มนุษย์เงินเดือนทั้งภาคเอกชนและที่เป็นข้าราชการทราบหรือไม่ว่าเงินเดือนที่ออกมาแต่ละเดือนสามารถสร้างเงินล้านได้จริงๆ หากลงทุนเป็น จะทำให้มีเงินใช้อย่างพอเพียงหลังเกษียณ เรื่องนี้ไม่ได้พูดลอยๆ แต่ 3 กูรูจาก 3 องค์กรชั้นนำของประเทศกล่าวในหัวข้อ
"ติดอาวุธให้มนุษย์เงินเดือน ตัวทำงาน ก็ต้องให้เงินเดือนทำเงิน"ยืนยันตรงกันว่าทำได้จริง หากรู้จักอาวุธสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง
ในมุมของ ธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการอำนวยการ บลจ.ทิสโก้ สรุปได้ว่าก่อนที่จะมีการออมและลงทุน จะต้องจัดระเบียบการบริหารค่าใช้จ่ายของตัวเอง ก่อนที่จะใช้จ่ายอะไรให้นึกถึงชีวิตหลังเกษียณ อะไรที่เกินความจำเป็นให้ตัดออกไปและลงมือดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่วันนี้ มิฉะนั้นอาจจะเข้าทำนองทำงานมาตลอดชีวิตเพื่อนำเงินไปรักษาตัวเอง
สำหรับการให้เงินเดือนทำเงินงอกเงยเร็วที่สามารถสร้างเงินล้านได้จาก 5 อาวุธสำคัญ คือ
1.ต้องรู้จักจัดสรรการลงทุนถูกที่ถูกทาง จะทำให้เงินเติบโตขึ้นเป็น 1 ล้านบาท หรือ 2 ล้านบาทได้
ยกตัวอย่าง พนักงานอายุ 25 ปี ออมเงินเดือนละ1,000 บาท เป็นเวลา 35 ปี โดยเงินก้อนนี้นำไปลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะมีสินทรัพย์ลงทุนหลากหลาย ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ หุ้นกู้เอกชน ตราสารทางการเงินอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% จะทำให้มีเงิน 1,136,092 ล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปี
สำหรับหุ้นไทยจะมีความเสี่ยงอยู่ประมาณ 20-25% ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ตราสารหนี้ ความเสี่ยงประมาณ 7% ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% หากมีการผสมตราสารหนี้ 80% หุ้น 20% ความเสี่ยงจะลดลงเหลือ 7% และได้ผลตอบแทนประมาณ 5-6% ต่อปี
แต่ถ้านำเงิน 1,000 บาท ไปลงทุนในตลาดเงิน ฝากเงิน หรือตราสารทางการเงิน ความเสี่ยงต่ำที่สุด เงินต้นไม่หายจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 1% ทุกๆ เดือนเป็นเวลา 35 ปี จะทำให้มีเงิน 502,633 บาทเท่านั้น เป้าหมายที่จะมีเงินล้านเป็นอันต้องพับไป
แต่ถ้าลงทุนไม่ถูกที่ เน้นความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย จะทำให้เงินงอกเงยต่ำ เป้าหมายที่จะมีเงินล้านเป็นอันต้องพับไป
ในกรณีที่เริ่มเก็บเงินลงทุนช้า ให้เพิ่มจำนวนเงินออมต่อเดือนขึ้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
วันนี้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ได้มากเหมือนในอดีต ถ้าลงทุนผิดวิธีอาจได้เงินน้อย และถ้าคิดจะลงทุนในตลาดเงินที่เน้นเงินต้นไม่หาย อาจจะให้ความสบายใจในปัจจุบัน แต่จะยุ่งยากในชีวิตเพราะเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ
2.อย่าไปแตะเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่ออมด้วยตัวเองและมีนายจ้างสมทบให้ 2-15% ต่อเดือน แม้ในช่วงของการเปลี่ยนงานใหม่ ซึ่งบางแห่งนายจ้างอาจไม่ให้เงินสมทบหากลาออก จะได้ประมาณ 4 แสนบาท ไม่พอใช้หลัเกษียณ ให้โอนเข้าไปลงทุนต่อในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งมีกฎหมายออกมารองรับแล้ว
นอกจากนี้ ก่อนที่จะย้ายงานควรจะถามนายจ้างใหม่ก่อนว่าสวัสดิการ PVD หรือไม่ ถ้ามีให้ทำเรื่องโอนย้ายเพื่อไปสะสมต่อ หากไม่มีและเบื่อหัวหน้าจริงๆ ทนไม่ไหวต้องย้ายหรือต้องลาออก ให้โอน PVD ไปลงทุนต่อใน RMF หากนายจ้างเปิดโอกาสให้ออมเพิ่ม แม้นายจ้างจะสมทบเท่าเดิมให้ออมเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ธีรนาถ ฟันธงว่า ลำพังเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) อย่างเดียวที่มีไม่พอใช้หลังเกษียณแน่นอน ฉะนั้นจึงต้องออมด้วยตัวเองเพิ่มอีกทางหนึ่ง
3.การลงทุนเพิ่มด้วยตัวเองแนะนำให้ลงทุนในกองทุน RMF เพราะจะได้ประโยชน์สองต่อ คือ ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น เสียภาษีปีละ 15-20%เหมือนการซื้อกองทุน RMF ในราคาส่วนลด 15-20% เช่นเดียวกัน
