RCEPให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจน้อย นักวิเคราะห์มองช่วยเพิ่มอิทธิพลให้จีน

นักวิเคราะห์ชี้ ข้อตกลง RCEP มีผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจน้อย เนื่องจากมากกว่า 70% ของการค้าในกลุ่มอาเซียนไม่เก็บภาษีอยู่แล้ว และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นจริง แต่จะเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับจีน

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และพันธมิตร 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนามใน “ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP)” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความตกลงของกลุ่มการค้าใหญ่สุดของโลก โดยครอบคลุมตลาดที่มีประชากร 2,200 ล้านคนหรือประมาณ 30% ของประชากรทั่วโลก และมีอัตราผลผลิต 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30% ของอัตราผลผลิตทั่วโลก โดยใหญ่กว่าข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) และสหภาพยุโรป (อียู)
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า RCEP มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจน้อย และจะต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะเป็นจริง แต่ข้อตกลงนี้เป็นชัยชนะทางภูมิศาสตร์การเมืองสำหรับจีนในยามที่สหรัฐถอยออกมาจากเอเชียแปซิฟิกเพราะนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่า สหรัฐจะเจรจาข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ใด ๆ กับเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือไม่ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
นักวิเคราะห์จากซิตี้ รีเสิร์ช ระบุว่า การส่งสาสน์ทางการทูตของ RCEP อาจมีความสำคัญแค่ในฐานะที่เป็น “การปฏิวัติสำหรับจีน” โดยอธิบายว่า ข้อตกลงนี้ประสบความสำเร็จหลายประการเมื่อเทียบกับที่มีความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐเพิ่มขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (de-globalization) โดยชี้ว่าเอเชียตะวันออกเปิดกว้างมากต่อธุรกิจและตระหนักถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการรวมการค้าให้มากขึ้น ลดการรับรู้ที่ว่าจีนกำลังหันไปดำเนินกลยุทธ์ “การหมุนเวียนคู่” ที่ย้ำตลาดภายในประเทศ และเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกไม่ต้องการเลือกระหว่างสหรัฐและจีนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความจริงแม้แต่กับประเทศที่เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงอย่างแข็งแกร่งกับสหรัฐอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
RCEP จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ในขณะที่กำลังมีการเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) โดยการนำของคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่เนื่องจากข้อตกลงพีทีทีไม่มีจีนเข้าร่วม ผู้สังเกตการณ์หลายคนจึงถือว่า RCEP เป็นข้อตกลงที่รัฐบาลปักกิ่งใช้ต่อต้านอิทธิพลของอเมริกาในเอเชียแปซิฟิก แม้ว่าอาเซียนเป็นผู้นำในการเจรจาข้อตกลง RCEP
อย่างไรก็ดี คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงทีพีพีในปี 2560 และได้เก็บภาษีลงโทษต่อคู่ค้าของอเมริกาที่เขาบอกว่าปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม แต่ 11 ประเทศที่เหลือในข้อตกลงทีพีพีได้เจรจาทำข้อตกลงกันใหม่และได้ลงนามเป็น “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เมื่อปี 2561
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า RCEP เป็นข้อตกลงการค้าที่อ่อนแอกว่าซีพีทีพีพี ภาษีในหมู่ประเทศสมาชิก RCEP ต่ำอยู่แล้วเมื่อคำนึงถึงข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุพาคีที่มีอยู่ ดังนั้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงจึงมีจำกัด ตัวอย่างเช่น มากกว่า 70% ของการค้าในกลุ่มอาเซียนไม่เก็บภาษีอยู่แล้ว การลดภาษีเพิ่มภายใต้ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้อย่างช้า ๆ และจะต้องใช้เวลาหลายปีก่อนที่ข้อตกลงนี้จะดำเนินการได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ไซมอน แบบติส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกของดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต กล่าวว่า ข้อตกลงนี้วางรากฐานความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิกให้ลึกมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศที่ไม่ได้มีข้อตกลงการค้าทวิภาคี โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจับคู่ทำข้อตกลงทวิภาคระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ซึ่งมีการพิพาทการค้าทวิภาคีกันอยู่
อินเดียได้เข้าร่วมเจรจา RCEP ตั้งแต่เริ่มต้น แต่ได้ถอนตัวในปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีความกังวลว่าข้อตกลงนี้จะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนมากจนกระทบผู้ผลิตอินเดีย อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่ได้ลงนามในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เปิดทางให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมได้อีกครั้ง โดยสมาชิกบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นถือว่าอินเดียมีความสำคัญต่อการถ่วงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน
นักวิเคราะห์จากซิตี้ รีเสิร์ช กล่าวว่า อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เสียประโยชน์มากสุดจากข้อตกลง RCEP โดยจากการวิเคราะห์ของสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน อินเดียอาจมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โตขึ้น 1.1% ภายในปี 2573 หากอยู่ในข้อตกลงนี้ แต่หากไม่เข้าร่วม น่าจะทำให้อินเดียมีเสน่ห์ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตทางเลือกเมื่อเทียบกับอาเซียน
รายงานของเอชเอสบีซีชี้ว่า แม้อินเดียไม่เข้าร่วม เศรษฐกิจ 15 ชาติที่เข้าร่วม RCEP จะโตโดยมีสัดส่วน 50% ของอัตราผลผลิตทั่วโลกภายในปี 2573 แม้ว่าข้อตกลง RCEP จะตื้นกว่าข้อตกลงใหญ่อื่น ๆ เล็กน้อย แต่เป็นสัญญาณว่าเอเชียยังคงเดินหน้าเปิดเสรีทางการค้าแม้ว่าภูมิภาคอื่น ๆ เริ่มสงสัยมากขึ้นก็ตาม
Source: ข่าวหุ้น
เพิ่มเติม
- ‘A coup for China’: Analysts react to the world’s largest trade deal that excludes the U.S.

คลิก

-------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"