แม้เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวสูงจากปัญหา โควิด-19 แต่จะกลับมาเติบโตได้ในปี 2564 โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยโดนกระทบหนักจน GDP ที่ควรจะเติบโตไปได้ กลับหล่นไปเหลืออยู่ 93% ของปี 2562 ซึ่งหนักกว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย
สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ สาเหตุที่เราโดนหนักกว่าคนอื่นก็เพราะ
(1) เราพึ่งพาท่องเที่ยวสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
(2) สินค้าที่เราส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากผลโควิด-19 สูง เช่น ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่สินค้าที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เรายังมีสัดส่วนการส่งออกไปไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และ
(3) เราโดนซ้ำเติมจากหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าหลายประเทศอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 คืออยู่ราว 80% ของ GDP และเพิ่มขึ้นอีกหลังโควิด-19 เป็น 84% ซึ่งสูงกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ที่อยู่ราว 70% และ 50% จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายของประชาชน
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่ดี จากเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่มีเสถียรภาพ หนี้ต่างประเทศต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศสูง ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากตลาดการเงินได้ และรอบนี้ระบบธนาคารก็เข้มแข็ง สำหรับด้านการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังต่ำเมื่อเทียบกับปี 2540 นอกจากนี้ อยากเน้นให้เห็นอีกจุดคือเศรษฐกิจไทยมีความทนทาน (resiliency) สูง เห็นได้ชัดจาก 2 ด้าน คือ
(1) ผลของ โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ ที่ปกติเราพึ่งพาท่องเที่ยวสูงมากถึง 11% ของ GDP ถ้าเทียบบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ ก่อนโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40 ล้านคน พอเจอโควิด-19 ในปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือไม่ถึง 7 ล้านคน หายไปกว่า 80% ซึ่งเท่ากับว่า GDP หายไปเกือบ 10% นี่ยังไม่รวมผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น การส่งออกที่หดตัว ซึ่งถ้าเทียบกับเศรษฐกิจปี 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว 6.6% ก็ถือว่าดีมากแล้ว หลักๆ มาจากนโยบายภาครัฐที่เข้ามาดูแลได้ทันท่วงทีด้วย และ
(2) ตลาดแรงงานของไทยมีความยืดหยุ่น โควิด-19 กระทบภาคการท่องเที่ยวที่จ้างงานสูงถึง 20% ของแรงงานทั้งหมด และในช่วงปิดเมืองยังกระทบคนทำงานนอกภาคเกษตรหลายล้านคนที่ไม่สามารถ Work from home ได้ แต่บางส่วนสามารถย้ายไปทำงานอย่างอื่นแทนได้ จนเห็นจำนวนผู้เสมือนว่างงาน (คนที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) ทยอยลดลงจาก 5.4 ล้านคน จนตอนนี้เหลือ 2.2 ล้านคนแล้ว
ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2564 จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เราน่าจะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อเทียบปีต่อปีกลับเป็นบวกในไตรมาส 2 โดยถ้าดูจากตัวเลข จะเห็นว่าหลาย sector ฟื้นกลับมาดีกว่าหรือใกล้กับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน การส่งออก และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ยังต้องระมัดระวังในบางภาคส่วนด้วย เพราะเราเห็นว่าการฟื้นตัวคราวนี้เป็นแบบไม่เท่ากัน (uneven) บาง sector โดยเฉพาะโรงแรมฟื้นกลับมาเพียง 34% ของระดับก่อนโควิด-19 เท่านั้น
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังขึ้นอยู่กับความเสี่ยงสำคัญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การระบาดของโควิด-19 ในไทยช่วงนี้ ถ้าขยายวงกว้างและควบคุมการแพร่ระบาดได้ช้า อาจทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจที่บางตัวฟื้นขึ้นมาดีกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว เช่น การใช้จ่ายของประชาชน กลับทรุดลงอีกครั้ง และเรื่องที่สองคือ การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีหน้าตามที่หวังไว้หรือไม่ เพราะผลของวัคซีนและการได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงยังมีความไม่แน่นอนสูง ประเทศที่จะได้ฉีดวัคซีนก่อนอย่างสหรัฐ และอังกฤษ คิดเป็นเพียง 5% ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยเท่านั้น ขณะที่คนจีนที่มีสัดส่วนสูงถึง 28% อาจยังไม่มาจนกว่าไทยจะมีวัคซีน ดังนั้น แม้จะมีวัคซีน ก็ไม่ได้แปลว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยทั้งหมดได้
