3ผู้ว่าการธนาคารกลางชาติเศรษฐกิจโลก กังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งขณะนี้ เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และคาดว่ากระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้ทั้ง 3 คนเห็นตรงกันว่า
อาจต้องปรับนโยบายดอกเบี้ยและ การเงินให้สอดรับกับสถานการณ์
เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยอมรับว่า ปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อาจจะทำให้เฟดต้องนำมาเป็นตัวแปรในการพิจารณาเพื่อดำเนินนโยบายการเงินที่กำลังปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และเป็นปัจจัยหนุนให้มีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อประเทศที่ทำให้เกิดบรรยากาศของสงครามการค้าตามที่ประธานเฟดกล่าวถึง แต่ก็เป็นที่คาดหมายของตลาดที่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้กันอย่างรุนแรงมากขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนในขณะนี้
โดยเฟด มีแผนที่จะปรับขั้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รวมเป็น 4 ครั้งด้วยกันสำหรับปีนี้ และปรับขึ้น 3 ครั้งในปีหน้า ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปีนี้ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุน (บีโอเจ) ก็มีแผนปรับขึ้นดอกเบี้ยในอีก 2 ปีข้างหน้า ประธานเฟด ย้ำว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เป็นอยู่ในขณะนี้ลดความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งมีการใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ถึงแม้ว่าปัญหาของสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลให้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ นโยบายการเงินก็ตาม โดยที่ผ่านมา พาวเวล เคยกล่าวว่า ประเด็นการค้าเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก และขณะนี้เริ่มมีบริษัทเอกชนตัดสินใจ เลื่อนการลงทุนและการจ้างงานบ้างแล้ว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆถูกโหมกระพือขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มอบหมายให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) พิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 10% และอาจเป็นมูลค่าสูงถึง 450,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากในแต่ละปี สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนสูงกว่า 505,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 129,900 ล้านดอลลาร์
หลังจากทรัมป์สั่งการยูเอสทีอาร์ได้เพียงวันเดียว ทำเนียบขาวก็เผยแพร่รายงานพิเศษความยาว 35 หน้าที่บ่งชี้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของจีนไม่ได้เป็นภัยแค่สหรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของโลกด้วย เนื่องจากการดำเนินนโยบายเชิงรุกของจีนเป็นการรุกรานเชิงเศรษฐกิจ ที่เป็นภัยต่อเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐและของโลก อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินนโยบายและวิธีปฏิบัติที่ก้าวร้าว ออกนอกลู่นอกทางไปจากบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุนของโลก ประเด็นสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐและจีนที่เปิดฉากขึ้นแล้ว กำลัง เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่มีความไม่แน่นอนและส่งผลต่อความผันผวนของตลาด การเงินและเศรษฐกิจโลก หลังจากที่ เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินสหรัฐเมื่อปี 2551
บรรดานักวิเคราะห์จากดอยซ์แบงก์ มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า สหรัฐอาจจะตกเป็นเหยื่อนโยบายของตัวเองพร้อมทั้ง คาดการณ์ว่า สงครามการค้าจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐและบั่นทอนผลกำไรบริษัทอเมริกัน
"รายงานการวิเคราะห์ของเรา บ่งชี้ว่า หากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนดำเนินต่อไปและรุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี ทำให้จีดีพีสหรัฐหดตัวประมาณ 0.2-0.3% และปัญหาสงครามการค้าอาจจะบั่นทอนผลกำไรของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลงประมาณ 1.5%
นายฮารุฮิโกะ คุโรดะผู้ว่าการ บีโอเจ คาดการณ์ว่า ความขัดแย้งทางการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีนจะส่งผลกระทบทางอ้อมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก เนื่องจากทำหน้าที่รองรับอุตสาหกรรมจีนอีกทอดหนึ่ง โดยผู้ว่าการบีโอเจ คาดหวังว่า การค้าระหว่างทั้งสองประเทศนี้จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ทั้งนี้ ประเด็นสงครามการค้า เป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง สำหรับธนาคารกลางของประเทศ ต่างๆ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ เงินเฟ้อและอุปสงค์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งท้ายที่สุดธนาคารกลางต้องออกมาใช้นโยบายทางการเงินเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ให้ความเห็นว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับ ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและผู้บริโภค พร้อมกับเตือนว่า ความขัดแย้งทางการค้าและนโยบายกีดกันทางการค้า ไม่เคยให้ผลลัพธ์ที่ดี
ที่ผ่านมาอีซีบีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบีที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.25% พร้อมยืนยันว่า จะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยถึงช่วงฤดูร้อนของปีหน้า และจะยุติมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ(คิวอี) ประมาณปลายเดือน ธ.ค.ปีนี้ ปิดฉากการซื้อคืนพันธบัตรตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
อัตราเงินเฟ้อกลุ่มยูโรโซนเดือน พ.ค.ขยายตัวแตะ 1.9% ทำให้อีซีบีปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2561-2562 เป็น 1.7% จากเดิมอยู่ที่ 1.4% นอกจากนี้ อีซีบี ประกาศลดวงเงินการซื้อคืนพันธบัตรรายเดือนลงครึ่งหนึ่งไปอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านยูโร จาก 3 หมื่นล้านยูโรนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีนี้จนถึงสิ้นปีด้วย
Source: กรุงเทพธุรกิจ
เพิ่มเติม
- Powell, Draghi, Kuroda, Lowe Speak at ECB Forum:
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman