ครัวเรือนไทย มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัล พร้อมแค่ไหน?

การชี้วัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัล(digital literacy)นั้น เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานนัก ซึ่งกรอบแนวคิดของการวัด digital literacy นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกจากความพยายามในการวัดความสามารถด้านเทคโนโลยีในช่วงปีค.ศ. 1980 ที่เพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์

ดังนั้น ชื่อทักษะในอดีตจึงอาจเรียกว่า ICT fluency, digital competency หรือ computer literacy เป็นต้น แต่เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนหลอมรวมเข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจอย่างแยกไม่ออก จึงเกิดแนวคิดของการวัด digital literacy แบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการวัดdigital literacy ของครัวเรือนไทย โดย ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งผลการวิจัยมีประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง
าเริ่มตั้งแต่คำนิยามและแนวคิดกันก่อนเลย ก่อนจะไปดูผลการวิจัยของ ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลกับความพร้อมของครัวเรือนไทยผ่านการศึกษา “Digital literacy”
งานวิจัยหลายฉบับต่างให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า“ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล”สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก จนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่าง ๆ สามารถเอาชนะกับดักของรายได้ปานกลาง
ดร. รุ่งเกียรติ ได้นิยาม “ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล” ไว้ว่า จะต้องมีองค์ประกอบหลักอย่างน้อย 3 ประการดังแสดงในภาพที่ 1 ได้แก่ 1) digital infrastructure หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายโทรคมนาคมที่พร้อมสำหรับการสื่อสารและดำเนินธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัล 2) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ และ 3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการผลิต
ทั้งนี้ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับความสามารถของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ผู้ประกอบการ และภาครัฐในการมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ทุกภาคส่วนจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงที่สุด
รายงานวิจัยนี้จึงมุ่งเป้าในการวัด “ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล” (digital literacy) ในระดับครัวเรือน ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการบริโภค การเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงศักยภาพของครัวเรือนในการประกอบธุรกิจด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอย่างมากต่อวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (micro and small enterprises)
โดยรายงานวิจัยฯ เป็นการประเมินศักยภาพของครัวเรือนไทยในยุคดิจิทัลว่ามี “ความพร้อม” ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่ เพราะศักยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจทิทัลของไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับว่า คนไทยมีทักษะด้าน Digital literacy มากน้อยแค่ไหน
เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเสนอแนวทางในการวัด “Digital literacy” เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถนำไปขยายผลเพื่อวัดระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยได้ในวงกว้าง ซึ่งมีองค์ประกอบ4 ปัจจัยที่ต้องมีการวัด เพื่อสร้างเป็นดัชนี digital literacy ประกอบด้วย
1) digital technology access ซึ่งเป็นการวัดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านอุปกรณ์
2) digital skills ที่มุ่งเน้นวัดทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
3) digital knowledge ซึ่งวัดความรู้ความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัล
และ 4) cyber risk awareness ที่ประเมินการตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงด้านข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และเงื่อนไขทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัล
ทั้งนี้ การศึกษาระดับ digital literacy ตามองค์ประกอบ 4 ปัจจัยดังกล่าวของครัวเรือนไทยเริ่มต้นจากการ “สุ่มตัวอย่าง” ตามมิติของอายุเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุม 4 เจเนเรชั่นสำคัญ ได้แก่ Baby boomers // Gen-X // Millennials และ Gen-Z โดยกลุ่มตัวอย่างจะมีการกระจายตัวตามเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 500 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างภายใต้การศึกษามีความครอบคลุมทั้งในมิติของกลุ่มอาชีพ ระดับการศึกษา และระดับรายได้
จากการศึกษาพบว่า ภาพรวม “การเข้าถึง” เทคโนโลยีดิจิทัล ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน smartphone โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 เครื่องต่อครัวเรือน รองลงมาคือ laptop/notebook ที่ 1 เครื่อง นอกจากนี้พบว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับรายได้
ในส่วนของทักษะด้านดิจิทัล พบว่าเจเนเรชั่น “Millennials” มีทักษะที่สูงกว่า Gen-Z ในทุกมิติ ยกเว้นมิติของการใช้ graphic software สะท้อนให้เห็นว่าทักษะด้านดิจิทัลอาจไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติได้ แต่จะต้องอาศัยระบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะดังกล่าว สาเหตุที่ Gen-Z มีทักษะด้าน graphic software ที่สูง อาจเป็นผลจากความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่มักจะมีอาชีพในอุดมคติเป็น Blogger, Youtuber หรือ Influencer เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่น่าสนใจอีกมิติคือ ด้านความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล (digital knowledge) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็น Gen-Z มักจะประเมินตนเอง (self-assessment) ว่ามีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่สูง แต่เมื่อมีการทดสอบด้วยข้อสอบจะพบว่าคะแนนที่ได้จริงกลับลดต่ำลงมาก ความมั่นใจที่ผิดที่คิดว่าตนเองมีความรู้ที่มากเพียงพอแล้วเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ผู้วางนโยบายจะต้องหากลไกและสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กรุ่นใหม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
