สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยถูก “ทุนจีน” กินรวบ “ลาซาด้า” เครืออาลีบาบา “ช้อปปี้” ในเครือเทนเซนต์

กินส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซ 90% คับเขี่ยวชิงเจ้าแห่งซูเปอร์แอพ “ลาซาด้า” หวังเป็นเดสติเนชั่นไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล เผยรายได้แค่ไตรมาสเดียวสูง กว่า 8 พันล้านบาท ขณะที่ “ช้อปปี้” เร่งพัฒนาสู่ “วัน-สต็อป-แอพ” ครบวงจร หลังได้ยอดนักช้อปไทยมากกว่า 30 ล้านคน

เป็นการขับเคี่ยวที่น่าจับตาของ 2 ทุนจีนทั้ง “อาลีบาบา” และ “เทนเซนต์” ที่ส่งบริษัทลูก ลาซาด้า และ ช้อปปี้ ทำตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจนแทบจะ “กินรวบ” ตลาดอีมาร์เก็ตเพลสคิดเป็นสัดส่วน 80-90% ขณะที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ระบุว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยมีมากกว่า “3 ล้านล้านบาท” (รวมบีทูจี) เมื่อปี 61 โดยคาดว่าปี 62 มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 20% จากวิถีชีวิตยุคใหม่ แนวโน้มเทคโนโลยีอัจฉริยะที่เอื้อให้คนเข้าถึงง่าย

ขณะที่ อีคอมเมิร์ซไทยคิดเป็นสัดส่วนแค่ไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับภาพรวมตลาดค้าปลีก ดังนั้นยังมี “ทำเลทอง” อีกมหาศาล ให้ 2 ยักษ์ประลองกำลังชิงฐานลูกค้า จากภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยปี 2562 ครึ่งปีแรกโตมากกว่า 33%

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 รายยังต้องเผชิญตัวเลขขาดทุนมหาศาล ต้นทุนพุ่งกระฉูด เพราะไม่คิดค่าธรรมเนียมผู้ค้าออนไลน์ แม้ลาซาด้าจะไปเน้นเก็บค่า payment fee 2% เฉพาะธุรกรรมการเงินที่ดำเนินการสำเร็จแล้วก็ตาม

ลาซาด้ายึดบัลลังก์แชมป์

ลาซาด้า เข้ามาทำธุรกิจในไทย จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อปี 2555 มีรายได้ตั้งแต่ระดับ 1,629 ล้านบาทเมื่อปี 2557 จนถึงปี 2561ไตรมาสที่ 1 ลาซาด้ารายงานผลประกอบการพุ่งไปถึง 8,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 ในไตรมาสเดียวกันที่มีรายได้ 1,757 ล้านบาท ขณะที่มีตัวเลขการขาดทุนสะสมไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มากกว่า 2.6 พันล้านบาท ปัจจุบัน ลาซาด้า เป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในไทย มีผู้งานเฉลี่ยต่อเดือนในไทยราว 44.1 ล้านคน พร้อมเป้าหมายต้องเข้าถึงลูกค้าทั่วภูมิภาคให้ได้ 300 ล้านคนในปี 2573

การรีเฟรชแบรนด์ทั้งเปลี่ยนโลโก้ให้มีสีสัน พ่วงแบรนด์แคมเปญ“Go Where Your Heart Beats” หรือ "มีทุกสิ่งที่ใจค้นหา” คือ การเริ่มยกใหม่ของลาซาด้าในสมรภูมินี้

นายปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) ลาซาด้า กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า อีคอมเมิร์ซภูมิภาคนี้รวมถึงไทยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้บริโภคใช้เวลากับสมาร์ทโฟนมากขึ้น จากอดีตแรงกระตุ้นหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์ มาจากโปรโมชั่น ส่วนลด หรือข้อเสนอที่ดี ทว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคเน้นคุณภาพสินค้าและประสบการณ์จับจ่ายตั้งแต่กระบวนการซื้อ จ่ายเงิน กระทั่งบริการหลังการขาย

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโอกาสตลาดมีอยู่มหาศาล ในอนาคตอันใกล้ไม่เกิน 5 ปี จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด สอดคล้องไปกับผลวิจัยโดยกูเกิล-เทมาเส็กที่คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อถึงปี 2568 มูลค่าตลาดดิจิทัลอีโคโนมีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าสูงถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์

เดสติเนชั่นไลฟ์สไตล์ดิจิทัล

ลาซาด้า ไม่ต้องการเป็นแค่แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ แต่ต้องการเป็นจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัล เขาเชื่อว่า วันนี้ลาซาด้ามีจุดแข็งทั้งอินฟราสตรักเจอร์ เครือข่ายโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และบริการแพลตฟอร์มมาตรฐานระดับโลก

“บริษัทมีแผนลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ต่อเนื่อง เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ ลงทุนเพิ่มเติมครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงบริการใหม่ โซลูชั่นใหม่ๆ สำหรับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโจทย์สำคัญคือ การนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุด ไม่เพียงแค่บนออนไลน์ ต้องทำเชิงออฟไลน์ควบคู่กันไปด้วย” นายปิแอร์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีของอาลีบาบา มาปรับใช้พัฒนาบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เช่น ดาต้าอนาไลติกส์ บริหารจัดการข้อมูลให้ผู้ค้าทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าและนำเสนอสิ่งที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ครอบคลุมทั้งวิเคราะห์ความต้องการ เทรนด์ตลาด ซัพพลายเชน ขณะที่ เร่งพัฒนาด้านอีเพย์เมนท์หนุนการจับจ่ายให้ครบวงจรผ่าน ลาซาด้า วอลเล็ต ที่บริษัทเพิิ่งเริ่มได้ไม่นาน

สาดกลยุทธ์ “ชอปเปอร์เทนเม้นท์”

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือ “ชอปเปอร์เทนเม้นท์ (Shoppertainment)” ดึงความบันเทิง ผสมความมีไลฟ์สไตล์ ยกระดับประสบการณ์นักชอป รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถผู้ค้า ผลักดันให้แบรนด์และร้านค้าประสบความสำเร็จ

"ไทยเป็นตลาดที่กำลังเติบโต ผู้บริโภคคุ้นเคยชอปปิงออนไลน์ โดยเฉพาะบนโมบายและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ดังนั้นแผนงานที่ทำจะสอดรับไปกับเทรนด์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น กระตุ้นความสนใจด้วยโซเชียลเกม รวมถึงการเปิดตัวบริการใหม่ เช่น การค้นหาด้วยเสียง เพิ่มเครื่องมือบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้ผู้ค้า และดึงผู้ค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม"

ด้าน นายเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติชอปปิงผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

“ลาซาด้าพร้อมพัฒนาเครื่องมือ และยกระดับรูปแบบการชอปปิง ให้นักช้อปออนไลน์ไทยได้สนุกไปกับประสบการณ์ที่มากกว่าการชอปปิง หนุนพันธมิตรคู่ค้าทั้งอีโคซิสเต็มส์เติบโตยั่งยืนจุดแข็งสำคัญ คือ ให้ทุกขั้นตอนการชอปปิงง่ายมากที่สุด”

ข้อมูลลาซาด้า ระบุว่า การสั่งซื้อไตรมาสที่ 1 ปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย.62) เติบโต 127% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว

“ช้อปปี้”หวังขึ้นผู้นำในไทย

ช้อปปี้ (Shopee) บริษัทในเครือ คือ SEA Limited ดิจิทัลคอมพานีดาวรุ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เจ้าของเกมดัง ROV และผู้จัดแข่งอีสปอร์ตระดับโลก ทั้งเป็นบริษัทที่ยักษ์อินเทอร์เน็ตจีนอย่าง เทนเซนต์ของมหาเศรษฐี Pony Ma เข้าไปลงทุน ช้อปปี้ ขับเคี่ยวกลยุทธ์สูสีมากับลาซาด้าด้วยจุดแข็งแพลตฟอร์มที่เน้นบนโมบาย และโซเชียลมีเดียเป็นหลัก

ขณะที่ รายได้ของช้อปปี้ ยังไม่แตะระดับพันล้านบาท เพราะที่ผ่านมายอมขาดทุน เพื่อดึงลูกค้า จนยอดผู้ใช้งานปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องมากถึง 31.19 ล้านคน ขณะที่ ธุรกรรมกว่า 95% ของช้อปปี้มาจากการซื้อขายบนสมาร์ทโฟน มีจำนวนผู้ค้าทั้งรายบุคคล และที่มีหน้าร้านของตัวเองรวมกันมากกว่าแสนร้านค้า มีสินค้ามากกว่า 10 ล้านชิ้น

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (Thailand) กล่าวว่า ช้อปปี้ เติบโตเร็วมาก ปี 2562 ตั้งเป้าโตแบบดับเบิ้ล และต้องการขึ้นเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ยกระดับให้เป็นแอพซื้อขายออนไลน์ที่ครบวงจร เน้นสร้างประสบการณ์ผู้ซื้อผู้ขาย ไม่ใช่แค่เข้ามาซื้อของแล้วจากไป แต่ให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น มีสินค้าและบริการที่ครบลูป รวมถึงบริการเพย์เม้นท์ที่ตอบโจทย์ (แอร์เพย์)

“เราอยากเป็น 1 ใน 2 ผู้นำอีคอมเมิร์ซไทย ตอนนี้ถ้านับจำนวนคำสั่งซื้อ ช้อปปี้เป็นที่ 1 ในตลาดไทยแล้ว”

ก่อนหน้านี้ กูเกิล และเทมาเส็ก วิเคราะห์ว่า อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้เติบโตเฉลี่ย 62% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลาร์ หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก 5 ปีข้างหน้า

