“ผู้ว่า ธปท.” Meet the Press เล่า 4 อาการเศรษฐกิจไทย กับมาตรการ “ยาต้องแรง”

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้จัดงาน Meet the Press โดยดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ และมีนายศรัณยกร อังคณากร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.ทำหน้าที่พิธีกรและซักถาม

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าเรายังอยู่ช่วงที่ประเทศและเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัญหาหนักหน่วง สาธารณชนต้องการความเชื่อมั่นและข้อเท็จจริงในการตัดสินใจดำเนินชีวิตและธุรกิจ”
“เรื่องที่อยากจะเล่าภาพรวมของ “อาการ” ที่เศรษฐกิจไทยที่กำลังเจอ เพื่อที่จะประเมินว่าอาการเป็นอย่างนี้ แล้วจะแก้ไขปัญหา หาทางออกให้ได้ให้ตรงตาม “อาการ” มีอะไรบ้าง ให้สื่อมวลชนทุกท่านได้ช่วยกันสื่อสารต่อไปยังสาธารณชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจ และช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้”
“การพูดในภาพรวมอาจจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย แต่ก็จะพูดถึงบาทบาทของธปท.ทั้งเรื่องที่ทำมาแล้ว ผลเป็นอย่างไรและแนวทางในอนาคต เปรียบเหมือนการรักษาโรคต้องรักษาแบบองค์รวม การใช้หมอเฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้คนไข้รอด ไม่ใช่ว่าธปท.จะไม่ทำ ต้องทำ”
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขอแบ่งการพูดคุยในวันนี้ออกเป็น 3 ส่วน (1) ภาพเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิด 19 และมุมมองไปข้างหน้า (2) สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการเพื่อช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้เรากลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด และ (3) การประเมินผลมาตรการ ธปท. และแนวทางการปรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น
เศรษฐกิจเจอ 2 หลุ่มใหญ่ต้องใช้ยาแรง
นายศรัณยกรได้เริ่มคำถามแรก ภาพรวมเศรษฐกิจเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดค่อนข้างรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น และยังมีการประมาณการว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 60,000-70,000 รายต่อวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ในมุมมองของผู้ว่าการ ธปท.ว่า เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์เดิมอย่างไร มีอาการและผลกระทบมากขึ้นขนาดไหน
ดร.เศรษฐพุฒิ: การจะประเมินว่าจะต้องทำอะไรก็ต้องเริ่มด้วยการวิเคราะห์อาการให้ชัดเจน ในภาพรวมเศรษฐกิจ มี 4 อาการที่ชัดเจน
อาการแรก คือ โควิด 19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย รายได้ที่หายไปอย่างมากมาย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้ของครัวเรือนหรือจากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 “หลุมรายได้” อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท
“เมื่อเทียบกับตัวเลข จีดีพีถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ ซึ่งสื่อถึงขนาดของหลุมและขนาดของปัญหา เมื่อกลับมาที่มาตรการที่จำเป็น อาการหนัก ยาก็ต้องแรง”
อาการที่สอง โยงไปที่รายได้ เพราะการจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่
(1) ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม ต่อวัน) อยู่ที่ 3.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดประมาณ 1 ล้านคนและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน
นอกจากลักษณะการว่างงานก็น่ากังวล จาก(2) ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) มีจำนวน 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว ผลที่ตามมาหลากหลายหลายคนออกจากระบบแรงงานไปเลย
(3) ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือกลุ่มเด็กจบใหม่หางานไม่ได้อยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน และ
(4) เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สะท้อนมาในข้อมูลการว่างงานแต่สะท้อนในรายได้ที่หายไปก็คือ แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก
“ตัวเลขนี้สะท้อนสภาพรายได้กับการจ้างงาน เป็นอาการของเศรษฐกิจรอบนี้ ไม่ใช่เฉพาะในจีดีพี แต่สะท้อนถึงมาตรการที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ”
อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำสูง(K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบ 20% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย ภาคบริการการท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียง 8% ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52% ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง
อาการที่สี่ ไทยถูกกระทบจากโควิด 19 หนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนี่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ 11.5% ของ GDP ทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% เทียบกับ 4.9% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว
“ทั้งหมดสื่อถึงการฟื้นตัวช้า ยาว ใช้เวลานาน และใช้เวลานานกว่าเพื่อนบ้าน เพราะไทยได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยอิงกับท่องเที่ยวถึง 11-12% ของ GDP ส่วนประเทศอื่นที่แม้พึ่งการท่องเที่ยวมาก ก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่า เช่น สิงคโปร์มีสัดส่วน 6% ของ GDP ประเทศที่เหลือสัดส่วนที่น้อยกว่า ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเทียบกับ GDP แล้วสูงกว่าประเทศอื่น 2-3 เท่า ภาคการท่องเที่ยวฟื้นช้ากว่าภาคอื่นๆเพราะเกี่ยวข้องกับโรคและมาตรการควบคุมโควิด”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หมายเหตุ:ภาพถ่ายเดือนตุลาคม2563
ทำไมสถานการณ์รุนแรงกว่าที่คาดไว้ อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม
ดร.เศรษฐพุฒิ:ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์หนักกว่าที่คาด และหลักๆมาจากเรื่องของโควิด ที่ผ่านมา ไทยคุมการระบาดได้ดี ทั้งในระลอกแรกที่ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 สามารถกลับมายังจุดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อได้ และระลอกสอง ที่ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียงราว 29,000 ราย ทำให้ ธปท. มองว่าเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะทยอยฟื้นตัวได้ รวมถึงการท่องเที่ยว โดยมองการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.0%
การเปลี่ยนแปลง (เหตุ) สำคัญ คือ ไวรัสที่กลายพันธุ์ และพัฒนาเป็นสายพันธุที่กระจายง่ายขึ้น วัคซีนได้ผลน้อยลงจน เกิดการระบาดระลอกสาม ณ ช่วงปลายเดือนมิถุนายน มีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.6 แสนคน ยอดติดเชื้อรายวันที่ 4-5 พันคน ธปท. ได้ปรับลดประมาณการลงเหลือ 1.8% และล่าสุด สถานการณ์ผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 9 แสนคน มียอดผู้ป่วยรายวันเกิน 20,000 คน ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้มาตรการคุมการระบาดต้องเข้มงวดขึ้น ธปท. จึงต้องปรับประมาณการปีนี้ลง โดยมีสมมติฐานสำคัญว่าจะทยอยลดมาตรการ lockdown ลงในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตที่ 0.7% ดังนั้น ผลที่เปลี่ยนไปจากที่คาด คือ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงขึ้น
“เห็นได้ชัดว่าการปรับประมาณการมาจากการโควิด และสะท้อนถึงหนึ่งสถานการณ์หนักกว่าที่คาดและสองการฟื้นตัวที่ล่าช้า”
ขณะเดียวกัน การระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์นี้ลดลง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไวรัสตัวนี้จึงยากขึ้น การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศจึงทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งมีนัยต่อภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเท่าระดับก่อนโควิดได้หลังปี 2567 ไปแล้ว อีกผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ เศรษฐกิจไทยข้างหน้าจึงฟื้นตัวช้าออกไป เพราะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของไทยคงไม่กลับมาปกติโดยเร็ว
การ lockdown รอบนี้ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจและครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น เพราะเงินออมลดลงทุกครั้งที่การระบาดกลับมา สายป่านของครัวเรือนสั้นลงเรื่อย ๆ สะท้อนจากตัวเลขเงินฝากในบัญชีที่มียอดต่ำกว่า 50,000 บาท ที่ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2564 ปรับลดลงเทียบกับปีก่อนเป็นครั้งแรก โดยหดตัวที่ 1.6% ขณะที่เงินฝากในบัญชียอดสูงกว่า 1 ล้านบาทยังขยายตัวได้ที่ 6.0% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่หนี้สินก็มีสัญญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่หายไป
ถ้าเห็นว่าสถานการณ์จะแย่ลงทั้งหลุมรายได้ที่ลึกขึ้นและกว้างขึ้น การฟื้นตัวที่เป็น K-shaped ประเทศไทยก็จะฟื้นตัวช้ากว่าเดิม แล้วแนวทางในการแก้ไขที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ที่จะตอบโจทย์เพื่อให้ประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้มีอะไรบ้าง
ดร.เศรษฐพุฒิ: เราเริ่มด้วยอาการที่เห็นว่าอาการหนัก ที่มาของอาการและผลข้างเคียงว่าเกิดจากอะไร ก็กลับมาที่แนวทางที่เหมาะสมกับอาการ “อาการที่หนัก ยาก็ต้องแรง” และต้องแก้ให้ถูกจุด
“ผมขอพูดในภาพรวมให้เห็นและอาจจะมีการเอ่ยถึงงานของคนอื่นด้วยเพื่อที่จะให้บริบทว่า ของเรา ธปท. คือเรื่องการเงินอยู่ตรงไหนในภาพรวมการแก้ไขปัญหา”
ปัญหาของวิกฤติครั้งนี้มาจาก 3 ด้าน คือ คือ (1) ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต (2) ปัญหาด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์ และ (3) ปัญหาภาระหนี้ ซึ่งเป็นผลพวงของรายได้ที่หายไป ซึ่งในการแก้ไขทั้ง 3 ปัญหา “หัวใจ” คือ “การแก้ไขตามอาการ”
ด้านแรกที่เห็นชัด (1) ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติ โควิดเป็นวิกฤติที่เริ่มต้นจากระบบสาธารณสุข การแก้ปัญหา “ตามอาการ” จึงต้องอาศัยเครื่องมือด้านสาธารณสุข ที่สำคัญ คือ วัคซีน และมาตรการควบคุมการระบาด
วัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงยั่งยืน ระหว่างนี้ ประชาชนจึงควรต้องได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอและการกระจายฉีดอย่างเหมาะสม เพื่อลดอัตราการตายและติดเชื้อ และให้กำลังการตรวจหาโรคมีเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้บริหารจัดการการระบาดได้ ดีขึ้น ลดโอกาสการ lockdown หรือจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้จึงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียง 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN 5 (สิงคโปร์ 70% มาเลเซีย 31% ฟิลิปปินส์ 11% อินโดนีเซีย 10%) ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี มีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 50% และประชากรกว่า 2 ใน 3 ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ดังนั้น การได้รับภูมิคุ้มกันหมู่และการฟื้นตัวของไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง จะช้ากว่าอีกหลายประเทศโดยเปรียบเทียบ
ในระหว่างที่สังคมไทยยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอ เราจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ คุมการระบาด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูง เพราะเป็นการจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งกระทบการดำเนินธุรกิจรุนแรง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ที่สำคัญ ต้องเร่งรัดมาตรการตรวจและแยกการติดเชื้อในครัวเรือนให้ครอบคลุมและทันการณ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองก่อนการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม หากพบการติดเชื้อ อาจต้องใช้มาตรการควบคุม หรือ lockdown เฉพาะพื้นที่อย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัดให้ได้ทันท่วงที
“ต้นตอของปัญหาคือ ปัญหาด้านสาธารณสุข เป็นปัญหาการติดเชื้อ วัคซีนก็ต้องเป็นพระเอก ถ้าไม่มีตรงนี้อย่างอื่นทำแค่ไหนก็ไม่พอ ไทยมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มต่ำ ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แม้แต่ฟิลิปปินส์ที่ติดเชื้อหนักกว่าไทยก็ฉีดวัคซีนสูงกว่าไทย มีเพียงเวียดนามที่ต่ำกว่าไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่พึ่งพาภาคบริการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศก็จำเป็นที่จะต้องฉีดให้สูงและการควบคุมโรคต้องเป็นพระเอก อย่างอื่นทำเท่าไรก็ไม่พอ”
(2) ปัญหาด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์
ในระหว่างที่สังคมไทยรอการเกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน ภาครัฐจะมีบทบาทในการการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน และดูแล “หลุมรายได้” ที่คาดว่าจะใหญ่ถึง 1.8 ล้านล้านบาทตลอดปี 2563–2564 โดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังจะหมุนเวียนไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ให้ดำเนินต่อไป รักษาการจ้างงานไว้ได้ และไม่ต้องมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว
“หลุมรายได้และหลุมการจ้างงานสะท้อนปัญหา สะท้อนขนาดของรายได้ที่หายไปแล้ว ทำให้คนสายป่านสั้นลงและทั้งในอนาคตจะมีปัญหารายได้กับการจ้างงาน ก็ต้องแก้ตรงรายได้ ให้ได้ซึ่งมาตรการที่จะช่วยตรงจุดที่สุดในเรื่องของรายได้กับการจ้างงาน ก็หนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณกับมาตรการทางการคลัง ซึ่งตรงจุดที่สุดและมีความจำเป็นในการรักษาอาการให้ถูกต้อง”
ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวในทุกด้านจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เว้นแต่การใช้จ่ายภาครัฐด้านเดียวที่ยังขยายตัวได้ และช่วยพยุงการบริโภคของภาคเอกชนได้อย่างมาก โดยหากไม่มีมาตรการเงินโอนช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลกระทบจากโควิดต่อการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะรุนแรงขึ้นมาก จากที่หดตัวร้อยละ 1.0 อาจสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 ได้ นอกจากนี้ การช่วยเยียวยารายได้ ทำให้ความจำเป็นในการก่อหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจลดลงได้บ้าง
ที่มาภาพ:การแถลงสถานการณ์โควิดวันที่ 16 ส.ค. 2564 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ภาครัฐต้องสร้างรายได้-กู้เพิ่มเสี่ยงต่ำกว่าไม่กู้
ทำไมต้องเป็นภาครัฐ ที่จะมีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและประชาชน
ดร.เศรษฐพุฒิ: นอกจากภาครัฐ ยังมีธุรกิจการส่งออก ธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม และประชาชนบางกลุ่มยังมีรายได้และเงินออมสูงที่ยังมีกำลังซื้อในการพยุงเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดี ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาคเอกชนระมัดระวังการใช้จ่ายและเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ไม่มาก จึงมีเพียงภาครัฐที่ยังขับเคลื่อนได้
“ขอย้ำว่า ไม่ใช้ภาครัฐฝ่ายเดียวต้องเป็นทุกส่วนแต่ภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังเป็นเรื่องที่จำเป็น ขาดไม่ได้ เพราะหนึ่งขนาดของกลุ่มที่หายไปในช่วง 2 ปี 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP สะท้อนถึงหลุมที่หายไป แต่หากถามมีตัวอื่นหรือไม่ที่จะสามารถทดแทนหลุมนี้ ตอนนี้ต้องเรียนว่าไม่มี แน่นอนว่าช่องอื่นต้องทำงาน แต่ช่องอื่นถ้าไม่มีภาครัฐเข้ามาเพิ่มเติม ยังไงก็ไม่พอ”
ภาคการส่งออก แม้จะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวจากการได้รับวัคซีนที่เร็วให้กับประชากรได้ในสัดส่วนสูง โดยในปีนี้ มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 17.7% จากปีก่อนหน้า แม้มีมาตรการ bubble and seal เพราะขยายตัวในครึ่งแรกได้ถึง 19% ซึ่งช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 6.9% แต่เมื่อหักการนำเข้าสินค้าที่ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกที่ส่งผลต่อ GDP ประมาณ 6.4% ทำให้สุทธิแล้วช่วย GDP ได้เพียง 0.5% ซึ่งยังไม่สามารถชดเชยหรือเติมเต็ม “หลุมรายได้” ที่หายไปได้
“แรงส่งผ่านของการส่งออกเมื่อวัดจากการนำเข้า ก็ไม่ได้มากนอกจากนี้ การจ้างงานในภาคการส่งออกมีสัดส่วนเพียง 8% ของกำลังแรงงาน และที่ผ่านมายังไม่เห็นสัญญาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่นัก”
ธุรกิจขนาดใหญ่แม้จะยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง แต่ยังไม่จ้างงานเพิ่ม โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์กลับมาสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว แต่งบลงทุนยังหดตัวจากช่วงก่อนโควิดอยู่ถึง 49% และการจ้างงานของธุรกิจขนาดใหญ่ ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.7% และแม้บริษัทเอกชนจะลงทุนเพิ่มขึ้น ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เพราะสัดส่วนของการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ราว 18 ของ GDP และที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนโตเฉลี่ย 4.4% ซึ่งการลงทุนจะต้องนำเข้าเครื่องจักรพอควร ดังนั้น ถ้าธุรกิจใหญ่ลงทุนมากขึ้น เช่น 1 แสนล้าน จะช่วยให้ GDP เติบโตได้เพียง 0.2 -0.3%
“ธุรกิจรายใหญ่ที่ยังทำกำไรได้ ก็ควรจะออกมาช่วย แต่ในสภาพความเป็นจริง ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการจ้างงาน200 คนขึ้นไป มีสัดส่วนการจ้างงานอยู่ที่ไม่ถึง 10% ของการจ้างงานรวม”
“ทั้งการส่งออก ธุรกิจขนาดใหญ่รวมแล้ว เมื่อเทียกับขนาดของปัญหายังไงก็ต้องกลับมาที่ภาครัฐ แทบทุกหมวดของรายจ่ายหดตัวหมดเลย ยกเว้นรายจ่ายภาครัฐที่ผ่านมาต้องชมว่าช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ถ้าไม่ได้ตรงนี้มา ตัวเลขที่เราเห็นการหดตัวทั้งในฝั่งบริโภค เศรษฐกิจโดยรวมจะหนักกว่านี้เยอะมาก จึงตอบคำถามว่าทำไมภาครัฐจึงจำเป็นและจำเป็นมากกว่านี้”
ในเมื่อการส่งออกและธุรกิจรายใหญ่ไม่เพียงพอต่อการปิดหลุมรายได้ แล้วการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นควรมีลักษณะหรือรูปแบบการดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยพยุงรายได้ของประชาชนให้ได้เต็มที่
“ภาครัฐเองทรัพยากรก็มีจำกัด ต้องใช้ในวิธีที่ได้ผลมากที่สุดและแรงที่สุด ก็ต้องเป็นรายจ่ายที่มีผลต้องเป็นรายจ่ายที่มีตัวทวีคูณสูง หรือ fiscal multiplier สูง”
ดร.เศรษฐพุฒิ: โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมี “ตัวคูณ” หรือ multiplier สูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง ที่มีmultiplier 1.5 และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ที่มีmultiplier 2-2.6 โดยมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก มักเป็นการดึงเม็ดเงินจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลเพิ่มเติมจากการเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจและการจ้างงาน ขณะที่มาตรการให้เงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจะมีความจำเป็นในระยะสั้น แต่เนื่องจากมี multiplier ต่ำ ที่0.8-1 จึงควรใช้แบบตรงจุด หรือ “ตามอาการ” ให้ได้มากที่สุด
“ไม่ได้หมายความมาตรการเยียวยาไม่จำเป็น แต่เน้นที่รูปแบบการมีผลต่อตัวทวีคูณ
อีกรูปแบบสำคัญหนึ่งเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก “หลุมรายได้” ที่ทั้งใหญ่และลึก รวมทั้งสถานการณ์ที่จะยาวนาน การใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มอีกมากและ front-load ให้ได้มากที่สุด เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินตาม พ.ร.ก. 5 แสนล้าน ที่อาจเร่งนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว
การวางนโยบายการพยุงการจ้างงานและสร้างรายได้อย่างเพียงพอ ต้องทำให้ได้ในวงกว้าง และต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมผลักดันมากขึ้น โดยเน้น (1) การพยุงการจ้างงาน (job retention) โดยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนรักษาระดับการจ้างงาน (2) กระตุ้นอุปสงค์ (demand creation) เพื่อเพิ่มการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการจ้างงานในท้องถิ่นที่มีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับถิ่นจำนวนมาก (3) ส่งเสริมการเพิ่มหรือปรับทักษะ (upskill-reskill) ของแรงงาน เช่น โครงการ Co-payment ที่รัฐบาลควรขยายให้ครอบคลุมแรงงานที่ตกงานและแรงงานคืนถิ่น นอกเหนือไปจากแรงงานจบใหม่ รวมทั้งขยายเวลาการจ้างงานภาครัฐที่จะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ออกไป เป็นต้น ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทเป็น facilitator โดยไม่ควรสร้างเงื่อนไขมากจนเป็นข้อจำกัดในการช่วยเหลือ และมีกระบวนสร้างความโปร่งใสในการพิจารณาและดำเนินมาตรการต่าง ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการตอบโจทย์ และสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคต
การใช้จ่ายภาครัฐควรต้องเพิ่มขึ้นแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ทำไมต้องรีบทำและควรต้องกังวลเรื่องหนี้สาธารณะหรือไม่
ดร.เศรษฐพุฒิ: ด้วยขนาดของรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565) เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP
“ขนาดก็มีความสำคัญ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขหลุมการจ้างงาน อาการที่เป็นจากที่ธปท.ดู ขนาดความแรงของยาที่ขนาด 1 ล้านล้านเพิ่มเติม หรือ 7% ของ GDP ก็คิดว่าสมเหตสมผลกับปัญหาที่เศรษฐกิจกำลังเจอ”
อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่าตัวเลขการกู้ยืม 1 ล้านล้านเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า ระบบยังรองรับได้ สำหรับการกู้เพิ่ม
การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว
“เรื่องเสถียรภาพทางการคลัง จากที่ธปท.ประมาณการจากการใช้มาตรการทางการคลังเพิ่มเติม 1 ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขคร่าวๆที่เหมาะกับอาการที่เกิดขึ้น เข้าไป สัดส่วนหนี้ต่อ GDP จากที่อยู่ในระดับกว่า 50% จะแตะระดับสูงสุดที่ 70% ของ GDP ในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มลง”
อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะขอย้ำและเป็นเรื่องสำคัญ คือ การที่กู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปเพิ่มกลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอนาคตใน อีก 10 ปีข้างหน้าจะต่ำกว่าเทียบกับถ้าเราไม่กู้ เพราะการกู้ตอนนี้ การใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี ทำให้อัตรการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ และช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคตไม่ใช่เพิ่มขึ้น”
“ภาพระยะยาว การกู้เงินเพื่อใส่เข้าไปเป็นสิ่งที่ ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอลงเข้าไปใหญ่”
การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่
ดร.เศรษฐพุฒิ:“ถ้าถามว่า มีความกังวลต่อภาระหนี้หรือไม่ ก็มีแต่ในภาพรวมมีความเหมาะสมและความเสี่ยงไม่ได้สูง ขนาดนั้น เทียบกับความเสี่ยงหากไม่ทำกลับมากว่าที่ทำ เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวยาว ถ้าเรามองไปสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ 70% เศรษฐกิจก็รองรับได้ สภาพคล่องในระบบรองรับการกู้ยืมจากภาครัฐก็มี การกู้ยืมที่จะชดเชยภาคคลังก็มาจากการกู้ในประเทศ”
ปัจจุบัน เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก (1) หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำก่อนโควิด โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 42% ณ ธันวาคม 2562 และเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดประมาณร้อยละ 14 (56% ณ มิถุนายน 2564) ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19%) และกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น กรีซ (25.2%) (2) หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ โดยสัดส่วนหนี้ในประเทศ ณ มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 98.2% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด (3) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นข้อจำกัดต่อภาระทางการคลัง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทยที่ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ไม่ถึง 1.6% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ( 3.2%) อินโดนีเซีย ( 6.3%) ฟิลิปปินส์ 4.1%) และเวียดนาม ( 2.1%)
นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ เพราะการประเมินของบริษัทจัดอันดับฯ จะพิจารณาจากประสิทธิผลของมาตรการคลังในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา outlook ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น stable โดยมีฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง ทั้งหนี้ต่างประเทศที่อยู่ระดับต่ำและทุนสำรองที่มีมาก ขณะที่ความกังวลของบริษัทจัดอันดับส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของไทยเพราะยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่ม room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด สำหรับการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้อง “ตรงจุด” และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน (Conditional transfer) พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 0.33%ต่อ GDP
“ตรงนี้เป็นยา เป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสภาวะอาการที่เราเห็น แต่ไม่ใช่ว่าจะกู้แล้วไม่ดูเสถียรภาพ ถ้าจะกู้ก็ต้องมีแผนชัดเจนระยะยาว ที่จะทำให้ฐานะการคลังจะกลับมาสู่สภาวะที่เข้มแข็งกว่าเดิม หรือ fiscal consolidationในระยะยาว ในระยะยาวสิ่งที่เราควรทำคือขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกเปอร์เซ็นต์ที่จะเพิ่มรายได้เข้ารัฐ 6 หมื่นล้าน”

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"