‘ชิปหาย’ วิกฤตชิป ‘ขาดแคลน’ ที่สั่นคลอนอุตสาหกรรมรถยนต์และเทคโนโลยีโลก ทางออกอยู่ที่ไหน

ชิปหาย…’ ในที่นี้ไม่ใช่คำอุทาน แต่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงกับภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ในสเกลระดับโลกที่กลายเป็นวิกฤตใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ
สร้างผลกระทบสะเทือนตั้งแต่สายพานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่าง ตู้เย็น ไมโครเวฟ

ลุกลามไปจนถึงสินค้ากลุ่มไอที สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป นาฬิกาอัจฉริยะ หรือแม้กระทั่งสินค้าในกลุ่ม ‘รถยนต์’
ในการแถลงผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 ค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Samsung แม้จะมีกำไรสุทธิเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมากถึง 46.3% ขึ้นมาอยู่ที่ 7.14 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 2.01 แสนล้านบาท แต่พวกเขาก็ ‘อดไม่ได้’ ที่จะแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนในขณะนี้
โดย Samsung ระบุในแถลงการณ์แบบอ้อมๆ ถึงสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์กลุ่มสมาร์ทโฟนของบริษัทในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2021 ไว้ว่า การขาดแคลน ‘ชิ้นส่วนบางอย่าง’ ที่จำเป็นต่อการผลิต จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญกับรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า การเลื่อนจำหน่ายไลน์ผลิตภัณฑ์เรือธง Galaxy Note ในปีนี้ออกไปก็เกี่ยวข้องกับสาเหตุนี้)
ขณะที่ Apple ออกมายอมรับเช่นกันว่าผลิตภัณฑ์อย่าง iPad และ Mac จะเป็นสองกลุ่มสินค้าที่ได้รับแรงเขย่าจากชิปขาดแคลนมากเป็นพิเศษ โดยคาดว่ายอดขายของบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ของปีงบการเงินบริษัท (ตรงกับ Q2 ของปีปฏิทินปกติ) อาจจะสูญหายไปมากกว่า 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลย
Sony ก็เป็นอีกหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้เครื่องเกมคอนโซลเจเนอเรชันที่ 5 ของบริษัท PlayStation 5 ซึ่งเปิดตัวออกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจะได้รับการตอบรับแบบถล่มทลาย เป็นที่ต้องการของตลาดมากแค่ไหน แต่เนื่องจากปัญหาชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน (รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ) Sony จึงไม่สามารถผลิตเครื่องเกมดังกล่าวออกมาสอดรับความต้องการของตลาดได้เท่าที่ควร และทำให้ปัญหาเครื่องเกม PS5 ขาดตลาดอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย
ชิป ขาดแคลน
ฟาก Ford และ GM ก็ประสบปัญหาในแง่การผลิตรถยนต์ไม่ต่างกัน เนื่องจากชิปถือเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในองค์ประกอบของตัวรถยนต์ เทียบเท่ากับ ‘สมองกลสั่งการ’ ที่วันนี้รถยนต์จำเป็นต้องพึ่งพาองค์ประกอบระบบอัจฉริยะต่างๆ ภายในระบบตัวรถเป็นจำนวนมาก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับลดปริมาณการผลิตรถยนต์ของตัวเองลงให้สอดคล้องกับปริมาณชิปที่ร่อยหรอ
โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา AlixPartners บริษัทรับให้คำปรึกษาข้อมูลธุรกิจเชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์โลกจะผลิตรถยนต์ในปีนี้ลดน้อยลง 1.5-5 ล้านคันเมื่อเทียบกับแผนเก่าที่เคยวางเอาไว้ และอาจจะมีแนวโน้มที่ค่ายรถยนต์จะเลือก ‘ปรับเพิ่มราคาจำหน่าย’ ตัวรถ รวมถึงการพิจารณามาตรการบางอย่างที่อาจจะกระทบต่อแรงงานในอเมริกันหลายแสนชีวิต
ถึงขนาดที่ยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยี และรถยนต์ ออกมาเรียงแถวต่อคิวกันยอมรับว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบหนักแบบนี้ นั่นแสดงว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นย่อมมีระดับความรุนแรงที่ไม่ธรรมดาแน่นอน
อะไรคือต้นตอสาเหตุวิกฤตชิปขาดแคลนจากตลาด ณ เวลานี้ ทำไมมันถึงดูเป็นปัญหาที่ร้ายแรงขนาดนั้น แล้วสมการทางออกปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่?
โควิด-19 ยอดขาย ‘รถยนต์’ ตกวูบ สู่เทรนด์ WFH ความคึกคักสินค้ากลุ่มไอที และสมาร์ทโฟน 5G
ความจริงแล้ว ถ้าว่ากันตามตรง ปัญหาการขาดแคลนของชิปเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดนั้นเกิดขึ้นมาจากหลายๆ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบโยงใยเชื่อมต่อถึงกันไปหมด
แต่หากจะให้ย้อนกลับไปหาแก่นแท้ของรากปัญหาที่แท้จริงแล้วละก็ เราอาจจะพูดได้ว่า ‘โควิด-19’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในตัวการที่ทำให้วิกฤตชิปขาดแคลนสร้างความเสียหายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และยากต่อการยับยั้ง
The Washington Post ระบุว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) ผลกระทบจากการที่โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว ทั้งจากปัจจัยด้านพายุฤดูหนาวในช่วงต้นปีที่สหรัฐฯ (โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในออสติน รัฐเท็กซัส ต้องปิดตัวลงชั่วคราวด้วยเหตุผลนี้) มาตรการให้อยู่กับบ้านเพื่อระงับการแพร่เชื้อของโควิด-19 และยอดขายรถที่ตกลงเนื่องจากคนเดินทางไปไหนมาไหนน้อยลง กำลังซื้อถดถอย ส่งผลให้ค่ายรถยนต์หลายแห่งต้องเผชิญกับยอดขายรถยนต์ที่ตกลงเกือบครึ่ง ณ ช่วงเวลาดังกล่าว
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทางเลือกของค่ายรถยนต์ในตอนนั้นส่วนใหญ่จึงเลือกทางออกเดียวกันคือการปรับลดปริมาณการผลิตรถยนต์ลง หนึ่งในนั้นคือการลดจำนวนการซื้อชิปเซมิคอนดักเตอร์
สถานการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นนี้พร้อมๆ กับช่วงเวลาการ Work from Home ที่พนักงาน บุคลากรบริษัทหลายแห่งทั่วโลกต้องทำงานจากที่บ้านตามมาตรการคำสั่งของภาครัฐในแต่ละประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และทำให้ความนิยมของสินค้ากลุ่มไอที จอดิสเพลย์ แล็ปท็อป ไปจนถึงอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ความบันเทิงพุ่งสูงปรี๊ด
ผลที่ตามมาจึงทำให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่อใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น ปรับเพิ่มคำสั่งซื้อชิปเซมิคอนดักเตอร์จากบริษัทผู้ผลิตสูงขึ้นสอดรับกับดีมานด์ที่เกิดขึ้น
เมื่อเป็นแบบนี้ ภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์จึงต้องดำเนินการ ‘Reallocate’ ตัวเอง จากเดิมที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ ย้ายมาผลิตชิปให้กับภาคผู้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ แทน ซึ่งเพิ่มมาร์จินกำไรสุทธิในการผลิตให้กับเขาได้ดีกว่าการผลิตชิปให้กับผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยกว่า
ดูเหมือนสถานการณ์จะลงตัวกันพอดิบพอดี เมื่อตลาดรถยนต์ซบเซาก็หันไปป้อนชิ้นส่วนให้กับตลาดสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ แทน จนทำให้สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือ SIA ออกมาเปิดเผยว่า ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 13.2% โดยมีมูลค่ายอดขายรวมทั้งโลกที่ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.24 ล้านล้านบาท
แต่แล้วสถานการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นและหักมุมอีกตลบ เมื่อภาครถยนต์กลับ ‘ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คิด’
และเมื่อค่ายรถยนต์ตั้งใจจะออร์เดอร์การผลิตชิปประมวลผลอีกครั้ง พวกเขาก็พบปัญหาที่ว่า ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้กับพวกเขา ‘ไม่ว่าง’ ที่จะมีผลิตชิ้นส่วนสมองกลให้กับพวกเขาแล้ว เนื่องจากง่วนอยู่กับการผลิตชิปให้กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าแทน ครั้นจะโยกกลับมาผลิตชิปให้กับค่ายรถยนต์ก็พบว่า ‘ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเลย’ เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงไลน์การผลิตนั้นใช้ระยะเวลา และขั้นตอนที่นาน ยุ่งยากมากพอสมควร
