สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นจนทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 210 ล้านล้านบาท)
ซึ่งแม้ว่าทรัมป์จะหมดวาระไม่ได้ไปต่อ แต่ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ กลับยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อไป ภายใต้ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่จะมารับหน้าที่กุมบังเหียน บริหารจัดการประเทศ และฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด -19
ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าหลายรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมา หากต้องเผชิญกับปริมาณหนี้สาธารณะมหาศาลและการขาดดุลบัญชีมโหฬาร รัฐบาลในช่วงเวลานั้นมักจะเลือกนโยบายรัดเข็มขัด ตัดลดค่าใช้จ่าย สร้างวินัยทางการคลังเพื่อไม่ให้ ‘หนี้’ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
กระนั้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกัดฟันใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็มต่อไป
โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสัปดาห์นี้ หลังจากที่เพิ่งออกแพ็กเกจเยียวยามูลค่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมาตรการกระตุ้นระลอกใหม่จะครอบคลุมถึงการแจกเงินให้ชาวอเมริกันรายละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และการปรับนโยบายประกันสำหรับผู้ตกงาน
ทั้งนี้ยิ่งการที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็ยิ่งทำให้การออกมาตรการเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า ปริมาณหนี้สาธารณะก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย กระนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างก็สนับสนุนให้รัฐออกมาตรการกระตุ้น แม้ว่าจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาตั้งหลักได้ในเร็ววัน
ความวิตกกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะของประเทศมีขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่บรรดาบริษัทในสหรัฐฯ ทั้งหลายเริ่มทยอยเปิดเผยรายได้ของบริษัทประจำไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 โดยดูเหมือนว่าจนถึงขณะนี้ ไม่มีบริษัทไหนที่จะสามารถทำรายได้ได้ตามเป้าที่ตั้งใจไว้
ทั้งนี้รายงานผลประกอบการของบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง JPMorgan Chase (JPM), Wells Fargo (WFC) และ Citigroup (C) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างสะท้อนให้เห็นความกังวลต่อผลกระทบของวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและเหล่าธุรกิจขนาดย่อมในสหรัฐฯ ขณะที่สายการบิน Delta (DAL) ก็มีรายงานขาดทุนเป็นประวัติการณ์เพราะสถานการณ์การเดินทางที่ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
FactSet Research บริษัทด้านการวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์ว่า บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาด S&P 500 ต่างมองว่ารายได้และผลกำไรของบริษัทในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วจะลดลงราว 7% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทก็มีความหวังว่าอย่างน้อยในปี 2021 นี้ สถานการณ์โดยรวมน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างน้อยก็ดีกว่าปี 2020 ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ไตรมาส 4 ของปี 2020 จะเป็นไตรมาสสุดท้ายที่ผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในสภาพยากไร้แห้งแล้งเช่นนี้
John Butters นักวิเคราะห์อาวุโสด้านรายได้ของ FactSet กล่าวต่อทางสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน S&P 500 น่าจะฟื้นกลับมาได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยจะมีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ก่อนที่รายได้จะพุ่งทะยานมากกว่า 46% ในช่วงไตรมาสที่สอง ขณะที่รายได้ของบริษัทเอกชนตลอดทั้งปี 2021 นี้โดยรวมมีโอกาสที่จะขยับปรับขึ้นได้มากกว่า 22%
แน่นอนว่าตัวเลขที่ดูสูงขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างมากจากห้วงวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล บวกกับการมีวัคซีนต้านที่มีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาอยู่ในสภาพปกติได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้หลายบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยับขยายโดยรวมในปีถัดๆ ไป
โดย THE STANDARD TEAM
Source: The Standard
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you