ในวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงานผู้ว่าฯ ธปท. พบสื่อมวลชน เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองใน 3 ประเด็น ได้แก่ ภาพเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิดและมุมมองไปข้างหน้า
สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการเพื่อช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้เรากลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด
การประเมินผลมาตรการ ธปท. และแนวทางการปรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น
ในประเด็นแรก เรื่องภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ขณะนี้ ธปท. มองเห็น 4 อาการของเศรษฐกิจไทยที่เป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด
อาการแรกคือ โควิดสร้าง ‘หลุมรายได้’ ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท และเมื่อมองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 ‘หลุมรายได้’ อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท
อาการที่สองคือ การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่
ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3.0 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน
ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) ที่มีจำนวน 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว
ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน อยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน
แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากภาคบริการและอุตสาหกรรมในเมืองกลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก
อาการที่สามคือ การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม (K-Shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบ 20% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้จ้างงานเพียง 8% ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52% ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง
อาการที่สี่คือ ไทยถูกกระทบจากโควิดหนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนี่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ 11.5% ของ GDP ทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% เทียบกับ 4.9% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว
ในประเด็นที่สอง เรื่องมาตรการหรือแนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ปัญหาของวิกฤตครั้งนี้มาจาก 3 ด้าน คือ
ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต
ปัญหาด้านรายได้ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์
ปัญหาภาระหนี้ซึ่งเป็นผลพวงของรายได้ที่หายไป
ซึ่งในการแก้ไขทั้ง 3 ปัญหา ‘หัวใจ’ คือ ‘การแก้ไขตามอาการ’
ด้านแรก โควิดเป็นวิกฤตที่เริ่มต้นจากระบบสาธารณสุข การแก้ปัญหา ‘ตามอาการ’ จึงต้องอาศัยเครื่องมือด้านสาธารณสุขที่สำคัญคือวัคซีนและมาตรการควบคุมการระบาด โดยวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงยั่งยืน ระหว่างนี้ประชาชนจึงควรต้องได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอและการกระจายฉีดอย่างเหมาะสม เพื่อลดอัตราการตายและติดเชื้อ และให้กำลังการตรวจหาโรคมีเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้บริหารจัดการการระบาดได้ดีขึ้น ลดโอกาสการล็อกดาวน์หรือจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้จึงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ด้านที่สอง ในระหว่างที่สังคมไทยรอการเกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน ภาครัฐควรมีบทบาทในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน และดูแล ‘หลุมรายได้’ ที่คาดว่าจะใหญ่ถึง 1.8 ล้านล้านบาท ตลอดปี 2563-2564 โดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังจะหมุนเวียนไปสู่ธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินต่อไป รักษาการจ้างงานไว้ได้ และไม่ต้องมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจและช่วยกลบหลุมรายได้และหลุมการจ้างงานให้ตื้นขึ้นได้ เนื่องจากการส่งออกแม้จะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยในปีนี้มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 17.7% จากปีก่อนหน้า แต่เมื่อหักการนำเข้าสินค้าที่ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกแล้ว สุทธิจะช่วย GDP ได้เพียง 0.5% ซึ่งยังไม่สามารถชดเชยหรือเติมเต็ม ‘หลุมรายได้’ ที่หายไปได้
ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่แม้จะยังทำกำไรได้ต่อเนื่องแต่ยังไม่จ้างงานเพิ่ม โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์กลับมาสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว แต่งบลงทุนยังหดตัวจากช่วงก่อนโควิดอยู่ถึง 49% และการจ้างงานของธุรกิจขนาดใหญ่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.7% และแม้บริษัทเอกชนจะลงทุนเพิ่มขึ้นก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เพราะสัดส่วนของการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ราว 18% ของ GDP และที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนโตเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ซึ่งการลงทุนจะต้องนำเข้าเครื่องจักรพอควร ดังนั้นถ้าธุรกิจใหญ่ลงทุนมากขึ้น อาทิ 1 แสนล้าน จะช่วยให้ GDP เติบโตได้เพียง 0.2-0.3%
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวอีกว่า เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก ‘หลุมรายได้’ ที่ทั้งใหญ่และลึก รวมทั้งสถานการณ์ที่จะยาวนาน การใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มอีกมากและ Front-Load ให้ได้มากที่สุด เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ที่อาจเร่งนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว
นอกจากนี้จะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมี ‘ตัวคูณ (Multiplier)’ สูง อาทิ มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (Co-Pay) เช่น มาตรการคนละครึ่งและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ โดยมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากมักเป็นการดึงเม็ดเงินจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลเพิ่มเติมจากการเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจและการจ้างงาน ขณะที่มาตรการให้เงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจะมีความจำเป็นในระยะสั้น