หรือถ้าจะให้สร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์อีกแห่งขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถเสกขึ้นมาได้ในช่วงข้ามคืน เพราะต้องใช้ทั้งงบประมาณที่มหาศาล (คงไม่มีใครกล้าทุ่มทุนขนาดนั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว) บวกระยะเวลาที่ยาวนานหลายปี แถมกระบวนการการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ก็มีขั้นตอนที่ยาก ซับซ้อน และวุ่นวายมากกว่าที่ใครหลายคนคิดอยู่ไม่น้อย
ภาพที่เกิดขึ้นในตอนนี้จึงกลายเป็นการแย่ง ‘ไลน์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์’ กันระหว่างภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
อีกหนึ่งสาเหตุคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ออกคำสั่งมาตรการคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีจากจีน ไม่ว่าจะ Huawei หรือ ZTE ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ โดมิโนเอฟเฟกต์ตามมา เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวครอบคลุมถึงการจำกัดการขายชิปประมวลผลให้กับบริษัทเหล่านั้นด้วย
พอถูกบีบให้ซื้อชิปได้ยากขึ้น ทั้ง Huawei และ ZTE หรือบริษัทจีนหลายเจ้าก็เริ่มดำเนินการกักตุนสินค้าชิปเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบตามมาต่อทั้งอุตสาหกรรมชนิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ด้าน เจฟฟ์ ฟีลด์แฮค (Jeff Fieldhack) นักวิเคราะห์จากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดชื่อดังอย่าง Counterpoint มองว่า อีกสาเหตุหนึ่งมาจากกรณีที่สมาร์ทโฟน 5G เริ่มเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดมากขึ้น และกลายเป็น ‘มาตรฐานผลิตภัณฑ์’ ที่วงการสมาร์ทโฟนควรจะมี นั่นจึงทำให้การแข่งขันในด้านการผลิตชิปที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อ 5G ดุเดือดเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยคาดว่าค่ายมือถือที่ไม่ได้มีขนาดตัวใหญ่มากอย่าง Alcatel, OnePlus และ Motorola จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ
(หมายเหตุ: ฟีลด์แฮคอธิบายเพิ่มผ่าน The Washington Post ว่า สมาร์ทโฟน 5G จำเป็นจะต้องใช้ชิปบริหารจัดการทรัพยากรในเครื่องมากกว่าสมาร์ทโฟน 4G ถึง 2-4 เท่าตัว เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สาย รวมถึงการที่สมาร์ทโฟนมีกล้องหลายตัว ทำให้สมาร์ทโฟนเหล่านั้นต้องพึ่งพาชิปสำหรับหน้าจอด้วยเช่นกัน)
ทั้งนี้ ทรรศนะของฟิลด์แฮค เป็นการแสดงความเห็นในช่วงเดือนมีนาคม แต่จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา การที่ Samsung และ Apple ออกมายอมรับผ่านแถลงการณ์ปิดไตรมาสแรกของปีว่าพวกเขาอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาชิปหายในช่วงไตรมาส 2 นี้ด้วย ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ก็ไม่อาจะรอดพ้นไปจากชะตากรรมนี้ได้
โดยสรุป เราจึงสามารถแยกต้นตอของปัญหานี้ได้ออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
1. การระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การแย่งซัพพลายชิปเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างอุตสาหกรรมรถยนต์ และผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
2. การกักตุนชิปเซมิคอนดักเตอร์จากบริษัทจีนที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร สงครามการค้า
3. ดีมานด์ที่สูงขึ้นจากค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะการมาของสมาร์ทโฟน 5G
กระทบกับเราอย่างไร ปัญหาชิปหายจะลากยาวแค่ไหน?
