อสนองความต้องการในระยะสั้นได้ เพราะผู้ที่ผลิตตามสัญญาจ้างนั้นยังไม่มีความรู้และความคุ้นเคยเกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เพื่อผลิตวัคซีน และว่าอุปสรรคสำคัญที่แท้จริงของการผลิตวัคซีนให้ได้เพียงพอนั้นคือเจ้าหน้าที่เทคนิคที่มีความรู้ความชำนาญอย่างเพียงพอ องค์ประกอบหลักของวัคซีนซึ่งหาได้ยาก รวมทั้งเรื่องการควบคุมคุณภาพด้วย
เมื่อเดือนมีนาคม บริษัทเภสัชกรรมข้ามชาติรายใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 อย่างเช่น AstraZeneca, Pfizer และ Johnson & Johnson ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนคัดค้านข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว และว่าภายใต้ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอยู่ขณะนี้บริษัทยาทั้งหลายมีกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้รวมกันถึงหนึ่งหมื่นล้านโดสภายในสิ้นปีนี้
ทางด้านทำเนียบขาว Jen Psaki โฆษกทำเนียบขาวได้แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าประธานาธิบดีไบเดนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนข้อเสนอที่ขอให้ยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 หรือจะผลักดันวิธีอื่นเพื่อเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการ
ในขณะที่ก็มีรายงานเช่นกันว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังให้ความสนใจกับข้อเสนอเพื่อยกเว้นการบังคับใช้สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ที่ว่านี้เป็นการชั่วคราว ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ Deborah Glee son จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัย La Trobe ในออสเตรเลียก็ให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้จะมีส่วนช่วยสร้างแรงผลักดันไปในทิศทางที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องได้มากทีเดียว
Source: VOA Thai
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you