เราได้ผ่านช่วงปิดเมืองเต็มที่ไปแล้ว แต่ ‘สงคราม’ กับไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบ และดูจะเป็นศึกที่ยืดเยื้อไปจนกว่าเราจะมีวัคซีนและยาที่รักษาโรคนี้ได้ เรากำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติใหม่ (New Abnormal) ที่ต่างจากช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ใช่ภาวะปกติใหม่แบบโลกหลังมีวัคซีน
ในเฟสนี้ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอาจต้องเปลี่ยนจากการใช้ ‘บาซูก้า’ มาเป็น ‘สมาร์ตบอมบ์’
ทำไมต้องปรับยุทธศาสตร์?
ผมเคยเขียนไว้ว่านโยบายการคลังและการเงินควรมี 5 “T” ในช่วงล็อกดาวน์ นโยบายต้องเป็น ‘บาซูก้า‘ เน้นปริมาณใหญ่พอ (Titanic) ทันเวลา (Timely) และครอบคลุมคนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด
แม้ว่าความช่วยเหลืออาจจะหลุดให้ประโยชน์กับคนที่เดือดร้อนไม่มากไปบ้างก็พอเข้าใจได้ เพราะความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ การเล็งเป้า (Targeting) จึงเป็นเรื่องรอง แต่ที่สำคัญคือ ควรใช้แค่ชั่วคราว (Temporary) เท่านั้น และต้องมีความโปร่งใสในการใช้เงิน (Transparency) แต่เมื่อเราเข้าสู่เฟสใหม่ น้ำหนักของแต่ละ “T” ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย
วันนี้ ความสำคัญของ ‘การยิงให้เข้าเป้า ใช้ยาให้ตรงจุด’ (Targeting) สำคัญกว่าเฟสที่แล้วมาก
หนึ่ง ตอนนี้ทุกคนไม่ต้องกลั้นหายใจกัน 100% แล้ว แต่ปัญหาคือหายใจกันได้ไม่ทั่วท้อง บางคนได้ออกซิเจนมากหน่อย บางคนยังขาดอากาศอยู่ (เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศ)
สอง รัฐบาลไม่ได้มีกระสุนมากเท่าเดิม ยกตัวอย่างทางด้านการคลัง หลังจากใช้มาตรการกู้เงินต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 หนี้สาธารณะอาจกระโดดจาก 41% ขึ้นไปใกล้ 60% ของ GDP
แม้ 60% นี้จะไม่ได้เป็นเส้นตายด้านการคลัง แต่ประเด็นคือเรื่องความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว เมื่อศักยภาพการเติบโตของ GDP ในระยะยาวของไทยอาจชะลอลงไปอีกในอนาคต บวกกับภาระทางการคลังที่มาพร้อมกับสังคมสูงอายุ
สาม รัฐบาลต้องเริ่มคำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาวของมาตรการระยะสั้นต่างๆ มากขึ้น เช่น อาจตั้งคำถามว่าหากยืดมาตรการพักหนี้แบบครอบคลุมทุกคนนานเกินไป อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อวินัยทางการเงินหรือไม่
ยุทธศาสตร์ ‘สมาร์ตบอมบ์’
ยุทธศาสตร์ ‘สมาร์ตบอมบ์’ คือระเบิดขนาดเล็กที่ใช้เฉพาะจุด เฉพาะเวลาอย่างแม่นยำ เพื่อประหยัดกระสุนและลดผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการ
หลักการนี้สามารถนำมาใช้กับเครื่องมือทางนโยบายเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ที่มีอยู่สามชิ้นหลักคือ นโยบายเปิดเมือง นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง
ชิ้นแรก นโยบายเปิดเมือง – จากปิด/เปิดเมืองแบบเดียวกันทั่วประเทศ มาเป็นนโยบายเฉพาะพื้นที่ (Area-based policy)
ข้อนี้อาจดูเหมือนเป็นนโยบาย ‘สาธารณสุข’ มากกว่านโยบาย ‘เศรษฐกิจ’ แต่แท้จริงแล้ว ในยุคโควิด-19 การเปิด-ปิดเมืองเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้นโยบายการเงินการคลังด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อเราคำนึงถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวในเศรษฐกิจไทย (18% ของ GDP กระทบคนงาน 20% ของทั้งประเทศ)
