เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การบรรลุ ข้อตกลงเบื้องต้นกันได้ระหว่างฝ่ายสหรัฐกับสหภาพยุโรป (อียู) นั้น นับว่าเป็นข่าวดีที่สุดข่าวหนึ่ง ซึ่งช่วยคลี่คลายบรรยากาศการค้าโลกที่ตึงเครียดมานานลงได้ในระดับหนึ่ง
โดยฝ่ายสหรัฐตกลงที่จะยกเว้นการขึ้น "ภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า" ให้อียู แลกกับการที่ฝั่งอียูจะรับซื้อถั่วเหลืองและก๊าซธรรมชาติ แอลเอ็นจีจากสหรัฐมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้จะได้ดีลที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจภาคพื้นยุโรปมาได้แล้ว แต่ยุโรปเองก็ยังไม่หยุดที่การเจรจากับสหรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่กำลังจะเปิดการเจรจาของกลุ่ม 5 ชาติมหาอำนาจยานยนต์โลกตามมาใน เร็วๆ นี้
จากรายงานของรอยเตอร์สโดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า ในวันอังคารที่ 31 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมของ เจ้าหน้าที่จาก 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ อียู ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และเม็กซิโก เพื่อร่วมกันหารือมาตรการรับมือกำแพงภาษีรถยนต์ของทรัมป์ โดยการประชุมจะมีขึ้นที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งยังเป็นบ้านขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) อีกด้วย
จุดที่น่าสนใจก็คือ อียูเองเพิ่งได้การตกปากรับคำจากสหรัฐมาหมาดๆ ว่าจะไม่ขึ้นภาษีรถยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็กำลังจะคุยกับสหรัฐเพื่อขอความมั่นใจเรื่องภาษีรถเหมือนกันในเร็วๆ นี้ แล้วเหตุใดยังต้องมีการรวมกลุ่มของ 5 มหาอำนาจยานยนต์ขึ้นอีก
เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าข้อตกลงระหว่างสหรัฐ-อียู เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ถือเป็นข้อตกลงเบื้องต้นที่ยังไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าสหรัฐจะไม่หยิบยกประเด็นนี้มาเล่นงานยุโรปอีกในอนาคต โดย วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ กล่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขอให้เดินหน้าสอบประเด็นภาษีรถที่เกี่ยวกับอียูต่อไป แม้ว่าจะมีข้อตกลงยกเว้นภาษีให้ก็ตาม
ขณะที่หลายฝ่ายยังมองตรงกันว่า ดีลระหว่างสองฝ่ายยังเป็นความสำเร็จแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น และยังไม่ครอบคลุมปัญหาอีกหลายอย่าง อาทิ ภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่สหรัฐเรียกเก็บกับอียูจนนำไปสู่มาตรการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ตามมา รวมไปถึงความเห็นหลายเรื่องที่ยังไม่ลงรอยกันจนยากที่ความร้าวฉานระหว่างสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติกจะจบลงได้ง่ายๆ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์
แม้แต่ "ญี่ปุ่น" เองที่ไม่เคยใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐกลับเหมือนอย่างจีนและยุโรป ก็ใช่ว่าจะเจองานง่าย โดย โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กำลังจะมีการหารือด้านการค้ากับผู้แทนญี่ปุ่นในเร็วๆ นี้ โดยฝ่ายสหรัฐจะกดดันให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดสินค้าเกษตรซื้อของจากสหรัฐมากขึ้น เช่น เนื้อวัว และจะพูดคุยเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทวิภาคีกันด้วย แม้ว่าญี่ปุ่นจะปฏิเสธเรื่องหลังนี้ไปแล้วก็ตาม โดยให้เหตุผลว่ากำลังมุ่งไปที่ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือ ทีพีพี-11 มากกว่า
แล้วที่ประชุม 5 ฝ่ายที่เจนีวาครั้งนี้ จะแก้ปัญหาถาวรออกมาอย่างไรจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่าที่ประชุมของ 5 ชาติมหาอำนาจยานยนต์จะออกมาตรการหรือแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร แต่แหล่งข่าวได้เปิดเผยเบื้องต้นกับไฟแนนเชียลไทมส์และ บลูมเบิร์กว่า สูตรหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การออกข้อตกลงการค้าหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) ซึ่งเป็นสูตรหนึ่งภายใต้ WTO เปิดทางให้ประเทศใหญ่มาเจรจาต่อรองกันได้แบบไม่ต้องรอประเทศเล็ก หากข้อตกลงนั้นได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายหมด
ในข้อตกลงการค้าหลายฝ่ายเช่นนี้ ประเทศภาคีจะต้องลดภาษีสินค้ากลุ่มหนึ่งลงมาอยู่ในระดับเท่ากันหมด ทำให้ลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการเคาะออกมาหรือไม่ อย่างไร เพราะจากท่าทีของบางชาติสมาชิกยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
อย่างไรก็ตาม จนกว่าจะถึงภายในสิ้นเดือน ส.ค. ที่เป็นเส้นตายของการเปิดเผยผลสอบรถนำเข้าสหรัฐภายใต้มาตรา 232 เซฟการ์ด ดูเหมือนยังมีเวลาให้ประเทศส่งออกยานยนต์เหล่านี้ได้ทบทวนกันอีกยกว่าจะรวมตัวกันแก้ปัญหาในกรอบพหุภาคีได้หรือไม่ หรือจะกลับไปสู่สูตรทวิภาคีที่เข้าทางสหรัฐแบบปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกครั้ง ที่มีแต่ประเทศใหญ่ด้วยกันเท่านั้นที่พอจะต้านทานแรงกดดันของทรัมป์ได้
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: posttoday
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman