ปัจจุบันมีอย่างน้อย 42 ประเทศ และสหภาพยุโรป ที่อนุมัติให้สามารถใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) เป็นกรณีฉุกเฉิน แต่ทันทีที่เกิดกรณีผู้ได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา
มีอาการเลือดแข็งตัว และมีผู้เสียชีวิตจากอาการดังกล่าวที่เดนมาร์ก ทำให้หลายประเทศ ประกาศระงับการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราว เพื่อทบทวนความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังแนะนำให้ใช้งานวัคซีนของแอสตราเซเนกาต่อไป ขณะเดียวกันมีหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงไทย ที่เดินหน้าใช้วัคซีนชนิดนี้
แต่ละประเทศมีแนวทางการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาอย่างไร วันนี้ workpointTODAY สรุปมาให้อ่านกัน
1.) ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซเนกา เกิดขึ้นหลังจากที่มีหญิงชาวเดนมาร์กวัย 60 ปีเสียชีวิตจากอาการเลือดแข็งตัว โดยหญิงคนดังกล่าวมีประวัติได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา จนเกิดเป็นคำถามว่า อาการเลือดแข็งตัวจนเสียชีวิตของผู้หญิงคนนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่
โดยเมื่อวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) องค์การยาของเดนมาร์กออกแถลงการณ์ระบุว่า การเสียชีวิตของผู้หญิงคนนี้ มาจากอาการป่วยที่ไม่ปกติ
2.) นอกจากกรณีของผู้หญิงวัย 60 ปีที่เดนมาร์กแล้ว ยังเกิดกรณีคล้ายกันในนอร์เวย์ โดยเมื่อวันเสาร์ (13 มี.ค.) รัฐบาลนอร์เวย์เปิดเผยว่า พบบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 3 คน ทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 50 ปี เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดแข็งตัว เกล็ดเลือดต่ำ และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ซึ่งแพทย์ระบุว่า นี่เป็นอาการป่วยที่ไม่ปกติเช่นกัน
3.) อาการผิดปกติที่พบในผู้ได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกาบางคนในยุโรป ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนชนิดนี้ และทำให้เดนมาร์กและนอร์เวย์ ระงับใช้งานวัคซีนของแอสตราเซเนกาชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเฝ้าระวัง จนกว่าจะมีข้อมูลที่ยืนยันได้ถึงความปลอดภัย
4.) นอกจากชาติในยุโรปแล้ว ยังมีชาติในภูมิภาคอื่นๆ ที่ตัดสินใจระงับการใช้งานวัคซีนแอสตราเซเนกาไปก่อนด้วย เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) จำนวน 1.1 ล้านโดส เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งประกาศระงับการแจกจ่ายวัคซีนชนิดนี้เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.)
เช่นเดียวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกากลาง ที่เพิ่งได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาจากโครงการโคแวกซ์จำนวน 1.7 ล้านโดสเช่นกัน ก็ประกาศระงับการแจกจ่ายวัคซีนออกไปก่อน ตามความกังวลที่เกิดขึ้นในยุโรป
5.) องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) แนะนำว่าควรใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาต่อไป แต่ก็จะสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น โดยจะมีการประชุมกันในวันพฤหัสบดีนี้ (18 มี.ค.) ซึ่งเบื้องต้นองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยสถิติจนถึงวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาว่า พบผู้มีอาการเลือดแข็งตัว 30 ราย จากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในยุโรปแล้วเกือบ 5 ล้านคน
ส่วนหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาแนะนำว่า แต่ละประเทศไม่ควรระงับการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เพราะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาทำให้เลือดแข็งตัว
6.) แม้จะมีหลายประเทศระงับใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราว แต่ก็มีหลายประเทศที่เดินหน้าใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาต่อไป เช่น สหราชอาณาจักรที่ให้เหตุผลว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ไม่ได้ชี้ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาทำให้เลือดแข็งตัว
เช่นเดียวกับรัฐบาลออสเตรเลียที่เดินหน้าวัคซีนแอสตราเซเนกา ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับสหราชอาณาจักร คือไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาทำให้เลือดแข็งตัว
7.) ขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งเลือกใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา และเป็นประเทศที่มีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ในประเทศ ยืนยันจะเดินหน้าใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาต่อไป โดยเมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแผนแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ระยะที่สอง โดยจะมุ่งไปที่ผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าให้มากขึ้น ภายใต้เป้าหมายฉีดประชากรให้ได้เกือบ 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของทั้งประเทศ ภายในเดือนมิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าทางการเกาหลีใต้พบผู้เสียชีวิต 8 คน หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเพียงไม่กี่วัน โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในศูนย์ดูแลระยะยาวและมีอาการป่วยติดตัวอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการเกาหลีใต้สรุปว่า สาเหตุการเสียชีวิตทั้ง 8 คน มีความเป็นไปได้ยากที่จะเชื่อมโยงมาจากผลข้างเคียงของวัคซีน
8.) ขณะที่ในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลไทยชะลอการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า อาการเลือดแข็งตัวหรือลิ่มเลือด เป็นอาการที่มักพบเวลาขึ้นเครื่องบิน ซึ่งมักพบมากในคนเชื้อชาติแอฟริกัน และยุโรป มากกว่าเอเชีย โดยคนยุโรปจะพบมากกว่าเอเชีย 3 เท่า ทำให้เชื่อว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องกับโรคนี้ และโรคนี้พบได้ในยามปกติ
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้ในยุโรปและที่ใช้ในประเทศไทยคนละแบบ เพราะวัคซีนในยุโรปจะใช้ที่ผลิตจากในยุโรป แต่วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ใช้ในประเทศไทย นำมาจากวัคซีนที่ผลิตในเอเชีย ขณะเดียวกันประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเสี่ยงสูง ดังนั้นการชะลอการฉีดวัคซีนออกไป 5-7 วันหรือ 2 อาทิตย์ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบ
จนกระทั่งในวันนี้ (16 มี.ค.) ประเทศไทยกลับมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาอีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนำทีมฉีดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
Source: Workpoint news
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you