แลกเงินไปญี่ปุ่นกันทันไหม? แบงก์ชาติญี่ปุ่นปรับนโยบายช็อกตลาด มองเป็นสัญญาณจ่อขึ้นดอกเบี้ย ดันเงินเยนแข็งค่าสุดรอบ 4 เดือน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
ใครแลกเงินเยนเตรียมไปเที่ยว "ญี่ปุ่น" อาจตกใจเมื่อจู่ๆ
ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามานานก็กลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อวานนี้ และแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. จากประมาณ 137.16 เยน/ดอลลาร์ พุ่งไปแตะ 132.28 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค. ที่ผ่านมา และเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (21 ธ.ค.) ก็แข็งค่าขึ้นอีกจนไปแตะ 130.58 เยน/ดอลลาร์ หรือแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 5 เดือน
ขณะที่หากเทียบกับ "ค่าเงินบาทไทย" จากเดิมที่เงินเยนเคยอ่อนค่าจนอยู่ที่ประมาณ 100 เยน เท่ากับ 25 บาท (25 บาทแลกได้ 100 เยน) แต่ตอนนี้เงินเยนกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ประมาณ 100 เยน เท่ากับ 26 บาทแล้ว และยังมีแนวโน้มด้วยว่าค่าเงินเยนญี่ปุ่นจะแข็งค่าขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินเยนในครั้งนี้ เป็นเพราะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศ "ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น"
จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% บีโอเจได้ขยายกรอบการขึ้นลงให้กว้างขึ้นเป็น -0.5% ถึง +0.5% ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้ตลาดเงินตลาดทุนครั้งใหญ่ เพราะทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าการประชุมของบีโอเจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร จนกว่านายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธาน BOJ จะลงจากตำแหน่งในเดือน มีนาคม 2566
การขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี หมายความว่าอะไร? ทำไมตลาดถึงตื่นตระหนก?
โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกจะใช้ "นโยบายอัตราดอกเบี้ย" เป็นตัวกำหนดทิศทางของดอกเบี้ยภายในประเทศ
เช่น ประเทศไทยก็จะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เป็นคนพิจารณา "ดอกเบี้ยนโยบาย" ออกมา ซึ่งถือเป็นดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติทำธุรกรรมกับแบงก์พาณิชย์ ทั้งส่วนเงินฝากและเงินกู้ และดอกเบี้ยนี้ก็จะเป็นตัวอ้างอิงที่แบงก์พาณิชย์เอาไปกำหนดในการทำธุรรมของตัวเองกับลูกค้าต่อไป
แต่บางประเทศ เช่น "ญี่ปุ่น" จะมีกลไกอื่นๆ ที่ใช้คุมอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นคือไม่กี่ประเทศในโลกแล้วที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย "ติดลบ" โดยอยู่ที่ -0.1% สวนทางทั่วโลกที่ขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะ "สหรัฐ" ที่ขึ้นดอกเบี้ยจนไปอยู่ที่ 4.25-4.50% แล้วในปีนี้ แต่จะขึ้นดอกเบี้ยตามก็ลำบาก เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ และอาจจะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศส่งออกอย่างญี่ปุ่น
ปกติแล้ว ถ้าส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายห่างกันมากเกินไป นักลงทุนก็จะขายทิ้งพันธบัตรญี่ปุ่นหันไปลงทุนในตลาดที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น สหรัฐ
แต่การที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังสามารถตรึงดอกเบี้ยนโยบายติดลบได้ ก็เพราะการแทรกแซงตลาดการเงินผ่าน 2 กลไกหลักๆ คือ การอัดฉีดเงินซื้อพันธบัตร (QE) ต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2013 และการใช้มาตรการ "Yield curve control" (YCC) หรือการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 10 ปี ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยใช้มาตั้งแต่ปี 2016
ถ้าคุมผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 10 ปีได้ ก็เท่ากับคุมดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นได้ด้วย เพราะปกติแล้วการลงทุนระยะยาวจะต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนระยะสั้น ซึ่งญี่ปุ่นตรึงกรอบผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ไว้ที่ระหว่าง ลบ 0.25% - +0.25% มาเป็นเวลานาน
จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. BOJ ก็ได้ช็อกตลาดด้วยการขยายกรอบผลตอบแทนเป็น ลบ 0.50% - +0.50% ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าไม่ต่างอะไรกับการ "เปิดช่องขึ้นดอกเบี้ยอย่างไม่เป็นทางการ" เพราะขยายกรอบให้ขึ้นไปได้ถึง +0.50% แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหุ้นตลาดทุนทั่วโลกจะตื่นตระหนกกันครั้งใหญ่ และบางส่วนยังมองว่านี่อาจเป็น "การทดสอบตลาด" เพื่อนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในปีหน้า 2566 ด้วย
เพราะต้องไม่ลืมว่า การฝืนตลาดใช้ดอกเบี้ย "ติดลบ" ในขณะที่ชาวบ้านขึ้นไปเกือบ 5% นั้นหมายความว่า BOJ ก็ต้องจ่ายหนักเช่นกัน
จากตัวเลขเมื่อกลางปีนี้พบว่า สัดส่วนการถือครองพันธบัตรในประเทศโดย BOJ เพิ่มขึ้นมาทะลุ 50% แล้ว จากเดิมซึ่งเคยอยู่ที่ 10% เมื่อตอนเริ่มใช้ QE ในปี 2013 โดยปัจจุบันแบงก์ชาติญี่ปุ่นมีพันธบัตรในมือถึง 514.9 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นการสร้างภาระทางการเงินการคลังมากขึ้น
ส่วนค่าเงินเยนก็อ่อนค่าลงทุกวัน ช่วงกลางปีนี้ลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีมาแล้ว ซึ่งการต้องควบคุมไม่ให้เงินเยนอ่อนค่ามากเกินไปทำให้อีกขาหนึ่ง BOJ ก็ต้องแทรกแซงตลาดเงินด้วยการเข้าซื้อเงินเยนและเทขายดอลลาร์ด้วย โดยมีรายงานว่า รัฐบาลใช้เงินถึง 2.8 ล้านล้านเยน (1.9 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการเข้าแทรกแซงตลาดเงินเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากผลการประชุมแบงก์ชาติญี่ปุ่นรอบส่งท้ายปี 2565 นี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการ ตั้งแต่นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น นักธุรกิจรายย่อยที่ถูกกระทบเรื่องค่าเงิน ไปจนถึงนักท่องเที่ยวตัวเล็กอย่างเราๆ ที่ตุนเงินเยนตอนอ่อนค่ากันไม่ทัน และอาจกำลังงว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่
Source :
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you