นางสาวมณีรัตน์ บอกว่า ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซในไทยยังมีสัดส่วนเพียงแค่ 3-5% เท่านั้น แต่ประเทศที่อีคอมเมิร์ซเติบโตมากๆ อย่างในสหรัฐสัดส่วนจะอยู่ที่ 15-20% นั่นแปลว่า การซื้อขายออนไลน์ของไทยยังเติบโตได้อีกมหาศาล

“เราเชื่อว่าช้อปปี้ รู้จักลูกค้าเข้าใจความต้องการของคนไทยดี พยายามทำให้กลุ่มผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้าในช้อปปี้รวมถึงผู้ขายมีความรู้สึกถึง sense of belonging ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม เน้นสร้างคอมมูนิตี้ให้คนซื้อคนขายมาเจอกัน มีการฝึกอบรมเทคนิคการขาย”

“ซูเปอร์แพลตฟอร์ม-วันสต็อปแอพ”

หนึ่งในกลยุทธ์ของ ช้อปปี้ คือ เร่งขยายฐานลูกค้าให้กว้างและลึกขึ้นเน้น ‘Integrated Function’ ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์และองค์กร ในระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มมิติไลฟ์สไตล์และเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานให้เหนือกว่าอีคอมเมิร์ซทั่วไป ดึงกิจกรรมสนุก มินิเกมที่จะดึงผู้บริโภคเข้ามาสู่ อีคอมเมิร์ซ อีโคซิสเต็มส์ได้ รวมถึงสร้างให้เกิดผู้ใช้งานใหม่ขึ้นมาก

ยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นช้อปปี้ไตรมาส 3 ปี 2561 มี Gross Order สูงถึง 158.5 ล้านออเดอร์

ส่วนระดับองค์กร ช้อปปี้มุ่งดึง Offline Merchants เข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซ ผ่าน Shopee University โปรแกรมพัฒนาศักยภาพร้านค้าและธุรกิจรายย่อยที่ช้อปปี้จัดขึ้นในทุกประเทศที่ช้อปปี้ดำเนินงานอยู่ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งทำรายได้และโรงเรียนของผู้ขายในเวลาเดียวกัน

เธอ กล่าวด้วยว่า กุญแจสำคัญในการครองความได้เปรียบท่ามกลางสภาวะตลาดที่แข่งขันสูง คือ เร่งขีดความสามารถรองรับความต้องการ และไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานให้ครอบคลุม 360 องศา หรือดันตัวเองไปสู่การเป็น ‘ซูเปอร์ แพลตฟอร์ม’ (Multi-purposed Platform) นำเสนอบริการหลากหลายรูปแบบ ครบ จบ ภายในแอพพลิเคชั่นเดียว เช่น โซเชียล มีเดีย แอพพลิเคชั่น ที่ควบรวมบริการ อี-มาร์เก็ตเพลส, อี-วอลเล็ต หรือ ฟู้ด เสิร์ช แอนด์ เดลิเวอรี่ ไว้ด้วยกัน

ค้าออนไลน์ไตรมาสแรกปี 62 พุ่ง33%

ด้านนายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรืออีคอมเมิร์ซ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไพร์ซซ่า (Priceza) ระบุว่า ปัจจุบัน มีนักชอปออนไลน์ชาวไทยมากกว่า 20 ล้านคน ครึ่งปีแรก (1 ม.ค.-30 มิ.ย.62) พบว่า มีจำนวนสินค้าอยู่บนแพลตฟอร์มทั้งหมดราว 50 ล้านชิ้น และคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ 2562 นี้ จะพุ่งไปแตะที่ 62 ล้านชิ้น สะท้อนว่ามีผู้ขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้นราว 29% จากปี 2561

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการสมาคมอีคอมเมิร์ซ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันทั้งลาซาด้า และ ช้อปปี้ กินส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะในกลุ่มมาร์เก็ตเพลสมากถึง 80-90% โดยมองว่า ปีนี้ เป็นเกมของต่างชาติที่ใช้ประเทศไทยเป็นสมรภูมิแข่งขัน ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ และ เจดีดอทคอม (JD.com)

ขณะที่ โซเชียล คอมเมิร์ซ จะเพิ่มดีกรีรุนแรงขึ้นเพราะ โซเชียล คอมเมิร์ซเกือบทุกประเภท กลายเป็นช่องทางซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค จะเห็นรูปแบบการใช้เฟซบุ๊คทำ โซเชียล คอมเมิร์ซ โดยทั่วไปทำอยู่แล้ว 4 ระดับ คือ ขายบนแอคเคาน์โปรไฟล์ของตัวเอง สร้างเพจขึ้นมาไว้ขายโดยเฉพาะ สร้างกลุ่ม (Group) สำหรับขายสินค้า และสุดท้าย คือ นำไปขายในมาร์เก็ตเพลส

ข้อมูลของสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย ระบุด้วยว่า เมื่อดูภาพรวมของอีคอมเมิร์ซไทยทั้งระบบจะเห็นว่า "โซเชียล มีเดีย" กลายเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างมีนัยะสำคัญ คิดเป็นสัดส่วนในตลาดมากเกือบ 50%

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"