เราจึงควรมองนโยบายนี้เป็น ‘ลูกครึ่ง’ ที่เป็นทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการควบคุมโรค
ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีการเปิด-ปิดเมืองแบบครอบคลุมทั้งประเทศ ปิดทีทั้งประเทศ เปิดเมืองมา 6 รอบก็เป็นรายกิจกรรม/กิจการที่ใช้กฎเดียวกันทั้งประเทศ แม้วิธีการเช่นนี้ได้ผลอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อกิจกรรมที่เปิดมีความเสี่ยงสูงขึ้น ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการติดเชื้อเลย
แทนที่เราจะปิดเมืองทั้งประเทศเมื่อพบการติดเชื้อ เราสามารถใช้นโยบายเฉพาะพื้นที่ คือปิดบางกิจกรรมในบางพื้นที่เช่น อาจจะเลือกปิดบางกิจกรรมชั่วคราวที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่สุด (อย่างเช่น สถานที่ในร่มที่มีคนแออัด มีการตะโกนใช้เสียงมาก คุมระยะห่างยาก) ตามด้วยการดึงทรัพยากรกำลังคนทางการแพทย์ลงมาช่วยตรวจและแกะรอยคนติดเชื้อ รวมทั้งแยกตัวกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่นั้นอย่างเข้มข้น (Test, Trace and Isolate)
Travel Bubble แบบเฉพาะพื้นที่
ในทำนองเดียวกัน การเปิดการท่องเที่ยวต่างประเทศก็อาจใช้วิธีแบบ Area-based ได้เช่นกัน เพราะแต่ละจังหวัดมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เท่ากัน บางจังหวัดอาจต้องการให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาบ้าง ในขณะที่บางจังหวัดอาจบอกว่าไม่จำเป็นและกลัวไวรัสมากกว่า
การทำนโยบายแบบสมาร์ตบอมบ์ คือการเริ่มทดลองเปิดท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble กับประเทศที่คุมโรคได้ดีให้เข้ามาได้ในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวมากๆ และมีความพร้อมก่อน โดยต้องมีระบบติดตามที่ให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นอยู่ในจังหวัดที่ขออนุญาตไว้เท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น อาจเริ่มให้นักท่องเที่ยวสาย long stay (มาครั้งหนึ่งแล้วอยู่นานๆ) จากประเทศที่กำหนดเดินทางมาที่ภูเก็ตหรือสมุย ทำแคมเปญ Work from Thailand มากึ่งพักกึ่งทำงานที่โรงแรมในภูเก็ต เปลี่ยนบรรยากาศแทนที่จะติดอยู่บ้านในประเทศตน
หากเกิดโชคร้ายมีคนติดเชื้อเข้ามา เราก็น่าจะ ‘สกัดไฟ’ ไม่ให้ลามได้ง่ายกว่าที่อื่น เพราะไม่มีการเดินทางด้วยรถยนต์ข้ามไปจังหวัดอื่นๆ
นโยบายการเงิน-การคลังแบบเฉพาะจุด
ชิ้นที่ 2 คือ นโยบายการเงิน – เปลี่ยนจากมาตรการที่มีผลบังคับใช้กับทุกคนถ้วนหน้า เช่นนโยบายลดดอกเบี้ย มาเป็นนโยบายที่เน้นเฉพาะกลุ่ม เช่น ผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ SMEs และกลุ่มคนที่อาจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคาร (underbanked) ดังที่ผมได้เขียนไว้
ชิ้นที่ 3 คือ นโยบายการคลัง – ปรับจากการกระจายการเยียวยาเป็นวงกว้างมาเป็นนโยบายอัดฉีดเฉพาะจุด โดยแบ่งได้เป็นสองประเภท
หนึ่ง มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มที่เดือดร้อน เช่น ภาคการท่องเที่ยว โดยนอกจากการสนับสนุนในรูปแบบเดิมๆ แล้ว (อย่างการลดภาษี หรือช่วยเเหลือผ่านประกันสังคม) รัฐอาจพิจารณาเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น ตั้งกองทุนรัฐร่วมกับเอกชน ลงทุนในหุ้นของกิจการโรงแรมที่คุณภาพดีแต่โดนพิษโควิด-19 หลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งคล้ายกับนโยบายในยุโรป ยิ่งไปกว่าว่าอาจใช้งบน้อยกว่าแล้ว ยังมีความเป็นได้ว่าในอนาคตอาจได้เงินคืนเมื่อโรงแรมหลายแห่งฟื้นตัวกลับมามีกำไร
