แบงก์ชาติปรับทิศนโยบายการเงิน หันมาเน้นเศรษฐกิจเติบโต หมดห่วงเรื่องเงินเฟ้อ พร้อมดูแลค่าเงินบาทช่วยผู้ส่งออก ผนึกคลัง-บสย.แก้คอขวดสภาพคล่องเอสเอ็มอี “เศรษฐพุฒิ”ห่วงภาคท่องเที่ยวทรุดหนัก ฉุดจีดีพีปีหน้าโตต่ำกว่า 4% หนุนคลังออกมาตรการกระตุ้นบริโภค
แนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่ปรับแข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ทำให้ภาครัฐเป็นห่วงว่า จะเข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ปัจจุบันถูกกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยภาคการส่งออก ซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่มีผลต่อจีดีพีจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสายป่านสั้น ทำให้กระทรวงการคลังประกาศย้ำว่า นโยบายการเงินที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะต้องสอดประสานและผ่อนคลายกับนโยบายการคลัง เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่มุมมองของ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการธปท.ก็ไม่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของค่าเงินบาทที่ธปท.พร้อมจะเข้าไปดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการส่งออก และการใช้นโยบายการเงินสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ประคับประคองให้เศรษฐกิจให้ผ่านวิกฤติโควิด-19
“แนวทางการบริหารจัดการค่าเงินที่ไม่ใช่แค่ตน แต่เป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ด้วย ชัดเจนว่า เรามีความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า เหตุผลเพราะบริบทของเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนไป”
เศรษฐพุฒิ บอกว่า บริบทของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปนั้น มาจาก
1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น ยังมีความเปราะบาง เลยไม่อยากให้มีอะไรที่เข้ามาทำให้การฟื้นตัวสะดุด การที่ค่าเงินแข็งเร็วเกินไป ก็มีสิทธิที่จะกระทบเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2.ในช่วงที่ตนอยู่ในกนง.มา 6 ปี สัญญาณที่เราส่ง คือ เรื่องของการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ในแง่ผลของเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศคู่ค้า ซึ่งที่สนใจ คือ ปริมาณการส่งออก แต่ในขณะนี้ในยามที่บริษัทจำนวนไม่น้อยมีความเปราะบาง ถ้าเป็นผู้ส่งออกรายเล็กสายป่านสั้น มาร์จิน แทบไม่มี หนี้ก็มาก ยอดขายก็ลด ก็เลยจำเป็นหรือเหมาะสมที่จะใส่ใจเกี่ยวกับมาร์จิน ซึ่งจะโยงเรื่องของค่าเงิน เป็นที่มาว่าทำไมเราอาจจะดู“กล้า” แต่ก็มีเหตุผล
สำหรับนโยบายการเงินนั้นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะนี้ ธปท.ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ จากเดิมที่จะให้น้ำหนักเงินเฟ้อที่หากผ่อนคลายนโยบายการเงินนานไป จะส่งผลต่อเสถียรภาพการเงิน ฟองสบู่เศรษฐกิจ แต่ในยามนี้ทุกประเทศมองว่า สิ่งที่จะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจที่สุด คือ จีดีพีไม่กลับมา อันนั้นคือแย่ที่สุด คิดว่าเราก็อยากให้เศรษฐกิจฟื้น
ยันไม่ออกคิวอี
