ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา The New York Times ได้รายงานข่าวชื่อ Retailers’ Latest Headache: Shutdown at Their Vietnamese Suppliers ไว้ว่า บรรดาโรงงานเสื้อผ้าและรองเท้าในเวียดนาม ที่ผลิตเพื่อป้อนให้แก่บริษัทในสหรัฐฯ ต้องปิดโรงงาน
หรือลดการผลิตลง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างปัญหาอย่างมากแก่บรรดาร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ เพราะเทศกาลวันหยุดปลายปี มีความสำคัญต่อยอดขายของปี
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทเสื้อผ้า Everlane เตรียมการที่จะรณรงค์เปิดตัวสินค้าใหม่ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่ปรากฏว่าทางบริษัทต้องใช้เวลาทั้งเดือน หมดไปกับการแก้ปัญหาเรื่องที่จะหาทางนำสินค้าพวกเสื้อผ้า รองเท้าและกระเป๋า ออกจากโรงงานผลิตในเวียดนาม เพื่อขนส่งมายังสหรัฐฯ
ผลกระทบจากสายพันธุ์เดลต้า
ในช่วงปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้แก่บริษัทของสหรัฐฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน ระยะแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบต่อการผลิต แต่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่การผลิตในเวียดนาม บรรดาร้านค้าปลีกในสหรัฐฯคาดการณ์ว่า สินค้าจะขาดตลาด หรือการส่งมอบล่าช้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าโรงงานผลิตในเวียดนามปิดลงในช่วงไหน
การผลิตที่ชะงักลงของโรงงานในเวียดนาม ทำให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเวียดนามในการผลิตสินค้าสนองแก่ผู้บริโภคชาวอเมริกัน บริษัทอเมริกันหลายแห่งย้ายการผลิตออกจากจีน ส่วนหนึ่งเนื่องจากค่าแรงในจีนสูงขึ้น อีกส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กลายเป็นตัวเร่งในการย้ายฐานการผลิต
เมื่อปี 2020 โรงงานในเวียดนามผลิตรองเท้าถึง 51% ของแบรนด์ Nike ทั้งหมด Gap ก็แถลงว่า 1 ใน 3 ของสินค้ามาจากเวียดนาม ส่วน Everlane บอกว่า 40% ของสินค้ามาจากเวียดนาม
อุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าสหรัฐฯเรียกร้องรัฐบาลเวียดนาม ให้ความสำคัญแก่การฉีดวัคซีนแก่คนงานตามโรงงาน ผู้บริหารจาก 90 บริษัทในสหรัฐฯ รวมถึง Nike และ Fruit of the Loom เขียนจดหมายถึงรัฐบาลโจ ไบเดน ให้เร่งบริจาควัคซีน “ภาวะที่ปกติของธุรกิจนี้ ขึ้นตรงกับภาวะปกติของอุตสาหกรรมเวียดนาม” ในการไปเยือนเวียดนามเมื่อเร็วๆนี้ รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริสแถลงว่า สหรัฐฯจะบริจาควัคซีนให้เวียดนามอีก 1 ล้านโดส เพิ่มจากที่เคยบริจาคแล้ว 5 ล้านโดส
ทำไมเวียดนามเป็นฐานการผลิตใหม่
หนังสือชื่อ Arriving Today (2021) เขียนถึงเส้นทางขนส่งของสินค้าจากโรงงานในเวียดนาม ที่เดินทางไปถึงบ้านผู้บริโภคหรือสำนักงานต่างๆในสหรัฐฯ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกว่า…
เวียดนามในปัจจุบันกลายเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่สำคัญของโลก มีสภาพคล้ายกับ “เขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น” ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 บรรดาบริษัทข้ามชาติเช่น Apple หรือ Nike ได้เข้าตั้งโรงงานการผลิตขึ้นในเวียดนาม ที่เลียนแบบโรงงานในจีน
ผู้ส่งออกสินค้าคนหนึ่งบอกความลับกับ Christopher Mims ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ และเป็นผู้สื่อข่าวของ The Wall Street Journal ว่า การที่บริษัทเหล่านี้ย้ายมาเวียดนาม เหตุผลง่ายๆก็คืออัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ หรือหากเกิดการปะทะทางทหารขึ้นมา ผู้ผลิตจะต้องรีบเอาสินค้าออกจากจีนทันที ให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่วัน อีกทางเลือกหนึ่งคือ หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ค่อยไปตั้งโรงงานการผลิตในประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้ไม่มีการผลิตสินค้านานหลายเดือน หรือนานนับเป็นปี ความเสี่ยงแบบหลังที่ไม่มีการสินค้าผลิตขึ้นมาเลย คือสิ่งที่ธุรกิจรับไม่ได้
เวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงกลายเป็นตัวแทนของอนาคตการผลิต การผลิตที่หยุดชะงักเพราะโควิด-19 ยิ่งจะทำให้ฐานการผลิตย้ายออกจากจีน เมื่อครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดในระยะแรก ผู้ผลิตได้มีการทดสอบสมมติฐานที่ว่า โรงงานที่ตั้งอยู่นอกจีน จะสามารถปกป้องตัวเองจากการหยุดชะงักของห่วงโซอุปทานได้หรือไม่ ผลการทดสอบไม่เป็นไปตามที่คาดคิด เพราะชิ้นส่วนของสินค้าหลายอย่างยังต้องมาจากจีน
กระบวนการผลิตสินค้าในทุกวันนี้ แตกต่างจากโรงงานการผลิตรถยนต์ฟอร์ดในอดีต ที่นำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเอง แต่การผลิตทุกวันนี้ อาศัยสายพานการผลิตที่ยาว เรียกว่าห่วงโซ่อุปทาน โรงงานมีการนำวัตถุดิบมาผลิตเป็นชิ้นส่วนต่างๆ แล้วก็นำไปประกอบขึ้นมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป ในโรงงานอีกแห่งหนึ่ง
