กนง.หวั่นเงินบาทแข็งนำภูมิภาค ไม่สอดรับปัจจัยพื้นฐาน สั่งเกาะติดใกล้ชิด "แบงก์ชาติ"เล็งงัดมาตรการดูแลเงินไหลเข้าออกเข้มข้นขึ้นเร็วๆ นี้ ส่วนที่ประชุม กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.75% หั่นจีดีพีลงเหลือ 3.3% ลดคาดการณ์ส่งออกเหลือ 0%
นักวิเคราะห์ชี้ มิ.ย.เงินนอกไหลเข้าบอนด์ 7.7 หมื่นล้าน "สมคิด"ห่วงบาทแข็งฉุดส่งออก
ที่ประชุมนโยบายการเงิน(กนง.) วานนี้(26 มิ.ย.) มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% หลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ พร้อมแสดงความเป็นห่วงต่อการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดย เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและ การไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการกนง. กล่าวว่า การประชุมกนง.ครั้งนี้ คณะกรรมการได้ ส่งสัญญาณชัดเจน ให้มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่านำภูมิภาค ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศ
นอกจากนี้ยังเห็นเงินลงทุนระยะสั้นของนักลงทุนเข้ามาพักในสินทรัพย์ระยะสั้นๆเช่นในตราสารหนี้ระยะสั้น ประกอบกับ นักลงทุนมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่มีความปลอดภัย(Safe Haven) ทำให้ไทยมีพื้นฐานที่ดี ทั้งความเข็มแข็งของเงินสำรองระหว่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีกลไกในการดูแลบริหารที่เข้มข้นมากขึ้น และคาดว่าจะเห็นมาตรการดูแลออกมาใช้ไม่ช้านี้
นายทิตนันทิ์ กล่าวยืนยันว่า ธปท.มี เครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว แต่การนำมาใช้อาจต้อง พิจารณาดูอีกครั้ง ว่าจะนำมาใช้อย่างไร
"มาตรการต่างๆ เรามีอยู่ในกระเป๋าแล้ว แต่ต้องดูต่อไปว่า จะใช้อย่างไร ซึ่งระยะสั้น เราเห็นตัวเลขหลายตัว ที่เป็นตัวสะท้อนว่า เป็นการเข้ามาพักเงินในระยะสั้นๆ เช่น บอนด์ ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นคณะกรรมการ ก็ให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และเงินที่ เข้ามา ก็คงไม่มีใครไม่หวังผลกำไร เพราะ บ้านเราเสถียรภาพดี ก็อาจจะมีการนำเงิน มาพักในบ้านเราสั้นๆ ได้"
หั่นเป้าส่งออกเหลือโต 0%
ทั้งนี้ในการประชุมกนง.รอบนี้ มีการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยลงเหลือ 3.3 % จากเดิมที่คาดขยายตัว 3.8 % และปรับประมาณการปีหน้าเหลือ 3.7 % จาก 3.9% หลักๆ มาจากปัจจัยด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคส่งออกมากกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ปรับตัวเลขส่งออกลดลงเหลือ 0% จากเดิมที่คาดขยายตัว 3% และปรับนำเข้าติดลบ 0.3% จากเดิมที่คาด 3.1%
นอกจากปัจจัยต่างประเทศแล้ว ปัจจัย ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ยังมาจากปัจจัยในประเทศคือการเบิกจ่าย การลงทุนของภาครัฐที่คาดว่า จะล่าช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะงบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า และใช้ได้ใน ต้นปี 2563 รวมถึงงบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่คาดล่าช้ากว่าคาด
เงินร้อนเข้าบอนด์7.7หมื่นล้าน
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า การ แข็งค่าของค่าเงินบาทในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย. ตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงวันที่ 26 มิ.ย. หลักๆ มาจากเงินร้อนของต่างชาติที่หวัง เข้ามาลงทุนในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะบอนด์ ที่พบว่า ในรอบมิ.ย.มีเงินเข้ามาถึง 7.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีการเข้ามาซื้อหุ้นอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท
ส่วนมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า ระยะสั้นนั้น มองว่า ธปท. สามารถทำได้ผ่านหลายมาตรการ เพื่อดูแลค่าเงินบาท และเสถียรภาพตลาดเงิน ซึ่งทำได้หลายมาตรการ ด้านแรกคือมาตรการเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า (Capital Inflows) ซึ่งทำได้ทั้งมาตรการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากกำไรและดอกเบี้ยของนักลงทุนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถัดมาคือมาตรการกำกับเพื่อลดความเสี่ยง โดยอาจจะมีการกำหนดปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำได้ ของสถาบันการเงินต่างชาติ และมาตรการเก็บภาษีบนเงินต้นของธุรกรรมการลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีความรุนแรงมากที่สุด
ด้านที่สองคือมาตรการส่งเสริมให้เกิด Capital Outflows โดยให้ภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายลงทุนโดยใช้เงินตราต่างประเทศ และเร่งจองเงินตราต่างประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้นักลงทุนในประเทศ สามารถ ไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการรุนแรงมากที่สุด ที่ช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ คือการตรึงค่าเงินบาท เหมือนตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่คำถามคือค่าเงินเท่าไหร่ถึงเป็นระดับที่เหมาะสม และมาตรการนี้เป็นมาตรการที่มีต้นทุนสูง
ส่วนมาตรการที่รุนแรงลดลงมาคือ กลุ่มนโยบายภาษีธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Transaction Tax) โดยหักภาษี ทุกครั้งที่แลกเปลี่ยนเงิน แต่มาตรการนี้จะมีผลกระทบต่อการลงทุนค่อนข้างมาก