ผู้ว่าธปท.ยอมรับว่า มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการที่จะออกมารองรับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยอะไรที่ทำแล้วเหมาะสมก็พร้อมพิจารณา แต่ว่าการจะเลือกทำอะไร ต้องดูว่าตอบโจทย์หรือเปล่า มีการกล่าวถึงจำนวนมากเรื่องของการทำคิวอี ซึ่งการที่ต่างประเทศทำคิวอี เพราะต้องการอัดสภาพคล่องเข้าระบบเพื่อให้บอนด์ยิลด์ต่ำลง เพราะการไฟแนนซ์ต่างประเทศพึ่งพิงตลาดบอนด์เป็นหลัก ต่างจากไทยที่พึ่งพาเงินจากระบบแบงก์ และปัจจุบันสภาพคล่องล้นระบบ แต่มีปัญหาของการกระจายสภาพคล่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ
“ถามว่า(การทำคิวอี) เป็นโจทย์เราหรือเปล่า ปัจจุบันสภาพคล่องล้น แต่ประเด็นปัญหา คือ การกระจายสภาพคล่อง เป็นเรื่อง Credit Risk วิธีการแก้ไข คือ การเข้าไปค้ำประกัน ไม่ใช่ทำคิวอี ทำคิวอี แทบตาย สภาพคล่องก็ไม่ไปหาเอสเอ็มอี"
เตรียมปรับเป้าจีดีพี
สำหรับจีดีพีในปีนี้ ผู้ว่าการธปท. ประเมินว่า จะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด ซึ่งเดิมคาดว่าจะโตติดลบกว่า 8% เป็นผลจากภาคท่องเที่ยวที่มีผลต่อจีดีพึงถึง 12% นั้นหายไป แต่ปรากฏว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวดีกว่าคาด อีกอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามีโอกาสมากที่จะแย่ขนาดนั้น คือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีภาคบริการใหญ่มากคิดเป็น 60-70% ต่อจีดีพี เมื่อโควิด-19 เข้ามาก็จะกระทบมาก ไม่เหมือนภาคอุตสาหกรรมที่ยังส่งออกได้หรือการผลิตที่จะบริหารจัดการได้
นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างแรงงาน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานที่มาจากภาคเกษตรหรือพ่อค้าแม่ค้าเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานที่บ้านได้เมื่อเกิดโควิด-19 ฉะนั้น ก็เป็นตัวที่ทำให้คิดว่าปีนี้จะแย่
“เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าคาด ทุกคนก็ปรับประมาณการ ซึ่งรวมถึงเราด้วย ที่คิดว่าจะมีการปรับอีก”
อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมจีดีพีในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวแย่กว่าที่คาดหรือขยายตัวต่ำกว่า 4% เนื่องจากแต่เดิมคาดการณ์ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะกลับมาจำนวน 9 ล้านคน ซึ่งขณะนี้คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้จะมีข่าวดีว่าวัคซีนจะมา แต่วัคซีนที่ออกมานั้น ไม่ได้หมายความว่าท่องเที่ยวจะมาด้วย ยกตัวอย่างถ้าเราฉีดวัคซีน แล้วเขาไม่ฉีด หรือเขาฉีดแล้วเราไม่ฉีด การท่องเที่ยวก็ไม่เกิดขึ้น
“ตัวเลขหลักๆที่เข้ามากระทบ คือ การท่องเที่ยว ซึ่งเดิมนั้น เราคาดว่า เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 1 ล้านคน จะกระทบจีดีพีราว 0.5% ฉะนั้นก็มีผลเยอะ แต่ตัวเลขปีหน้าที่คาดว่าจะออกมาดี คือ การบริโภค ซึ่งเราอยากให้นโยบายการคลังเข้ามาสนับสนุนต่อ และ อยากให้การป้องกันการระบาดของโควิด-19 มีความเข้มงวด"
นอกจากนี้ผลบวกต่อเศรษฐกิจปี 2564 มาจากการส่งออกด้วย เพราะโลกดูดี แต่ทั้งหมดนั้นไม่สามารถทดแทนการท่องเที่ยวที่หายไปได้ ตัวเลขที่เห็นภาพได้ดี คือ พระเอกการส่งออกนั้น อยู่ในธุรกิจหลัก อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมแล้วมียอดส่งออกกว่า 50% ของยอดส่งออกทั้งหมด แต่ธุรกิจเหล่านี้ ช่วยเรื่องการจ้างงานได้ไม่ถึง 4% ฉะนั้น 3 พระเอกที่เห็นนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะดีเพราะการจ้างงานน้อย
เน้นพยุงภาคธุรกิจเอสเอ็มอี