ในแง่หนึ่ง ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือการที่สินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอทีบางอย่างเริ่มขาดแคลนจากตลาด และเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การขึ้นราคาขาย หรือการทำให้วงการรีเซลกลายเป็นทางออกของปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กับภาคผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน
ตัวอย่างที่ชัดๆ เลยคือ กรณีของ PS5 ที่ไม่สามารถผลิตออกมาได้ตามความต้องการในตลาด ทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาขายต่อ วงการผู้พัฒนาเกมจากค่ายต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการทำการตลาด
ส่วนกลุ่มที่ดูจะได้รับปัจจัยบวก หรือประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ หลักๆ แล้วก็น่าจะเป็นผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ หรือบรรดานักลงทุนที่ถือหุ้นในบริษัทเหล่านั้น
นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า ปัญหาชิปเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดขาดแคลนนี้น่าจะกินระยะเวลา และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อไปเป็นเวลาเกือบทั้งปี กว่าที่ภาคผู้ผลิตจะกลับมาผลิตชิ้นส่วนชิปป้อนให้กับบริษัทต่างๆ ได้ตามเป้าหมายและความต้องการเช่นเดิม และอาจจะต้องการระยะเวลามากกว่านั้นอย่างน้อยอีก 6 เดือนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสต๊อกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ได้ในระดับเกณฑ์ปกติของบริษัท
ด้าน เกลนน์ โอดอนเนลล์ (Glenn O’Donnell) ผู้อำนวยการงานวิจัยจาก Forrester วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นไปไกลกว่านั้น โดยมองว่า หากในกรณีที่อุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจปศุสัตว์มีความจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักรที่ต้องพึ่งพาชิป แต่กลับไม่สามารถหาสินค้าเหล่านั้นได้ เช่น เครื่องรีดนมวัวขาดตลาด ผลิตไม่ได้ทัน ผลที่ตามมาคือ สินค้าเกษตร เช่น นมวัวก็อาจจะมีราคาจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และอาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้ และสะเทือนในหลายๆ อุตสาหกรรม
โดยที่โอดอนเนลล์ประเมินไว้ว่า สถานการณ์ความตึงเครียดในซัพพลายเชนการผลิตชิปจะยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างน้อยเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี นับจากนี้ (ครอบคลุมระยะเวลาการจัดตั้งโรงงานผลิตชิปฯ ด้วย)
ฝั่ง อลัน พริสต์ลีย์ (Alan Priestley) รองประธานฝ่ายวิจัยจาก Gartner เชื่อว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะต้องเตรียมใจรอสินค้าที่ตัวเองต้องการนานกว่าเดิม หรือไม่ก็ต้องอาจจะตัดใจมองสินค้าที่มีสเปกต่างออกไป ในกรณีที่สินค้าเดิมที่ต้องการขาดตลาด ผลิตออกมาไม่ทัน
ทางออกของปัญหาอยู่ที่ตรงไหน?
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจอนุมัติงบเงินทุนรวมกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.15 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาชิปขาดแคลนโดยตรง เพื่อเร่งกระบวนการผลิตในประเทศให้ทันกับความต้องการของตลาด และอุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยที่ปัจจุบันได้มีกำหนดการจัดตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ในจำนวนนี้ 2 แห่งเป็นของ Intel อีก 2 แห่งเป็นของ TSMC ยักษ์ใหญ่ในแวดวงเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวัน (ตั้งในแอริโซนา) และ Samsung ในรัฐเท็กซัส
ส่วนประเทศจีนเองก็มีความพยายามที่จะลดการพึ่งพาซัพพลายเชนชิปจากสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มฝั่งตะวันตกมากขึ้น ด้วยการเสนอเงินสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิปในประเทศ
ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ​ กลุ่มผู้ประกอบการบิ๊กเทคฯ นำโดย Apple, Microsoft, Alphabet (Google), Amazon และ Cisco ต่างก็ออกมาร่วมกันส่งจดหมายกดดันให้ผู้ออกกฎหมายในสหรัฐฯ พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินการผ่านกฎหมายมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ โดยที่เงินทุนเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้เพิ่มเป็นค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการวิจัยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ
เพราะฉะนั้น ทางออกของการแก้ปัญหาชิปขาดแคลนในตอนนี้ คือการที่สหรัฐฯ กำลังพยายามอย่างหนักในการอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้ทันกับปริมาณความต้องการและดีมานด์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามไปมากกว่านี้
ส่วนชิปหายจะวายวอดไปนานแค่ไหน คงไม่มีใครตอบได้ เพราะตอนนี้หลายฝ่ายต่างก็ระดมสรรพกำลังกันสุดฤทธิ์แล้ว
ที่เหลือคงต้องรอให้ ‘เวลา’ เติมคำตอบในช่องว่างด้วยตัวของมันเอง
โดย ปณชัย อารีเพิ่มพร
Source: The Standard Wealth

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"