ลมหายใจ 'เศรษฐกิจไทย' ยังดีอยู่ไหม?

ลมหายใจ "เศรษฐกิจไทย" ยังดีอยู่ไหม? หลังจากต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ แล้ววัคซีนโควิดจะเป็นความหวังใหม่ของภาคธุรกิจ เศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่?
ดังที่เคยเรียนผู้อ่านไว้ก่อนหน้าว่าผู้เขียนไม่ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่จนเกินไปหลังการระบาดรอบใหม่

แต่ก็จะไม่พุ่งทะยานเช่นกัน แม้ว่าเศรษฐกิจหลายประเทศจะพุ่งขึ้นหลังการแจกจ่ายวัคซีนกระจายเป็นวงกว้าง

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาส 4 และทั้งปี 2563 รวมถึงปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งตอกย้ำมุมมองผู้เขียนมากขึ้น (แต่ก็มีบางประเด็นที่ผู้เขียนเห็นต่าง) จึงขออนุญาตนำมาขยายความ ณ ที่นี้
เริ่มต้นที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ที่หดตัว -4.2% ต่อปี (หรือขยายตัว 1.3% เทียบกับไตรมาสก่อน โดยปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่หดตัว -6.4% ต่อปี ผู้เขียนยอมรับว่าตัวเลขนี้ดีกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะหดตัวประมาณ -6% และต้องไม่ลืมว่าตัวเลขไตรมาส 4 นี้รวมช่วงที่เกิดการระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค.แล้ว นั่นแปลว่าในเชิงโมเมนตัม เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง
หากพิจารณาในฝั่งการใช้จ่าย จะพบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้เป็นผลจากการสั่งสมสินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นหลัก โดยแปลความได้ว่าภาคการผลิตฟื้นตัวมากกว่าการใช้จ่าย ทำให้สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น (โดยสินค้าคงคลังเป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจโตถึง 4.9%)
สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นได้แก่ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ พลาสติก อัญมณี และข้าวเปลือก ซึ่งดูจากลักษณะส่วนใหญ่น่าจะเป็นสินค้าเพื่อการส่งออก บ่งชี้ว่าผู้ผลิตมีมุมมองว่าการส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นในระยะถัดไปจึงเร่งผลิต ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและนำเข้าที่หดตัวน้อยลง ขณะที่เมื่อพิจารณาการบริโภคและลงทุนในประเทศ ก็มีสัญญาณของการฟื้นตัวหรือหดตัวน้อยลงเช่นกัน บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นขึ้น แม้ไม่หวือหวารุนแรง
แต่ภาคเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงได้แก่ ภาคบริการที่หดตัวถึงกว่า -75% ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยได้เพียงประมาณเดือนละ 3,000 คน จากที่เคยเข้ามาเดือนละประมาณ 3-4 ล้านคนในไตรมาสสุดท้าย อันเป็นผลจากการปิดประเทศและไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าในประเทศโดยไม่กักตัว ซึ่งการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวแรงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา
ภาพดังกล่าวจึงสะท้อนเข้ามาสู่ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่ง ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น เกษตร อุตสาหกรรม โทรคมนาคม (ICT) และค้าส่งค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจฝั่งการใช้จ่าย
แม้ว่าภาคบริการจะยังได้รับผลกระทบจากโควิด แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสนี้มี 3 จุด คือ
(1) รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องถึงประมาณ 12% ต่อปี จากทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้น และจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ข้าวโพด ไก่ ไข่ และมันสำปะหลัง ทำให้ช่วยสนับสนุนรายได้ของประชาชนในต่างจังหวัด
(2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก
(3) ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเริ่มฟื้นขึ้นต่อเนื่องในทุกหมวด ทั้งอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่ามีความต้องการผลิตเพื่อส่งออกและ/หรือใช้ในประเทศในช่วงต่อไป
ภาพเหล่านี้สอดคล้องกับภาพใหญ่ของโลกที่ว่าความต้องการทั่วโลกเริ่มกลับมาตามสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งโภคภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการ work from home
เมื่อมองไปข้างหน้า ประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานของสภาพัฒน์ฉบับนี้คือ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 3.5-4.5% (ค่ากลาง 4%) เป็น 2.5-3.5% (ค่ากลาง 3%) ซึ่งโดยหลักเป็นผลจาก 4 ปัจจัยคือ
(1) การระบาดรอบใหม่ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง โดยสภาพัฒน์ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวลงจาก 5 ล้านคน เป็น 3.2 ล้านคน ทำให้รายรับนักท่องเที่ยวลดลงจาก 4.9 แสนล้านบาท เป็น 3.2 แสนล้านบาท (2) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จาก 30.7 เป็น 30.0 บาทต่อดอลลาร์
(3) ราคาน้ำมันดิบดูไบ จาก 46 เป็น 53 บาทต่อดอลลาร์ และ (4) สมมติฐานการค้าโลกจากโต 5.0% เป็น 6.7% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มการเบิกจ่ายภาครัฐตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ และงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น
ปัจจัยต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจและการบริโภคขยายตัวลดลง แต่การส่งออกและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยหากเปรียบเทียบกับประมาณการของผู้เขียน จะพบว่ามุมมองจีดีพีและมูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวใกล้เคียงกันที่ 3% และ 6% แต่ผู้เขียนให้การบริโภคเอกชนสูงกว่าที่เกือบ 4% (ประมาณ 3.7%) ขณะที่ของสภาพัฒน์ให้ 2% ส่วนการลงทุนเอกชน ผู้เขียนให้ 2% แต่สภาพัฒน์ให้ 4% ด้านนักท่องเที่ยว ผู้เขียนให้ 5 ล้านคน (มาครึ่งปีหลัง) แต่สภาพัฒน์ให้ 3.2 ล้านคน (มาไตรมาส 4)
กล่าวโดยย่อคือ เมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐ ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าการบริโภคจะมีแนวโน้มจะขยายตัวดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่และความต้องการที่ถูก “อั้น” ไว้ (Pent-up demand) หลังการระบาดบรรเทาลง ขณะที่ส่งออกสินค้าขยายตัวได้ดีจากความต้องการโลกที่กลับมา
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือ
(1) จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เพราะถ้าลดก็จะช่วยให้การเปิดประเทศเร็วขึ้น
(2) รัฐบาลจะเปิดให้มี Vaccine Passport (หรือการที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว) ได้เมื่อไร
(3) เศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้นจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นหรือไม่
(4) การเบิกจ่ายมาตรการรัฐทำได้ดีหรือไม่ และมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่
(5) นโยบายการเงินจะผ่อนคลายเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในปัจจุบัน (ธปท.ลดการดูดซับสภาพคล่อง ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทในครึ่งหลังของปี 2563) ซึ่งผู้เขียนมองว่านี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ธปท.ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในทางอ้อม
ลมหายใจเศรษฐกิจไทยเริ่มแข็งแกร่งขึ้น แต่จะแข็งแรงเท่าใด ฟ้าเท่านั้นที่จะตอบได้
โดย ปิยศักดิ์ มานะสันต์ | คอลัมน์ GLOBAL VISION
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่สังกัดอยู่)
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman

Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"