ถัดมา คือ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้า(URR) เหมือนที่ธปท.เคยออกมา เมื่อ 19 ธ.ค.2559 ซึ่งส่งผลให้เกิดความปั่นป่วน ต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อย่างหนัก จนต้องยกเลิกมาตรการไปในที่สุด ต่อมาเป็น กลุ่มนโยบายที่เก็บภาษีบนเงินต้นของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งภาษีประเภทนี้สามารถเลือกบังคับใช้เป็นประเภทธุรกรรมได้ และอาจส่งผลให้เงินลงทุนหักเหไปในธุรกรรมประเภทอื่น
เชื่อบาทแข็งแค่ระยะสั้น
ด้านนายตรรก บุนนาค ประธานคณะ เจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า คาดว่า การออกมา ส่งสัญญาณของธปท.ครั้งนี้ น่าจะเป็นระดับการส่งสัญญาณต่อตลาดมากกว่า การออกมาตรการมากำกับเพื่อควบคุมปริมาณเงิน ไหลเข้า เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท เพราะหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินในปัจจุบัน พบว่า เป็นการแข็งค่าในระยะสั้นๆเท่านั้นๆ อีกทั้งแนวโน้มระยะข้างหน้า มีโอกาสที่ดอลลาร์จะกลับไปแข็งค่าได้ จากปัจจัยต่างๆ
"เชื่อว่า ธปท.ยังไม่มีการออกมาตรการออกมาในทันที เพราะค่าเงินเพิ่งแข็งค่ามาเพียง หนึ่งอาทิตย์เท่านั้น วอลุ่มก็ไม่ได้สูง ดังนั้นสิ่งที่ธปท.มีการทำไปแล้ววันนี้ คือการส่งสัญญาณให้ตลาดรู้ว่าธปท.มีการดูแลอยู่ และอาจมีการจับตา ดูการทำธุรกรรมที่ผ่านเข้ามาผ่านแบงก์มากขึ้น เพื่อให้ทราบถึงไส้ในการธุรกรรมของรายใหญ่ ว่าเก็งกำไรหรือไม่ แทนการออกมาตรการแรงๆออกมาในระยะนี้"
เงินบาทมีโอกาสปรับฐาน
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้ใหม่ โดยมองว่าสิ้นปีการค่าเงินบาทในปีนี้ใหม่ โดยมองว่าสิ้นปีค่าเงินมีโอกาสแข็งค่าในกรอบ 30.5-31 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมประเมินไว้ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังมาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการปรับมุมมองดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ปีนี้ส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดลง 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตามระยะสั้นประเมินว่า เงินบาท มีโอกาสปรับฐานลงมา จากการเทขายทำกำไร และตลาดยังรอดูผลการประชุมจี20 ในช่วงปลายสัปดาห์นี้
คาดครึ่งปีหลังดอกเบี้ยลด
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุม กนง.ว่าเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ารวมทั้งสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มลดหรือคงดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ รวมทั้งหลายฝ่ายคาดว่าอาจใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) อีกครั้ง จึงทำให้เม็ดเงินไหลมา ลงทุนในประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดี สำหรับช่วงที่เหลือปีนี้เป็นไปได้ที่ธปท.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหลายประเทศจะลดลง และธปท.ฝืนกระแสไม่ได้ ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้
ทั้งนี้ไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองแต่ถือเป็น "Safe haven" จึงทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนทำให้ค่าเงินบาทแข็งและตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งบาทแข็งกระทบส่งออก จึงต้องดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพแต่แทรกแซงไม่ได้เพราะสหรัฐจับตาดู
นายสมคิด กล่าวว่าเศรษฐกิจครึ่งหลังปี2562มีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว แต่การเบิกจ่ายงบประมาณใหม่จะทำได้ปลายเดือน ธ.ค.2562 ถึงกลางเดือน ม.ค.2563ทำให้ต้องเบิกจ่ายงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อนรวมทั้งได้หารือกับสำนักงบประมาณให้เพิ่มงบกองทุนประชารัฐสวัสดิการแห่งรัฐให้ครบ 1 แสนล้านบาท จากเดิมมีเงินหมุนเวียน 4-5 หมื่นล้านบาทโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่จะมาดูรูปแบบ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
ลุ้นจี20คลี่คลายศึกการค้า
นายสมคิด กล่าวว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยต้องจับตาดูการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่ญี่ปุ่นปลายเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งอาจหารือระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐและนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนโดยอาจทำให้สงครามการค้าคลี่คลายลงได้
ส่วนแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่าคำขอส่งเสริมการลงทุนอีอีซีไตรมาส2ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวของ ปีก่อน 100% สะท้อนว่าอีอีซีได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนที่ย้ายฐานการผลิตเพราะผลกระทบสงครามการค้า
"โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อีอีซีออกมาแล้ว 2 โครงการ ต่อไปต้องดูว่าจะดึง นักลงทุนที่เป็นเป้าหมายมาลงทุนอย่างไร รวมถึง ต้องดึงลงทุนเข้าเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และเขต นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ)"
Source: กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you