เขากล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ ธปท.ได้ดำเนินการเพื่อช่วยภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คือ การพยุงหรือช่วยเลี้ยงภาคธุรกิจ เพื่อลดภาระเพื่อรอให้อุปสงค์กลับมา และเพราะเราไม่ใช่หน่วยจ้างงานหรือสร้างงาน ดังนั้น เราก็จะต้องเข้าไปดูให้โครงสร้างรองรับ นั่นก็คือทำให้มีสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจไปได้ และพยายามเข้าไปช่วยลดภาระหนี้ ที่ดำเนินการ คือ ลดดอกเบี้ย และ การลดเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
“เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เราคิดว่า บ้านเราทำได้ดี คือ การดูแลสภาพคล่องในระบบ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ถือว่า เราโอเค กลไกตลาดเงินและแบงก์ทำงานได้ดี โดยดูดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีที่อยู่ที่ 1.3% สะท้อนว่า สภาพคล่องยังดี”
อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่สภาพคล่องยังอยู่ในเกณฑ์ดี อาจเป็นเพราะแบงก์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อหรือไม่ เขากล่าวว่า ในภาพรวมสินเชื่อยังขยายตัว แต่ยอมรับว่า การกระจายสินเชื่อนั้น ยังไม่ดี โดยเฉพาะการกระจายไปยังกลุ่มเอสเอ็มอี สะท้อนว่าสภาพคล่องไม่ได้ไปในจุดที่อยากให้ออกไป ประเด็นอยู่ที่ Credit Risk ซึ่งแบงก์มองความเสี่ยงของเอสเอ็มอีสูง แม้ดอกเบี้ยซอฟท์โลนที่ให้จะต่ำ แต่ก็ไม่คุ้มที่จะปล่อย วิธีแก้ คือ เราก็ใช้กลไกการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เป็นประเด็นที่ธปท.จะโฟกัส
"สภาพคล่องในระบบมีพอ สิ่งที่ต้องการ คือ เครดิต การันตี ซึ่งเราก็ทำงานกับ ก.คลัง เพราะถือว่า เป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา”
แบงก์คุมคุณภาพหนี้ได้ดี
สำหรับการดูแลภาพรวมคุณภาพสินเชื่อนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ได้หารือกับแบงก์ตลอด ซึ่งแบงก์กังวล คุณภาพสินเชื่อจะมีความเสี่ยง เป็นเรื่องปกติ แต่เห็นได้จากที่แบงก์ต่างๆไม่ได้ชะล่าใจ มีการตั้งสำรองเกินเกณฑ์ และปรับโครงสร้างหนี้ แต่ทั้งหลายทั้งปวง จะไม่มีสไตล์ปี 2540 เกิดขึ้น ที่ตอนนั้นหนี้เสีย 47.7% ของทั้งระบบ ฉะนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาก็ต้องไปตรงที่จะต้องตอบโจทย์
“สิ่งสำคัญ คือ เอสเอ็มอีต้องได้สินเชื่อ แต่จะได้จากแหล่งใด จะมาจากช่องทางแบงก์ปกติ หรือ มาจากซอฟท์โลน จากแบงก์รัฐ ไม่เป็นไร ซึ่งธนาคารพาณิชย์เขามีสภาพคล่องพอ ถ้าเขาพ่วงเรื่องการค้ำประกันไปด้วย น่าจะเป็นช่องทางที่ดี ผมขอย้ำว่า โจทย์เรา คือ ต้องการให้สินเชื่อไปที่ๆควรไป”
สำหรับข้อเสนอเรื่องการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่เข้าสู่การพักกิจการชั่วคราว หรือ warehousing เป็นเรื่องที่เอกชนจะดำเนินการได้เอง จะเป็นไปตามกลไกตลาด และถ้าจะให้ธปท.เข้าไปช่วยเรื่องการผ่อนเกณฑ์อะไร ก็พร้อมพิจารณา ถ้ารูปแบบต่างๆที่เสนอตอบโจทย์ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ตอบโจทย์ลูกหนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะไม่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ คำถาม คือว่า ใครจะมาเป็นผู้บริหาร หรือ ใครจะมาเป็นผู้ลงทุน เพราะถือว่า เป็นความเสี่ยง และ แบงก์เองก็ไม่ได้ต้องการที่จะขายหนี้ออกไปทั้งหมด อาจจะต้องการบริหารเอง ลูกหนี้เอง ก็ไม่ได้อยากเข้าไปอยู่ในเอเอ็มซี เพราะอาจจะต้องการขอสินเชื่อเพิ่มจากแบงก์ ตนไม่เห็นว่า ควรตั้งเป็น National AMC เพราะขนาดของปัญหาไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
----------------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you