เมื่อวานติดตามข่าวเรื่อง #ปฏิญญามหาสารคาม ที่ครูมารวมตัวกันเพื่อขอพักและยุติการชำระหนี้ พึ่งได้อ่านในมุมของครูว่าที่จะขอพักหรือยุตินั้น เพราะรู้สึกว่าดอกแพง ผ่อนไปหลายแสนแล้วทำไมเงินต้นพึ่งลดแค่แสนกว่า ๆ
และพอได้พูดคุยกับครูบางคนแล้ว ถึงรู้ว่าเขารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจริง ๆ เลยต้องออกมาเรียกร้อง
เลยพึ่งถึงบางอ้อว่า ครูบางส่วนเข้าใจผิดเรื่องการเงินมากทีเดียว
เช่น เข้าใจว่า กู้ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 5% หมายความว่า จะต้องจ่ายคืนจริง ๆ แค่ 1 ล้าน บวกกับดอกเบี้ยอีก 5 หมื่น
ถ้าผ่อนเดือนละ 7 พันบาท 150 งวด (12 ปี 6 เดือน) ก็ใช้หนี้หมดแล้ว
ถ้าคิดดอกเบี้ยแบบนี้จริง สถาบันการเงินทั้งหลายคงต้องปิดกิจการกันเลยทีเดียว
แล้วที่ถูกต้อง คืออะไร?
คำตอบ คือ ดอกเบี้ยต้องคิดไปตลอดสัญญาจนกว่าเราจะจ่ายเงินต้นหมดครับ
ซึ่งการผ่อน 7 พันบาทต่อเดือนในช่วงแรกนั้น อาจจะเป็นการผ่อนเงินต้นแค่ 2-3 พันเท่านั้น ที่เหลือเป็นดอกเบี้ย
ถ้าตามตัวอย่างข้างบน หากกู้ 1 ล้าน คิดดอกเบี้ย 5% แล้วผ่อนเดือนละ 7 พัน
ผมลองคำนวณแล้วจะต้องผ่อน 308 งวด (25 ปี 8 เดือน) ถึงจะผ่อนหมดนะครับ
โดยกว่าเราจะผ่อนหมด เราจะต้องชำระเงินทั้งสิ้น 2,156,000 บาท
ดังนั้น เงินต้นแค่ล้าน แต่ดอกล้านกว่า ถูกต้องแล้วครับ
ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะ ดอกเบี้ยมันคิดเป็นรายวันไปตลอดจนกว่าจะจ่ายหมดไงครับ ไม่ได้คิดดอกเบี้ย 5% แค่ครั้งเดียวแล้วจบแบบที่เข้าใจกัน
แล้วถ้าเราจะผ่อนให้หมดเร็ว ๆ ก็ทำได้ 2 วิธี คือ
1) รีไฟแนนซ์ไปที่ดอกเบี้ยต่ำกว่านี้
หรือ
2) เพิ่มอัตราการผ่อนต่อเดือน (หรือมีเงินก้อนก็โปะไปเรื่อย ๆ)
ลองมาดูวิธีแรกกันก่อน
หากเรารีไฟแนนซ์ไปที่ดอกเบี้ย 2%, 3% และ 4% แต่ผ่อน 7 พันบาทเท่าเดิม เราจะลดเวลาและดอกเบี้ยได้เท่าไหร่กันบ้าง
2% - จะเหลือผ่อน 194 งวด (16 ปี 2 เดือน) และจ่ายเงินต้นดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 1,358,000 บ. ดอกเบี้ยลดจากล้านกว่า เหลือแค่สามแสนกว่าบาทเองครับ
3% - ผ่อน 218 งวด (18 ปี 2 เดือน) จ่ายรวม 1,526,000 บ.
4% - ผ่อน 251 งวด (20 ปี 11 เดือน) จ่ายรวม 1,757,000 บ.
วิธีที่สอง หากสมมุติว่าเราผ่อนมากขึ้นเป็นจาก 7 พัน เป็น หนึ่งหมื่น, หมื่นห้า และสองหมื่น โดยที่ดอกเบี้ย 5% เท่าเดิม เราจะลดเวลาและดอกเบี้ยได้เท่าไหร่กันบ้าง
10,000 บ. - ผ่อน 151 งวด (12 ปี 7 เดือน) จ่ายรวม 1,510,000 บ.
15,000 บ. - ผ่อน 85 งวด (7 ปี 1 เดือน) จ่ายรวม 1,275,000 บ.
20,000 บ. - ผ่อน 59 งวด (4 ปี 11 เดือน) จ่ายรวม 1,180,000 บ.
สรุปแล้ว ที่คุณครูเข้าใจว่าโดนเอาเปรียบ กู้มาเงินต้นล้าน ทำไมจ่ายดอกเป็นล้าน ก็เพราะว่าดอกเบี้ยมันคิดเป็นรายวันจนกว่าจะจ่ายหมด เขาไม่ได้เอาเปรียบครูแต่อย่างใด
ถ้าครูอยากจะผ่อนให้หมดเร็ว ๆ ก็ทำได้ 2 วิธีแบบที่บอก
และผมคิดว่าในหลักสูตรการศึกษา ระดับ ม.ต้น - ม.ปลาย เราควรเริ่มสอนเรื่อง #การวางแผนการเงินส่วนบุคคล กันได้แล้ว เพราะเรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเป็นหนี้ของคนไทยได้มากเลยครับ
ดร.พีรภัทร ฝอยทอง, CFP
ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย
17 ก.ค. 61
#หนี้ครู
[หมายเหตุ: ตัวเลขที่คำนวณเป็นการประมาณการ โดยผมใช้เว็บคำนวณของ ธ.กรุงศรี คลิก ที่ลิงค์นี้นะครับ ถ้าคำนวณจริงต้องคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน หรือที่เว็บอื่นผลการคำนวณอาจไม่ตรงกัน แต่หลักการเหมือนกันครับ]
/โดย ดร.พีท พีรภัทร
Cr.DinoTech5.0
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman