หนึ่งปีที่ไม่มีการเดินทาง โควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่การท่องเที่ยวโลกเสียหายมากขนาดไหน

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ได้รับการแจ้งเตือนจากจีน กรณีโรคปอดบวมที่ไม่รู้สาเหตุ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม 2020 คนไข้โรคโรคปอดบวมในจีนเพิ่มเป็น 44 ราย

แหล่งการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ตลาดอาหารทะเล เมืองอู่ฮัน ตอนแรกเชื้อโรคนี้ถูกเรียกว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ต่อมาถูกตั้งชื่อเป็นทางการว่า โควิด-19 (โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ในวันที่ 11 มีนาคม 2020 WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดทั่วโลก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะประเทศต่างๆ ห้ามการเดินทาง ตามมาด้วยการล็อกดาวน์ห้ามออกจากบ้าน และการห้ามการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบรุนแรงจากการปิดสนามบินและผู้โดยสารยกเลิกการเดินทาง ทำให้ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก หยุดชะงักและพังทลายลง
ห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
หนังสือ Counting the Cost of COVID-19 on the Global Tourism Industry (2020) กล่าวว่า ห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกมีความหมายสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติใน 3 ด้าน คือ SDG-8 การมีงานทำและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน SDG-12 การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่สร้างงานและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น และ SDG-14 คือ การบริหารการท่องเที่ยวทางทะเล ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่เป็นเกาะต่างๆ
คำว่าห่วงโซ่คุณค่าโลก หมายถึงขั้นตอนต่างๆ ในการผลิตสินค้าหรือการบริการเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้บริโภค โดยแต่ละขั้นตอนการผลิตจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และอย่างน้อย ในสองขั้นตอนการผลิตเกิดขึ้นในประเทศที่ต่างกัน การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจภาคบริการ มีการใช้แรงานมาก ตั้งแต่แรงงานฝีมือต่ำไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญ การทำงานของคนในส่วนต่างๆ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขึ้นมา และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวโลก
หนังสือ Counting the Cost of COVID-19 กล่าวว่า การจะเข้าใจต่อห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก ต้องดูที่ “ร่องรอยการท่องเที่ยว” (tourism footprint) ที่หมายถึง ความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า บริษัทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะประกอบด้วยธุรกิจการขนส่ง การจัดจำหน่าย ที่พักอาศัย โปรแกรมท่องเที่ยว และปลายทางการท่องเที่ยว
1 ปีที่ไม่มีการเดินทาง
วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา The New York Times ได้พิมพ์บทรายงานชื่อ How Bad Was 2020 for Tourism? โดยกล่าวว่า แม้ตัวเลขจะไม่ทำให้เข้าใจถึงความลุ่มลึกที่ประชาชนทั่วโลกประสบกับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตัวเลขหลายอย่างก็ทำให้เห็นถึงขอบเขตความเสียหายที่กว้างขวางจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2020 โดยเฉพาะที่มีต่ออุตสากรรมท่องเที่ยว
รายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลก สหประชาชาติ (UNWTO) กล่าวว่า การท่องเที่ยวโลกในปี 2020 ถือเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ นักเดินทางระหว่างประเทศลดลง 74% หรือสูญหายไปราวๆ 1 พันล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของสเปนในปี 2019 ทำให้การจ้างงานโดยตรงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกจำนวน 100-120 ล้านตำแหน่งงาน เกิดความเสี่ยง
UNWTO กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีสภาพไม่หยุดนิ่ง ทำให้หลายประเทศนำมาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดกลับมาใช้ใหม่ เช่น บังคับให้มีการตรวจเชื้อ การกักตัว และบางกรณีมีการปิดพรมแดน คาดว่าการเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักเดินทางกลับมาใหม่ ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทาง และทำให้การเดินทางกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีข้างหน้า
ส่วนบทรายงานของ The New York Times ยกตัวอย่างผลกระทบต่อมัลดีฟส์ มูลค่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีสัดส่วนเท่ากับ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจมัลดีฟส์ ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2020 นักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไป 97% แต่ทั้งปีคาดว่าจะลดลง 67% ส่วนมาเก้า เศรษฐกิจปี 2020 หดตัวลงกว่า 50% เพราะนักเดินทางจากต่างประเทศหายไป 85%
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน
ในปี 2020 อุตสาหกรรมการบินก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และประสิทธิภาพด้านการบินที่เป็นระบบเครือข่าย ทำให้นักเดินทางระหว่างประเทศสามารถเดินไปยังที่ห่างไกลได้ในระยะเวลาสั้นที่สุด สมาคม IATA ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินมีมูลค่าปีหนึ่ง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ และจ้างงาน 165 ล้านงาน
แต่ในปี 2020 IATA ระบุว่า การจราจรทางอากาศระหว่างประเทศลดลงไป 65.9% เว็บไซต์ carbonmonitor.org ก็บอกว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากอุตสาหกรรมการบิน ลดลง 50% จาก 1 พันล้านเมตริกตันในปี 2019 มาเหลือ 500 ล้านเมตริกตันปี 2020
หนังสือ Counting the Cost of COVID-19 กล่าวว่า โควิด-19 เป็นภัยคุกคามต่อสภาพคล่องทางการเงินของสายการบิน ค่าใช้จ่ายของสายการบิน 49% เป็นต้นทุนคงที่
หากเครื่องจอดอยู่เฉยๆ ก็หมายความว่า สายการบินต้องเผาเงินสดทิ้งโดยที่ไม่มีรายได้เกิดขึ้น ปัญหาท้าทายของผู้บริหารสายการบินคือการบริหารสภาพคล่อง และหนทางต่างๆ ที่จะรักษาความยั่งยืนของสายการบิน รวมทั้งการจ้างงาน
ในเดือนมีนาคม 2020 IATA ออกแถงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทธุรกิจต่างๆ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อุตสาหกรรมการบิน ในเดือนมิถุนายน 2020 IATA เคยคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะขาดทุน 84 พันล้านดอลลาร์ รายได้หายไป 50% แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขนส่งและแจกจ่ายอุปกรณ์การแพทย์และยา
จากการเรียกร้องของ IATA ทำให้รัฐบาลหลายประเทศเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้สายการบินสามารถอยู่รอดได้ มีรายงานข่าวว่า สายการบิน American Airlines ต้องถอนเงินสด 2.7 พันล้านดอลลาร์ จากบัญชีที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2014 EUROCONTROL ที่ดูแลการจราจรทางอากาศของยุโรป ก็ประกาศจะให้สายการบินเลื่อนการชำระค่าบริการ 1.1 พันล้านยูโรออกไปก่อน รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security Act ให้เงินช่วยเหลือแก่สายการบิน 61 พันล้านดอลลาร์ แต่มีเงื่อนไขที่สายการบินจะต้องคงสภาพการจ้างงานไว้
สายการบินเองก็ต้องหาใช้วิธีการต่างๆ มาใช้ เพื่อรักษาสภาพคล่อง เช่น การจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ และหันมาทำการบินเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้ามากขึ้น เพราะรายได้จากการขนส่งสินค้าไม่ได้ลดลงไปมาก เหมือนรายได้จากผู้โดยสาร แต่ IATA เองก็คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินโลกต้องการเงินช่วยเหลือ 252 พันล้านดอลลาร์ และจะมีการเลิกจ้างงาน 25 ล้านงาน ในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
บทสรุป
หนังสือ Counting the Cost of COVID-19 on the Global Tourism Industry กล่าวสรุปว่า ผลกระทบของโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยมีผลกระทบในทุกภูมิภาคของโลก กระทบทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศ กับเส้นทางบินในประเทศ การปิดพรมแดน การใช้มาตรการเข้มงวด การปิดสนามบิน และการล็อกดาวน์ สร้างความเสียหายแก่สายการบิน
การขาดทุนของสายการบินทำให้การจ้างงาน 25 ล้านตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการบินโลก จากจำนวนทั้งหมด 65.5 ล้านตำแหน่งงานเกิดความเสี่ยง ดังนั้น ความอยู่รอดของสายการบิน จำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่
ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องคิดใหม่ ในเรื่องการดำเนินงานของสายการบิน ในภาวะธุรกิจปกติ การที่สายการบินจะมีเงินสดหมุนเวียนเพียง 2 เดือน สำหรับการดำเนินงาน ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่พอเพียงแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สายการบินเผชิญวิกฤติที่รุนแรงและยาวนาน มาตรการดังกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่พอเพียงแล้ว นอกจากนี้ มาตรการความมั่นคงทางการเงินของสายการบินจะต้องให้ครอบคลุมไปถึงสวัสดิการของพนักงานด้วย
โดย ปรีดี บุญซื่อ
Source: ThaiPublica

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"