ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กระแส Crypto Payment (การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้วยเหรียญคริปโทฯ) กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย พยายามผลักดันให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ของการใช้ Crypto Payment
ในลักษณะที่เป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สายการบิน อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์หรู ต่างตบเท้าเข้ามาสนับสนุนใช้งาน Crypto Payment โดยมองว่าเป็นการเพิ่มช่องทางในการจับจ่าย และยังมีส่วนช่วยดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่หายไปกลับเข้าสู่ประเทศไทยได้เร็วมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่ม Digital Assets Owner หรือ Digital Assets Investor ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ถูกจัดให้เป็น New Wealth ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หมายตาจะเชิญชวนให้เข้ามาพำนักอาศัยในประเทศไทยระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาลดอุณหภูมิ ด้วยการย้ำว่า ธปท. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง เสี่ยงต่อการถูกโจมตีไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย
หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม
ทั้ง 2 มุมที่ภาคธุรกิจและธปท. มองล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การที่ประเทศไทยจะปิดประตูไม่รับ Crypto Payment เลยก็อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะต้องยอมรับว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศ อีกทั้งคนรวยยุคใหม่ก็เปลี่ยนไปเป็น Digital Asset Owner และ Digital Assets Investor หากประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับสินทรัพย์ดิจิทัล เดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง หาทางปลดล็อคความกังวลของทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล อาจทำให้ประเทศไทยคว้าจุดเปลี่ยนสำคัญในเวทีโลกได้
ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ได้น่าสนใจ โดยบอกว่า Crypto Payment ควรถูกมองการใช้งานออกเป็น 2 กรณี คือ
1. การใช้ Crypto Payment โดยชาวต่างชาติ : กรณีนี้เป็นเรื่องที่ดี ที่ประเทศไทยจะเปิดช่องทางให้ชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการที่จะปฏิเสธไม่รับ Crypto Payment เลย อาจเป็นการตัดโอกาสที่ประเทศไทยจะมีรายได้ส่วนนี้เข้ามา ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ยิ่งเปิดช่องทางให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายได้มาก ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศไทย
2. การใช้ Crypto Payment โดยชาวไทย : ในกรณีนี้คือสิ่งที่ธปท.มีความกังวล เนื่องจากหากคนไทยหันมาใช้ Crypto Payment เป็นวงกว้างแบบ Mass Adoption จะทำให้ ธปท.ไม่สามารถดำเนินมาตรการทางการเงินได้ การกำกับดูแลทำได้ยาก การที่ธปท.ออกมาประกาศไม่สนับสนุน Crypto Payment เป็นเพราะเริ่มเล็งเห็นแล้วว่า Crypto Payment กำลังจะแพร่หลาย ไม่ใช่การใช้งานเพียงกลุ่มเล็กๆเช่นในอดีต
แต่การใช้งาน Crypto Payment ก็สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. ใช้จ่ายด้วยคริปโทฯ แต่ร้านค้าปลายทางรับเป็นเงินบาท โดยประเภทนี้คือผู้ซื้อจ่ายเป็นคริปโทฯ แต่จะมีตัวกลางทำหน้าที่แปลงคริปโทฯเป็นเงินบาทและส่งให้ร้านค้า ซึ่งรูปแบบนี้ยังเป็นการใช้เงินบาท ธปท. ยังคงกำกับดูแลเงินในประเทศได้เช่นเดิม
2. ใช้จ่ายด้วยคริปโทฯ ร้านค้ารับเป็นคริปโทฯ ประเภทนี้คือผู้ซื้อจ่ายด้วยคริปโทฯ และร้านค้าเลือกที่จะรับเป็นคริปโทฯ ซึ่งร้านค้าจะต้องสามารถยอมรับความเสี่ยงในด้านราคาคริปโทฯที่มีความผันผวนสูงได้ ซึ่งประเภทนี้เป็นสิ่งที่ ธปท.มีความกังวล เนื่องจากหากร้านค้าเลือกรับเป็นคริปโทฯ นั่นหมายถึงร้านค้ายอมรับความเสี่ยงเรื่องความผันผวนด้านราคา
ประกอบกับปัจจุบันมีเหรียญประเภท Stable Coin เช่น USDT หรือ BUSD ที่มีราคาอ้างอิงกับเงินดอลลาร์ หากผู้คนใช้ Crypto Payment ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ร้านค้าอาจเลือกรับเหรียญ Stable Coin และไม่รับเงินบาท ซึ่งภาพนี้จะทำให้ธปท.ไม่สามารถกำกับดูแลเงินในประเทศได้ เพราะสามารถที่จะโอน Stable Coin ออกไปได้ทั่วโลก ซึ่งมีผลต่อการเก็บภาษี และการรายงานรายได้ต่างๆ
“เชื่อว่าการที่ธปท.ออกมาประกาศก็เพื่อที่จะคุมภาพใหญ่เอาไว้ก่อน ยังไม่ให้เกิดการใช้งานแพร่หลายเร็วเกินไป แต่ในมุมมองของผมแล้ว อาจจะต้องมีการแบ่งกรณีการใช้ Crypto Payment เช่น กรณีที่เงินมาจากต่างประเทศ และกรณีที่เงินอยู่ในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทย ยังสามารถมีรายได้ในช่วง Covid-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์”
การใช้งาน Crypto Payment ควรต้องมีกฎระเบียบออกมาควบคุมให้ร้านค้าไม่สามารถรับเป็น Stable Coin หรือเหรียญคริปโทฯอื่นๆ ต้องรับเป็นเงินบาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันร้านค้าก็ยินดีที่จะรับเงินบาทอยู่แล้ว หรือหากเกิดกรณีร้านค้ารับเป็นเหรียญคริปโทฯจริงๆ ธปท.อาจกำหนดมูลค่าได้ว่า ร้านค้าสามารถรับคริปโทฯได้เท่าไหร่ ถ้าเกินที่กำหนดต้องรายงาน ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องการจะควบคุม แต่ทั้งนี้ก็ควรที่จะบรรจบกันครึ่งทาง โดยมีเกณฑ์บางอย่างที่จะทำให้หน่วยงานกำกับดูมีความสบายใจ และยังสามารถอยู่ในความควบคุมเช่นเดิม เป็นการเดินหน้าไปทั้งคู่ อุตสาหกรรมคริปโทฯก็ไปต่อได้ หน่วยงานกำกับดูแลก็ยังสามารถควบคุมได้เช่นเดิม
Source: การเงินธนาคารออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you