เมื่อวิเคราะห์ที่การตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ (cyber risk awareness) พบว่า เจเนเรชั่น Millennials มีวุฒิภาวะและความพร้อมในมิติของความเสี่ยงในโลกดิจิทัลที่สูงกว่า Gen-Z ในขณะที่ Gen-Z มีการตระหนักรับรู้ใกล้เคียงกับ Gen-X
ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องความเสี่ยงทาง Cyber ไม่ว่าจะเป็นมิติของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ควรปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้อย่างเป็นระบบ ไม่ควรปล่อยให้เป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ
ดร. รุ่งเกียรติ กล่าวว่า โดยภาพรวมจากการวิจัยพบว่าครัวเรือนไทยบางส่วน หรือประมาณร้อยละ18 ยังมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ต่ำ โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจเนเรชั่น Baby boomer และรายได้น้อยมีทักษะดิจิทัลที่ต่ำมากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอื่น ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นปัจจัยใหม่อาจซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและความมั่งคั่งปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ หากจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามมิติของอาชีพจะค้นพบผลที่น่าสนใจว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพพื้นฐานต่าง ๆ เช่น แม่บ้าน คนขับรถ หรือคนที่ไม่มีงานทำเพราะตกงาน (Unemployed) จะเป็นกลุ่มที่มีทักษะดิจิทัลต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น สะท้อนให้เห็นว่าทักษะดิจิทัลอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดประเภทอาชีพและโอกาสด้านรายได้ในอนาคต
จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า “ความเหลื่อมล้ำ“ด้านดิจิทัลในประเทศไทยได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว ถึงแม้ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ใช่ความท้าทายหลัก แต่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ตกงาน หรือประกอบอาชีพพื้นฐานจะประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาขีดความสามารถ และการหารายได้ หากขาดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลแบบองค์รวมที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังพบว่า นโยบายที่สนับสนุนให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลในต้นทุนที่ถูกไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ผู้วางนโยบายควรให้ความสำคัญ แต่เป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นของการสร้างความพร้อมด้านดิจิทัลของประเทศเท่านั้น ดังนั้น การส่งเสริม digital literacy จะต้องให้ความสำคัญอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเพิ่มทักษะในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
และแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพื้นฐานได้ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมักจะถูกใช้ไปเพื่อความบันเทิง และเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่ทักษะดิจิทัลหรือการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านข้อมูลดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้น นโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้ที่ตกงานหรือผู้ที่ทำงานในกลุ่มใช้แรงงาน ได้มีความสามารถในการประกอบวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การทำเกษตรกรรม การหัตถกรรม หรือการประติมากรรม จึงไม่ใช่ทักษะความรู้เดียวที่ควรส่งเสริม แต่ภาคส่วนต่าง ๆ ควรจัดสรรงบประมาณและร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลอย่างเข้มข้นพร้อมกันไปด้วย
ครัวเรือนไทย มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัล พร้อมแค่ไหน?
ทั้งนี้ จากการประเมินความสามารถด้านดิจิทัล (Digital Performance) ของ Tufts University (The Fletcher School at Tufts University (2020) โดยประเทศเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามระดับ Digital Evolution State และ Digital Evolution Momentum ได้แก่ (ตามกราฟฟิกได้เลยค่ะ)
1) กลุ่มที่มีความโดดเด่น (Stand-out) เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลและมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูง
2) กลุ่มที่มีพัฒนาการหยุดชะงัก (Stall-out) เป็นประเทศที่มีประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางด้านดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา แต่เติบโตช้าลงไปมาก
3) กลุ่มที่มีแนวโน้มดี (Break-out) เป็นประเทศที่ยังมีระดับความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลไม่สูงนักแต่มีศักยภาพและแนวโน้มที่จะเติบโตได้เร็ว
4) กลุ่มควรระวัง (Watch-out) เป็นประเทศที่มีความอ่อนแอทางด้านการประยุกต์ใช้และพัฒนาทางด้านดิจิทัล
พบว่าประเทศส่วนใหญ่ยังมีระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก สำหรับประเทศในกลุ่มที่มีความโดดเด่นทางด้านดิจิทัล (Stand-out) น้ัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้มีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ
สำหรับประเทศไทยน้ัน ได้รับการจัดกลุ่มดีขึ้นจากเดิมเคยอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง (Watchout) ยกระดับมาอยู่ในกลุ่ม Break-out ที่มีพัฒนาการด้านดิจิทัลที่เร็ว แต่นับว่าช้ากว่าอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ดังนั้นภาครัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมเชิงสถาบันและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านดิจิทัล และช่วยยกระดับศักยภาพบุคลากร
Source : TNN

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"