สอง มาตรการทางการคลังที่ไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เชื่อมโยงไปสู่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งรวมถึง 5G หรือระบบคลาวด์ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจสังคมที่เข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นหลังโควิด-19 อย่างที่เป็นธีมใหญ่ในแผนฟื้นเศรษฐกิจของทั้งประเทศจีนและเกาหลีใต้
3 หลักการสำคัญของยุทธศาสตร์สมาร์ตบอมบ์
แต่ไม่ว่าจะใช้นโยบายใดก็ตาม ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบสมาร์ตบอมบ์นี้ต้องยืนอยู่บน 3 หลักการสำคัญ
หนึ่ง ต้องมีข้อมูลเป็นตัวนำ (Data-driven) อยู่บนฐานข้อมูลที่แน่นทั้งด้านทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข
เราคงทำอะไร ‘สมาร์ต’ ไม่ได้หากขาดข้อมูล จะ ‘สกัดไฟ’ ป้องกันไม่ให้ไวรัสระบาดวงกว้างเมื่อพบการติดเชื้อก็ทำได้ยากหากเราไม่สามารถแกะรอย (Trace) ได้อย่างรวดเร็วว่าผู้ติดเชื้อไปไหนมาบ้าง
จะออกมาตรการช่วยภาคท่องเที่ยวและ SMEs ก็คงลำบากหากไม่มีข้อมูลธุรกิจเหล่านี้โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจจำนวนมากอาจ ‘อยู่นอกระบบ’
หากรัฐบาลขาดข้อมูลบางครั้ง ก็ควรประสานงานกับภาคประชาสังคมที่อาจมีข้อมูลและความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ดีกว่า
สอง ต้อง Well-coordinated คือมีการประสานกันทั้งสามเครื่องมือเศรษฐกิจทั้งเปิดเมือง-การคลัง-การเงิน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
หากเราต้องปิดบางประเภทกิจการที่เสี่ยงในพื้นที่หนึ่งเพราะเกิดการระบาด นโยบายการคลังควรหันมาช่วยเยียวยากิจการที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ในพื้นที่นั้น ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องเข้ามาช่วยเร่งสถาบันการเงินให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้กับธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ ที่อาจกลับมาอยู่ในสภาพกลั้นหายใจอีกครั้ง
สาม ต้องมี Continuous assessment หรือการติดตามประเมินผลใกล้ชิด เพราะเรากำลังอยู่ในดินแดนที่ไม่รู้จักอย่างแท้จริง
การคิดนอกกรอบและทดลองไอเดียใหม่เป็นสิ่งจำเป็น แต่แน่นอนว่าทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวย่อมเกิดขึ้นได้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เรารู้ตัวเร็วว่านโยบายไหนไม่เวิร์คและสามารถปรับปรุงได้ทัน
นอกจากนี้ ยิ่งมีการเก็บข้อมูลประเมินผลมาก ฐานข้อมูลก็ยิ่งได้รับการพัฒนาและช่วยเสริมหลักการข้อแรกอีกด้วย เช่น หลังจากการทำนโยบาย ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายมีคนเข้าร่วมประมาณ 15 ล้านคนที่ เราก็ควรจะมีข้อมูลคนงานนอกประกันสังคมที่ดีขึ้นนำไปใช้ในการทำ Targeting ในอนาคตได้แม่นยำขึ้น
สุดท้าย คงต้องขอออกตัวว่าส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้ชอบการเปรียบเทียบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกับ ‘อาวุธ’ สักเท่าไร แต่ในกรณีนี้อาจช่วยให้เห็นภาพว่าเรากำลังต่อสู้ ‘สงคราม’ ที่ยิ่งใหญ่และยืดเยื้อกับโควิด-19 อยู่จริงๆ
เอาใจช่วยให้ประเทศไทย ‘ชนะ’ ศึกนี้ได้ครับ
โดย Santitarn Sathiratha
Source: 101 World
----------------------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you