วิกฤตรอบนี้ จึงถือว่าอาการหนัก แก้ยาก แต่ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง และความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เรามั่นใจว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา โดยปี 2564 ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 3.2% และจะทยอยกลับมาเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565
ธปท.มีบทบาทอย่างไรต่อการขับเคลื่อนและฟื้นเศรษฐกิจ
บทบาทของ ธปท. ในรอบนี้ คือ ต้องดูแลไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยสภาพคล่องต้องมีพอและต้นทุนไม่สูงเกินไป (Accommodative) โดย ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากและลดค่าธรรมเนียม FIDF (Financial Institutions Development Fund) เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านต้นทุนที่ต่ำลงนี้ไปยังอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายให้มากที่สุด สำหรับสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ เห็นได้จากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อยังโตได้ที่เกือบ 5% โจทย์สำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มสภาพคล่อง แต่ทำอย่างไรให้สภาพคล่องกระจายไปในที่ที่ต้องการให้ได้มากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่วิกฤตรอบนี้รุนแรงและต้องใช้เวลานาน อย่างน้อยคงอีกเกือบ 2 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนโควิด-19 สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องซื้อเวลา เพื่อให้ SMEs และประชาชนพออยู่ต่อไปได้ และป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียในระดับที่สูงเกินไป เราจึงพยายามลดภาระหนี้ที่ลูกหนี้ต้องแบกรับ ผ่านมาตรการพักหนี้ ลดเงินต้นที่ต้องจ่าย และเพิ่มงวดการชำระหนี้ออกไป เราจึงผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ แต่ถ้าชำระหนี้ไม่ได้จนเกิดการผิดนัด ธปท. ก็ได้ปรับวิธีการคำนวณค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น คือ เมื่อผิดนัดชำระหนี้ แทนที่จะคิดเบี้ยปรับบนยอดหนี้ทั้งก้อนอย่างที่เป็นอยู่เดิม ก็ปรับให้เสียเพียงในส่วนของงวดการผ่อนชำระที่จ่ายพลาด เพื่อไม่ให้ลูกหนี้มีหนี้ทับถมขึ้นไปอีก
สุดท้าย หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง ๆ เราก็ไม่อยากให้เขาไปติดในกระบวนการศาลที่จะใช้เวลานาน เพราะคดีที่เกี่ยวกับหนี้มีมหาศาล เฉพาะคดีแพ่งที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็มีไม่ต่ำกว่า 4 แสนคดี เราจึงสนับสนุนให้ใช้การไกล่เกลี่ยแทน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกหนี้ และช่วยประหยัดเวลาให้แก่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งดีกับทั้ง 2 ฝ่าย
อยากย้ำว่า เรื่องเหล่านี้เราเป็นห่วงและใส่ใจ พยายามแก้ปัญหาอย่างตรงจุด (targeted) และตอบโจทย์ที่เหมาะกับบริบทไทย รวมถึงคิดแบบครบวงจร (comprehensive) ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ให้น้อยที่สุด
ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ มี 2 สิ่งที่ชัดเจน คือ
(1) วิกฤตรอบนี้ใช้เวลานาน เช่น ในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แม้จะมีวัคซีนก็ไม่ได้การันตีว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม ยังมีความไม่แน่นอนหลายด้านในเรื่องของวัคซีน ทั้งประสิทธิผลการรักษาและความทั่วถึงของวัคซีนไปสู่ประชาชน โดย ธปท. คาดว่านักท่องเที่ยวในปี 2564 จะมีเพียง 5 ล้านกว่าคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งผ่านไป 2 ปี เราจะได้นักท่องเที่ยวเพียงครึ่งเดียวของช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การเตรียมตัวจะต้องให้เหมือนกับจะออกวิ่งระยะยาว ไม่ใช่วิ่งระยะสั้นๆ ซึ่งการเตรียมตัวจะต่างกัน
(2) มีโอกาสสูงที่จะไม่กลับมาเหมือนเดิม เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาถึง 40 ล้านคนอีกหรือไม่ ลักษณะการท่องเที่ยวก็อาจเปลี่ยนจากมาเยอะ อยู่สั้น ใช้จ่ายน้อย เป็นมาน้อย อยู่นาน ใช้จ่ายสูงก็ได้ ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวที่ยกมานี้ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดว่าต้องปรับตัว
ดังนั้น ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และไม่ควรรีรอที่จะปรับตัว
Source: มติชนออนไลน์ และ นสพ.มติชน
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you