อีกแค่เดือนกว่า ๆ โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2019 ท่ามกลางปัญหามากมายที่ยังยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยิ่งเพิ่มผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและภาคธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น ผลสำรวจของ "เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม"หรือ WEF
กล่าวถึงความเสี่ยง 4 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทั่วโลกกังวลมากที่สุด
บทวิเคราะห์ของ WEF เรื่อง "The Global Risks Report 2018-2019"เปิดเผยในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลความเห็นจาก ผู้บริหารบริษัทจากกว่า 12,000 ราย จาก 140 ประเทศทั่วโลก ต่อภัยคุกคามต่อภาคธุรกิจที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันแต่ละภูมิภาค
ปัจจัยเสี่ยงแรก คือ "ขาดแคลนแรงงาน หรือแรงงานไม่มีประสิทธิภาพ"ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับหลายภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจพัฒนาก้าวกระโดด ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานจะปรับตัวสูงขึ้น เช่น แรงงานในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น รวมถึงในยุโรป เช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น
รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการว่างงานโดยเฉพาะในแถบ "แอฟริกาใต้ซาฮารา" (subSaharan Africa) ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมการสร้างงานไม่เพียงพอต่อประชากรวัยแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือ 1.6 พันล้านคน ภายในปี 2050 ซึ่งประเด็นคุณภาพของกลุ่มแรงงานมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มแรงงานที่ยังด้อยประสิทธิภาพในแอฟริกาใต้ซาฮาราสูงถึง 70% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 46%
ปัจจัยเสี่ยงที่สอง "ความล้มเหลวของผู้นำประเทศ" โดยเฉพาะกับ นักธุรกิจในละตินอเมริกาและแคริบเบียน รวมถึงประเทศในเอเชียใต้มองว่า ปัญหาธรรมาภิบาลของผู้นำประเทศเป็นภัยคุกคามสูงสุดของภูมิภาค โดยในรายงานยกตัวอย่าง วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซุเอลา ความเสื่อมของระบบประเทศ และการไร้ความสามารถในการบริหารของผู้นำ กลายเป็นภัยร้ายแรงที่สุดที่ทำให้ภาคธุรกิจชะลอตัว ยังรวมถึง "สงครามการค้า" ที่กำลังระอุในตอนนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่สาม "ราคาพลังงาน" ที่มีความผันผวนรุนแรง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก เพราะส่งผลกระทบในภาคธุรกิจวงกว้าง โดยผู้ที่ตอบแบบสอบถามจากทวีป "ยูเรเชีย" รวมถึงรัสเซียกับกลุ่ม MENA ที่มาจากประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นกลุ่มที่กังวลในเรื่องดังกล่าว มากที่สุด และมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อภาคธุรกิจมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะประเทศเหล่านี้พึ่งพารายได้จากน้ำมันในสัดส่วนที่สูง
ความไม่แน่นอนของราคาพลังงานมีส่วนทำให้รายได้หลักของรัฐบาลในประเทศตะวันออกกลาง และผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่น ๆ ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าปัญหาการว่างงาน หรือการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในภูมิภาค ถึงแม้ว่าหลายประเทศในตะวันออกกลางจะพยายามผลักดันอุตสาหกรรมอื่นเพื่อทดแทนรายได้ จากน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่พยายาม ปั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นรายได้แหล่งใหม่ ทว่า แผนการพัฒนาใหม่นี้ยังไม่ได้ช่วยบรรเทาความเสียหายได้ในปีหน้า
และปัจจัยสุดท้ายที่หลายภูมิภาคกังวลมากขึ้นก็คือ "การโจมตีทางไซเบอร์"โดยผลสำรวจนี้พบว่าผู้บริหารองค์กร ธุรกิจต่าง ๆ มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยง ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริหารจากอเมริกาเหนือระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามสูงสุดต่อธุรกิจ
ขณะที่ นายเอ็นกัส คอลลินส์ หัวหน้าฝ่ายความเสี่ยงและการเมืองโลกของ WEF ระบุว่า ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับไซเบอร์เข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เผชิญความเสี่ยงกับการถูกโจรกรรมข้อมูลเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/world-news/news-251801
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/