ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุด “Restoring Incomes; Recovering Jobs” (การฟื้นฟูรายได้และการจ้างงาน) โดยระบุว่าเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของ COVID -19
และประมาณการว่าจะหดตัว 6.5% ในปี 2563และขยายตัว 4.0% ในปี 2564 ขณะที่ได้เน้นว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานอย่างยั่งยืนจะมีสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยกลับมาดีขึ้นในปี 2564 และ 2565
ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างไม่แน่นอนจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนมีการระบาด ขณะที่ COVID-19 ทำให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน รายได้ของประชากรลดลงและประชากรหลายคนกลับไปสู่ความยากจน
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีการปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าของวัคซีน หนี้ครัวเรือน รายได้ประชากรลดลง ความยากจนเพิ่มขึ้น และความท้าทายของกลุ่มแรงงาน
“วิกฤต COVID -19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงจุดเปราะบางสำคัญของประเทศไทย คือจำนวนคนวัยทำงานที่ลดลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในการฟื้นฟูความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นการเพิ่มการจ้างงาน ผลิตภาพ และรายได้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ยากจน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน”
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งที่สองเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเศรษฐกิจของไทยคาดการณ์ว่าจะหดตัว 6.5% ในปี 2563 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมา 4.0% ในปี 2564 และเติบโตขึ้นไปอีก 4.7% ในปี 2565 ซึ่งเป็นจุดที่กลับไปอยู่ที่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งอาจมาจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโรค ส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอกว่าคาด อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ ความล่าช้าของวัคซีน ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง
ขณะที่รายได้ของประชากรที่ลดลงทำให้หลายคนมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการค่อนข้างดีในการออกมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรที่เข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ตามเส้นแบ่งความยากจนที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ 2554) เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของCOVID-19
ดร.เกียรติพงศ์ เปิดเผยต่อว่า ผลจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลจากการระบาดของ COVID-19 อย่างหนักโดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ทำให้มีการจ้างงานหายไป 340,000 ตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในวัยรุ่นเพิ่มขึ้น 9% และค่าจ้างลดลง 1.6% อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และช่วงรกของไตรมาส 4 โดยจำนวนงานเพิ่มขึ้น 850,000 ตำแหน่ง และชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างภาคเก๖รยังคงต่ำกว่าระดับปี 2562
สำหรับข้อเสนอแนะด้านนโยบายด้านการจ้างงานในระยะสั้น รัฐบาลต้องจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะของแรงงานและให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อแรงงานกลับไปทำงาน สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องพยายามทำอย่างต่อเนื่องคือการทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้และการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้าง
ในระยะยาวรัฐบาลสามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคการดูแล ทำให้การดูแลเด็กเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงานของแรงงานผู้หญิง รายงานนี้ยังแนะนำให้ขยายอายุเกษียณออกไปและให้วางแผนโครงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานและให้มีการจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อยืดอายุการทำงานให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย
“การลดลงของประชากรวัยทำงานจะทำให้อุปทานแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพในภาคส่วนที่มีผลิตภาพสูงซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแห่งความรู้ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย การดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและสตรีสามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับภาวะประชากรสูงวัยด้วย”
Source: การเงินธนาคารออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you