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า ด้วยขนาดของหลุมรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565) เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้นเม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP
“การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนักเมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%” เศรษฐพุฒิกล่าว
อย่างไรก็ดี เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศและเพิ่ม Room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษีและการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด สำหรับการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้อง ‘ตรงจุด’ และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน (Conditional Transfer) พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน
ในประเด็นที่ 3 เรื่องมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. ที่ผ่านมาและที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เศรษฐพุฒิระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท. มีการดำเนินการหลายมิติ ครอบคลุมลูกหนี้ที่หลากหลาย และมีการปรับปรุงเงื่อนไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
โดยการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยได้เน้นบรรเทาภาระหนี้ในระยะยาว ลดภาระดอกเบี้ย และมีทางเลือกในการปิดหนี้ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้รายย่อยที่อยู่ภายใต้มาตรการฯ จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 4.5 ล้านบัญชี ในกรณีลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ธปท. ก็ได้จัดให้มีช่องทางแก้หนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้เข้าโครงการในส่วนของบัตรเครดิตและ P-Loan ที่ได้รับความช่วยเหลือสะสมแล้วกว่า 1.9 แสนบัญชี
ในส่วนของลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยืดเยื้อและต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินเป็นประกัน ธปท. จึงได้ออกแบบมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตัดภาระการผ่อนชำระหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันได้ชั่วคราวอย่างตรง ‘อาการ’ โดยตั้งแต่เริ่มใช้มาตรการ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 50 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 8,991 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงกิจการอื่นๆ เช่น โรงงาน ร้านอาหาร
นอกจากนี้ ล่าสุด ธปท. ได้จัดให้มีมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ที่เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยแจ้งขอรับความช่วยเหลือจำนวนเงินรวม 353,705 ล้านบาท รวม 630,585 บัญชี และได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 240,642 ล้านบาท คิดเป็น 375,153 บัญชี
ในด้านการเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ธปท. ได้ดำเนินการผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับธุรกิจขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมของ ธปท. และสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนตุลาคม 2564 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดย ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ธปท. ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูรวมทั้งสิ้น 89,444 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 29,365 ราย เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ Micro SMEs (44.2%) ประกอบธุรกิจกลุ่มการพาณิชย์และบริการ (67.5%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (68.7%)
สำหรับแนวทางมาตรการของ ธปท. ในระยะต่อไป ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า จะเน้นมาตรการที่ออกมาแล้วสามารถช่วยลูกหนี้ได้จริงและเหมาะสมกับภาวะปัจจุบันมากขึ้น คือ
การปรับภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก เพื่อให้เจ้าหนี้ยังติดต่อลูกหนี้ได้ หรือ ‘ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ’
การผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากให้ได้อย่างทันการณ์
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ควรต้องมีลักษณะดังนี้
มองยาว มองไปข้างหน้าถึงสถานการณ์ในอนาคตมากขึ้น โดยให้ภาระการจ่ายหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา
ทำกว้าง เน้นให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ให้สามารถ Scale การช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีจำนวนมากได้เร็ว
ตรงจุด ให้เหมาะกับ ‘อาการ’ ของลูกหนี้แต่ละรายหรือแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาและการฟื้นตัวที่ต่างกัน
รอดด้วยกัน มาตรการช่วยเหลือต้องเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิด (Moral Hazard) ให้กับลูกหนี้ชั้นดีที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก ทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริงและส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวม
ภายใต้แนวทางดังกล่าว ธปท. จะมีกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการที่ยังให้ความยืดหยุ่นในเรื่องการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และอาจรวมถึงการลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายต่างกัน การให้ความช่วยเหลือจึงไม่สามารถทำในลักษณะที่เหมือนกันได้ในทุกกรณี (One Size Fits All) ซึ่งสถาบันการเงินและลูกหนี้จะต้องหารือกัน โดยพิจารณา
ความสามารถในการชำระคืนหนี้ในอนาคตเมื่อรายได้กลับมา
ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ของลูกหนี้ในอนาคต
เมื่อถามว่า ธปท. จะพิจารณาการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ หรือไม่ เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การพิจารณาเรื่องเพดานดอกเบี้ยต้องมองให้รอบด้าน โดยหลักการคือ เพดานต้องไม่สูงมากจนทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ต่ำเกินไปจนเจ้าหนี้มีรายได้ไม่คุ้มต้นทุนการทำธุรกิจ (ต้นทุนเงิน ต้นทุนความเสี่ยง ต้นทุนบริหารจัดการ) และให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การกู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพงกว่ามาก
โดย ดำรงเกียรติ มาลา
Source: The Standard Wealth
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you