ตัวอย่างที่โด่งดังมากที่สุดของการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน คือปลาค็อดที่จับในสกอตแลนด์ แล้วถูกขนส่งไปยังจีน เพื่อแล่เนื้อปลาออกมาเป็นชิ้นไม่มีกระดูก แล้วถูกขนส่งกลับมาขายในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตของสกอตแลนด์ใหม่ แต่เส้นทางของปลาค็อด เทียบไม่ได้เลยกับเส้นทางขนส่งห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนของสมาร์ทโฟน ที่มีชิ้นส่วนมากกว่า 300 ชิ้น เช่น แบตเตอร์รี่ที่ผลิตในเกาหลี ใช้สารลิเทียมจากออสเตรเลีย หรือจอภาพผลิตที่รัฐเคนตักกี้ โดยใช้ทรายจากเหมืองในรัฐมินเนโซต้า
ห่วงโซ่การผลิตที่มีปัญหา
บทความของ vox.com เรื่อง You can buy stuff online, but getting it is another story บอกว่า เนื่องจากเทศกาลวันหยุดของปี จะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า เทศกาลชอปปิ้งที่คึกคักที่สุดของปี จะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงของคอขวดห่วงโซ่อุปทาน สินค้าที่จะขาดแคลนได้แก่พวกเสื้อผ้า อุปกรณ์การศึกษา รถจักรยาน อาหารสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ต้องอาศัยตัวชิปเซมิคอนดักเตอร์
การผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานมีลักษณะนานาชาติ เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิต ศูนย์การประมวลผล และบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลก บริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และผลกำไรมากที่สุด การจะเข้าใจขอบเขตระบบห่วงโซ่อุปทานโลก คือการดูว่าสินค้าแต่ละชนิด ผลิตออกมาได้อย่างไร มีห่วงโซ่อุปทานอย่างไร ที่เชื่อมโยงป้อนวัตถุดิบกับโรงงานผลิต และระบบการขนส่งสินค้า ไปสู่ศูนย์กลางการจัดจำหน่าย
การระบาดของโควิด-19 เปรียบเหมือนคลื่นที่มาสั่นคลอน ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานนี้ ระบบนี้ที่ว่างน้อยมากสำหรับความผิดพลาด และผู้ผลิตเองก็ไม่ได้เก็บสต๊อกสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก เพราะเหตุนี้ แม้จะเวลาจะผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้ว ธุรกิจทั้งหลายจึงยังเผชิญกับปัญหาการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
บทความของ vox.com กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันและบริษัทจำหน่ายสินค้า เคยชินกับระบบการผลิต “แบบส่งมอบทันเวลา” (just-in-time manufacturing) โมเดลการผลิตแบบนี้เริ่มต้นจากบริษัทรถยนต์โตโยต้า แล้วต่อมา บริษัทต่างๆทั่วโลกได้นำวิธีการผลิตแบบนี้ไปใช้
การผลิตแบบส่งมอบทันเวลาต้องการให้เกิดประสิทธิภาพด้านต้นทุน บริษัทผู้ผลิตสินค้าจะเก็บสต๊อกชิ้นส่วนในปริมาณที่น้อย แต่หันไปอาศัยซับพลายเออร์แทน โดยเฉพาะซับพลายเออร์ในต่างประเทศ ที่การจัดหาชิ้นส่วนวัตถุดิบ ทำได้ในต้นทุนต่ำ และการประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป มาจากแรงงานค่าแรงถูก หลังจากนั้นก็ขนส่งสินค้าไปตลาดปลายทาง
ที่ผ่านมา โมเดลการผลิตแบบส่งมอบทันเวลา เป็นประโยชน์แก่ทั้งธุรกิจและผู้บริโภค ธุรกิจสามารถลดการเก็บสต๊อกสินค้า ลดต้นทุน และปรับตัวได้รวดเร็วกับความต้องการตลาดที่เปลี่ยนไป รวมทั้งรักษาราคาสินค้าให้ต่ำ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทาน การแพร่ระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และการที่ประเทศยากจนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน ทำให้การฟื้นตัวของการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน ชะลอตัวออกไป
สิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ และสินค้าไฮเทค มีความกังวลคือ การขาดแคลนตัวชิปเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทโตโยต้าแถลงว่า ในเดือนตุลาคม การผลิตรถยนต์ทั่วโลกลดลง 40% เนื่องจากขาดแคลนตัวชิปคอมพิวเตอร์ เพราะโรงงานผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียง ประสบปัญหาการผลิตจากการล๊อกดาวน์ ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2022 โตโยต้าคาดการณ์ว่า การผลิตรถยนต์จะลดลง 3 แสนคัน
บทความของ vox.com สรุปว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทและอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทำการประเมินความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานที่มีความเชื่อมโยงกันและกัน เป็นระบบการผลิตที่เพิ่มผลกำไร แต่ไม่ได้มองเรื่องจุดอ่อนหากเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมา แต่ผู้ผลิตก็ยังลังเลที่จะเปลี่ยนการผลิตแบบนี้ เพราะต้องใช้เวลา และมีต้นทุนสูง
ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องทำตัวให้เคยชินกับการขาดแคลน หรือการล่าช้าในการส่งมอบสินค้าที่ต้องการซื้อ
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you