เงินเฟ้อ คืออะไร มีผลกระทบค่าครองชีพแค่ไหน อ่านที่นี่มีคำตอบ

รู้จัก “ภาวะเงินเฟ้อ” คืออะไร มีสาเหตุมาจากไหน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน การใช้จ่าย และค่าครองชีพทั้งหมดเป็นอย่างไร หาคำตอบทุกเรื่องได้ที่นี่
หลังจากกระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดข้อมูล ภาวะเงินเฟ้อ

ทั่วไปของไทยเดือนก.พ.2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปีนับจากปี 2551 และยังไม่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งเรื่องของเงินเฟ้อ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้นเพื่อให้หลายคนเข้าใจถึงเรื่องนี้มากขึ้น เราไปทำความรู้จักกันว่า เงินเฟ้อ นั้นคืออะไร
จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุความหมายของภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน
สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น
ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost – Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
ข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อกับภาวะเงินฝืดแตกต่างกันอย่างไร
ถือว่าตรงกันข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนลดลง หรือ ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ
อาจทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง ผู้ผลิตก็อาจไม่ต้องการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม ทำให้ลดกำลังการผลิตลง และส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาในที่สุด
จะเห็นได้ว่า ทั้งภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด เกิดจากการเคลื่อนไหวขึ้นลงของเศรษฐกิจตามวัฏจักร แต่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อ ก็ล้วนส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น
สำหรับที่มีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเงินเฟ้อในปัจจุบัน มีดังนี้
1. กระทรวงพาณิชย์
ทำหน้าที่ดูแลราคาสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสหรือเอา เปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่สินค้าขาดแคลนระยะสั้น
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาดและแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ นำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบภาวะเงินเฟ้อ เป็นรายเดือนสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อ
2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และความกินดีอยู่ดีของประชาชน
ผลกระทบต่อประชาชนกับภาวะเงินเฟ้อ
รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ
อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น
กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปีแต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น
แต่หากปีต่อไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็น -0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่ากำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง การฝากเงินทำให้ได้รับผลตอบแทนจริง ๆ ติดลบ
ทำให้ผู้ฝากไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์และหุ้น จนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ ก็อาจทำให้เกิดเป็นภาระหนี้สินได้
ภาวะเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
เช่นเดียวกัน ปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อไม่เพียงกระทบแค่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการ และนักธุรกิจตามมา โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัด มีดังนี้
เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายจะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้น เมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่น ๆ
ภาวะเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อประเทศชาติ
ผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบลามไปถึงภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติตามมาอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นสรุปได้ ดังนี้
ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย
ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนาน ๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้เช่น หนี้ครัวเรือน
จะเห็นได้ว่า เรื่องของภาวะเงินเฟ้อนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ และส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมทั้งประเทศชาติ โดยในภาพวะปัจจุบันเองปัญหาดังกล่าวได้ค่อย ๆ เริ่มรุนแรงมากขึ้น หลังมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ควบคุมอย่างจากภายนอกประเทศ เช่น วิกฤตยูเครน และรัสเซีย จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เงินเฟ้อของไทยในช่วงต่อไปจะมีแนวโน้มปรับตัวอย่างไรบ้าง
Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"