4.ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งเป็นที่นิยม หากครบกำหนดเวลาที่สามารถขายได้โดยไม่ต้องเสียสิทธิทางภาษี ถ้าไม่เดือดร้อนเรื่องเงินควรจะลงทุนต่อไปและซื้อเพิ่ม ไม่ควรขายออก แล้วนำเงินมาซื้อใหม่ เพราะการซื้อใหม่จะเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่าการลงทุนต่อเนื่อง
5.ซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ เพื่อคุ้มครองความมั่งคั่งที่สร้างมาทั้งหมดให้มีความมั่นคงในระยะยาว
ด้าน เกษตร ชัยวันเพ็ญ รองกรรมการผู้จัดการบลจ.กสิกรไทย ได้สร้างความตระหนักแก่มนุษย์เงินเดือนว่าจากการสำรวจประชากรที่เกษียณแล้ว 100 ราย พบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่มีฐานะการเงินดีและบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้ แยกเป็น 1% ได้รับมรดก อีก 4% วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ขณะที่อีก 54% ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น 36% มีอายุยืนไม่ถึง 65 ปี 5% ยังต้องทำงานอยู่
วันนี้มีนายจ้างที่มีสวัสดิการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่จดทะเบียนทั่วประเทศ 659,766 ราย มีนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานเพียง 17,947 ราย และในจำนวนนี้มีพนักงานเป็นสมาชิกทั่วประเทศเพียง3 ล้านราย จากลูกจ้างเอกชนทั้งหมด 16 ล้านราย ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะสมทบเพิ่ม 3-5% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
ฉะนั้นแหล่งรายได้ของเงินหลังเกษียณของคนส่วนใหญ่จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะหายไปเหลือเพียงจากกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพเท่านั้นซึ่งน้อยมาก เห็นอย่างนี้ทำให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองจะมีชีวิตหลังเกษียณตกอยู่ในสภาพแย่
อย่างไรก็ตาม มีวิธีปิดช่องโหว่ในกรณีที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วให้ออมเพิ่ม สร้างเงินออมด้วยตัวเองขึ้นมาเพิ่มด้วยการลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ประกันชีวิตเพื่อปิดความเสี่ยงและลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ
ขณะที่เงินเกษียณที่เพียงพอของแต่ละคนจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอายุที่จะอยู่หลังเกษียณ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต สุขภาพ จึงต้องรู้ว่าตัวเองจะอยู่กี่ปี จะใช้ชีวิตอย่างไร สามารถคำนวณได้ หรือปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงิน แล้วต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อด้วยที่จะทำให้เงินในอนาคตจะมีมูลค่าลดลง โดยอิงอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3% ต่อปี
เกษตรให้คำแนะนำการป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพว่า ควรจะมีการซื้อประกันสุขภาพที่ยังคงให้ความคุ้มครองหลังอายุ 60 ปีได้ตลอดช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาที่จะมารบกวนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ขณะที่ พิศุทธิ์ สัมปทานุกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)เปิดเผยผลการวิจัยการออมของข้าราชการ พบว่ามีการออมเฉลี่ยปีละ 8% ต่อปี หากออมติดต่อกัน 20 ปี หลังเกษียณจะมีเงินใช้เดือนละ 8,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของคนที่จะเกษียณอายุในปี 2583 ที่ประเมินว่าอยู่ประมาณ 8,200 บาท/เดือน ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล
กลุ่มข้าราชการรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานจนถึงวัย 35 ปี น่าเป็นห่วงว่าเงินอาจจะไม่พอใช้ หากยังออมผ่านกองทุน กบข.เพียงอย่างเดียว เพราะค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น แต่มีทางออกด้วย 3 เทคนิค คือ ออมก่อน ออมมาก และออมให้เป็น ซึ่งทาง กบข.มีโครงการออมเพิ่ม 6 แผนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามระดับความเสี่ยง
ประการสำคัญของการสร้างเงินล้านให้เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ต้องลงมือออมตั้งแต่วันนี้
โดย วารุณี อินวันนา
Source: Posttoday
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/